Skip to main content

 

ความสุขที่ไม่มีตัวชี้วัด... สุขจากกาวันกีตอ

เลขา เกลี้ยงเกลา

 

 

“กาวันกีตอ” หนุนเสริมสันติภาพในพื้นที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี ผ่านการสื่อสารอย่างสันติและเข้าใจภายในครอบครัว ทีมงานก้าวย่างอย่างมีพัฒนาการและทักษะ พร้อมถ่ายทอดสู่พื้นที่ หนุนครอบครัวต้นแบบเป็นแกนนำเพื่อต่อยอดความดีงาม
จากกลุ่มเป้าหมายเพียง 10 ครอบครัวในการทำงานของกลุ่มกาวันกีตอในพื้นที่ ต.กระเสาะ อ.มายอ จ.ปัตตานี ที่มุ่งสร้างสันติภาพจากเยาวชนในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ ขยายรายละเอียดและรูปแบบของงานเป็นสันติภาพที่เริ่มจากภายในครอบครัวสู่ “การเรียนรู้วิธีการสื่อสารอย่างสันติในครอบครัว” ภายใต้ “โครงการครอบครัวสื่อศานต์สุข” โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้(ช.ช.ต.)สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) 
ปลายปีที่ผ่านมา กลุ่มกาวันกีตอลงพื้นที่จัดประชุมในแต่ละตำบลของอำเภอมายอเพื่อสอบถามความต้องการ ความสมัครใจและความร่วมมือของแต่ละชุมชน ซึ่งพบว่าได้รับความสนใจจากตำบลอื่นๆ ในอำเภอมายอมากขึ้น จึงขยับขยายไปยังตำบลอื่นด้วยในการดำเนินงาน
นางสาวนท ศิริกาญจน์ ผู้ประสานงานโครงการกล่าวว่า โครงการครอบครัวสื่อศานต์สุขมีเป้าหมายหลักเป็นครอบครัวของเยาวชนที่มีอายุ 13-24 ปี โดยให้ชุมชนร่วมคัดเลือกครอบครัวเป้าหมาย รวมทั้งให้ครอบครัวสมัครใจเข้าร่วมโครงการ มุ่งเน้นส่งเสริมการสื่อสารอย่างสันติภายในครอบครัวด้วยความเข้าใจกันและกัน ทุกคนฟังสมาชิกในครอบครัวและตอบสนองต่อความต้องการของกันและกันได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าในการดำเนินงานอยู่ในช่วงการสื่อสารเรื่องต่างๆ แก่กลุ่มเป้าหมาย
“ช่วงนี้อยู่ในช่วงการทำศาสนบำบัด เป็นการให้ผู้ร่วมโครงการมาเจอกันที่บ้านของสมาชิก การจัดครั้งแรกจำนวน 10 ครอบครัวทำที่ ต.กระเสาะ โดยเป็นกลุ่มแม่กลุ่มลูก ใน ต.กระเสาะและ ต.เกาะจัน ของอ.มายอ มาพูดคุย ทำความรู้จักกัน สร้างความคุ้นเคยระหว่างกันทั้งทีมงานและสมาชิกด้วยกัน ตอนนั้นเป็นช่วงปอซอ(เดือนรอมฏอน) คิดให้เป็นกิจกรรมที่เป็นธรรมชาติ ไม่ใช่มานั่งฟังบรรยายเพราะชาวบ้านรู้สึกว่าไม่ได้อะไร เป็นการมาทำกับข้าวเปิดปอซอ ซึ่งทุกบ้านต้องเตรียมทำกับข้าวกันเป็นปกติอยู่แล้ว หากเป็นมื้อพิเศษที่มาทำด้วยกัน เป็นการทำอาหารอย่างมีสติ ส่งต่อความรักให้กับคนในครอบครัวที่จะกลับไปกินด้วยกัน 
เมื่อถามสมาชิกว่ารู้สึกยังไงก่อนเริ่มกระบวนการจนทำกระบวนการเสร็จ เขาบอกว่ารู้สึกโล่งใจ ได้สร้างความสัมพันธ์ คุยกันได้ลึกขึ้น รู้ว่าที่ผ่านมาแล้วช่วงไหนที่มีความสุข ทำอย่างไรให้เกิดความรู้สึกนี้ได้บ่อย สรุปได้คือ ความสุขของแม่ๆ คือการได้ทำกับข้าว ดูแลลูก สามีช่วยทำงาน ส่วนความสุขของลูกๆ คือ เวลาที่ได้ทานข้าวพร้อมหน้ากัน ได้พูดคุยกัน และเวลาที่พ่อแม่พาไปเที่ยวคือการสร้างสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นวิถีชีวิตปกติที่อาจไม่ได้มีปกติของผู้คนสมัยนี้ ด้วยการทำมาหากินและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป”
ในกิจกรรมครั้งที่สอง กลุ่มกาวันกีตอไปจัดกันที่ ต.ปะโด มีจำนวน 7-8 ครอบครัว และจาก ต.ลุโบะยิไรอีกหนึ่งครอบครัว นทบอกว่าวันนั้นมีบางครอบครัวมีลูกชายมาด้วย วิธีดำเนินการคือใช้กระบวนการทำกับข้าวเช่นกัน จากปกติที่ไปสั่งข้าวกล่องมาทานกันก็มาทำทานกันเอง และได้เอากลับบ้านด้วย 
“เริ่มต้นโดยใช้กระบวนการพูดคุยก่อน ฝึกทักษะการฟังเริ่มเป็นขั้นตอนมากขึ้น เริ่มไหลลื่นขึ้น เชื่อมโยงเรื่องศาสนาว่าไม่ว่าช่วงเวลาไหนก็สามารถทบทวนตัวเองได้ตลอดเวลา ครั้งนี้สมาชิกสะท้อนว่า ถ้ารู้ว่าใช้กระบวนการอย่างนี้จะมีคนมาร่วมมากกว่านี้ เพราะเขาคิดว่ามาฟังบรรยายอย่างเดียว หากเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการ เนื้อหายังคงเช่นเดิม พอมาปรับตามหลักสูตรที่ได้รับการเสนอแนะ เป็นการพบเจอพูดคุยแบบฮาลาเกาะ(การจัดกลุ่มศึกษาขึ้นเพื่อการศึกษาอิสลามร่วมกัน) กันก่อน คุยตามวิถีธรรมชาติของชาวบ้าน เชื่อมถึงกัน มาล้อมวงคุยกัน สิ่งสำคัญคือการทบทวนตัวเองว่าได้ทำอะไร อะไรที่ดีที่ควรเก็บไว้ คุยเรื่องการทบทวนความสุขที่มี ความสุขที่เจอ แม่ให้ลูก ลูกให้แม่ ไม่พูดถึงสถานการณ์ที่พบเจอของแต่ละคนเพราะหนักเกินไป มีผู้นำชุมชนมาเยี่ยมตอนทำกิจกรรม ทำให้ได้รู้จักสมาชิกและรับรู้ปัญหา รวมทั้งสมาชิกกล้าพูดคุยมากขึ้น ในการทำกิจกรรมมีการแบ่งหน้าที่กัน บางคนหาฟืน ช่วยกันก่อไฟ ทอดไข่เจียว หุงข้าว ทุกคนต่างมีหน้าที่ และทำด้วยความสุข” 
“ก่อนเข้ากระบวนการถามว่ารู้สึกอย่างไร เมื่อจบกระบวนการแล้วถามอีกครั้งว่ารู้สึกอย่างไร เขาบอกว่ารู้สึกโล่ง เอาสิ่งที่กังวลออกก่อน ให้กระบวนการได้เกิดผล ณ เวลาที่เขาอยู่กับเรา เป็นการพักวาง เมื่อเจอสถานการณ์สามารถนำออกไปใช้ได้ โดยใช้ทักษะการฟัง เมื่อถามว่าอยากได้คนแบบไหนที่มาฟัง หรือในบ้านมีคนแบบนี้มั้ย ล้วนเป็นสิ่งที่คนในครอบครัวก็ต้องการ คนที่ได้ระบายแล้วมีคนฟังอย่างตั้งใจคือสุดยอด 
ทักษะการฟังคือทักษะที่สำคัญมาก ต้องฝึก ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกคนคือผู้เรียนรู้ ในการทำกิจกรรมครั้งหน้าได้ให้โจทย์กับทีมงานไปว่า ในอัลกุรอ่านมีซูเราะฮฺ(บท)ไหนบ้างที่กล่าวถึงเรื่องของครอบครัว ทำข้อไหนได้ ทำไม่ได้ เพื่อความชัดเจนมากขึ้น”
นทบอกว่า กิจกรรมครั้งต่อไปจะไปจัดที่ ต.ลุโบะยิไร เพราะมี 10 เคสเช่นกัน คาดว่าจะจัดภายในเดือนสิงหาคมนี้ แต่ต้องรอดูการประสานงานและความพร้อมของชาวบ้าน เอาความพร้อมของชาวบ้านเป็นหลัก รวมทั้งความคืบหน้าในการอบรมการสื่อสารอย่างสันติ
“ขณะนี้กำลังให้ทีมงานผ่านการอบรมการสื่อสารอย่างสันติของม.มหิดล แล้วกลับมาถ่ายทอดให้แก่สมาชิก โดยจะถามความสมัครใจจำนวน 10 รายเพื่อฝึกทักษะด้านนี้เป็นพิเศษ ให้ได้ลึก เพื่อเป็นแกนในการขยายผล ส่วนสมาชิกที่เหลือใช้กระบวนการฮาลาเกาะ หรือสุนทรียสนทนา” 
นทบอกว่า ก่อนหน้านี้เป็นช่วงเตรียมทีมทำงาน เตรียมกระบวนการ เก็บข้อมูล ขณะนี้เป็นการเริ่มต้นดำเนินงาน โดยในช่วงแรกเธอประสานเองทั้งหมด จนทุกวันนี้ทีมงานสามารถทำงานได้ทั้งหมด นับเป็นพัฒนาการที่ดีมาก 
“ทีมงานเรามีทั้ง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ผู้นำชุมชน เมื่อเขาแข็งแรงเช่นนี้แล้วจึงสามารถทำงานและประสานได้เองอย่างดี ถ้าสมาชิกมีอะไรก็สามารถส่งต่อ เหมือนเป็นเพื่อนกัน กาวันกีตอเป็นตัวกลางประสานให้ เราไม่เลือกที่จะแก้ปัญหาให้ ต้องให้เขาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ด้วยมีศักยภาพที่เพียงพอ เราไม่มีเงินให้ แต่มีกระบวนการที่ชวนกันคิด และเรากลับได้เห็นวิถี การแก้ปัญหา สิ่งที่เขาเผชิญ กลับมาเสริมความเข้มแข็งให้เราเป็นอย่างดี เป็นความยั่งยืนและเป็นความสุขไม่มีตัวชี้วัด หากสามารถรับรู้ได้ โดยมองจากความรับผิดชอบที่เขาสามารถดูแลตัวเองได้ แก้ปัญหาเองได้ สามารถรู้จุดประสาน รู้กระบวนการ เดินได้ด้วยตัวเอง” 
“หากไม่มีโครงการช.ช.ต.ก็ไม่มีการอำนวยความสะดวกมากขึ้นเช่นนี้ เขาพร้อมมาเรียนรู้ด้วยกัน ยินดีให้ความร่วมมือ ไว้วางใจกันมากขึ้น สิ่งที่ได้กลับเช่น กับข้าวหนึ่งมื้อมีความหมาย อาหารที่ช่วยกันทำด้วยหัวใจ ให้คนที่บ้านรับรู้ว่าทำด้วยใจ เป็นเหตุผลที่อธิบายได้แม้ไม่ได้มีตัวชี้วัดเป็นรูปธรรม” นทกล่าวทิ้งท้าย
พื้นที่ของการแลกเปลี่ยน พื้นที่แห่งความไว้วางใจก่อเกิดขึ้น และพัฒนาพื้นที่แห่งสันติภายในใจ คือสันติภาพที่สร้างขึ้นมาด้วยหัวใจของทุกคน คือ ... ความสุขที่ไม่ต้องมีตัวชี้วัด