ถอดบทเรียนประชามติชายแดนใต้ BRN + ประเด็นศาสนา หนทางสู่เอกราช ปาตานี
ขอบคุณภาพ นสพ.แนวหน้า
ผ่านไปแล้วสำหรับการลงเสียงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญ 59 ปรากฏว่าคนไทยส่วนใหญ่ออกเสียงเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 15,562,027 เสียง และไม่เห็นชอบ 9,784,680 เสียง คิดเป็นร้อยละ 61.40 ต่อ 38.60 เมื่อเปรียบเทียบผลการออกเสียงประชามติในปี 59 และปี 50 ทั้งตัวเลขในแง่ของสถิติผู้ออกมาใช้สิทธิ คะแนนเสียงเห็นชอบ และไม่เห็นชอบ ปรากฏว่าร่างรัฐธรรมนูญ 59 มีสถิติที่ดีกว่าทั้งสามมิติ
ท่ามกลางบรรยากาศที่คนไทยส่วนใหญ่ชื่นชมยินดีกับผลประชามติที่นักการเมืองผู้โกงกินประเทศชาติจะขยับตัวยากมากขึ้นภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผู้เขียนขออนุญาตกระชากความรู้สึกปิติยินดีของทุกท่านเข้ามายังพื้นที่ความรุนแรงชายแดนใต้/ปาตานี เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกท่านต่อกรณีการโหวตสวนกระแสชาวใต้ กลายเป็นเพียงพื้นที่เดียวในภาคใต้ที่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ
จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี เป็นพื้นที่ๆนักวิเคราะห์การเมืองมักประสบปัญหาอยู่เสมอ เนื่องจากการเลือกตั้งหลายๆครั้งที่ผ่านมา จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี เป็นสมรภูมิที่ยากจะคาดเดาว่าพรรคใดจะได้รับความนิยมจากพื้นที่ตรงนี้ เช่นเดียวกับการออกเสียงประชามติในครั้งนี้เมื่อผลปรากฏว่า ชายแดนใต้/ปาตานี โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญสวนกระแสคนไทย และคนใต้ส่วนใหญ่
ประเด็นที่ผู้เขียนต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับทุกท่านคือ เหตุใด ปัจจัยใด เป็นแรงขับเคลื่อนให้ชายแดนใต้/ปาตานี โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
ผู้เขียนได้รับข้อมูลจากการลงพื้นที่ทั้งในจังหวัดยะลา และปัตตานี พอยืนยันได้ว่าเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือถึงเหตุผลสำคัญที่ผลักดันให้ประชาชนไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ ประเด็นผลกระทบเกี่ยวกับศาสนา ในมาตรา 31 และมาตรา 67 ซึ่งมีการอธิบายในพื้นที่ว่า 2 มาตราดังกล่าวนี้เป็นการเขียนแบบกว้างๆผู้มีอำนาจอาจตีความจนก่อความเสียหายกับศาสนาอิสลามได้ เช่น ภายใต้บทบัญญัติ 2 มาตรานี้อาจตีความให้มัสยิดในภูเก็ตไม่สามารถอาซาน (กล่าวคำเชิญชวนสู่การละหมาด) ผ่านเครื่องขยายเสียง หรืออาจตีความให้มุสลิมส่วนน้อยไม่สามารถสร้างมัสยิดหากไม่ได้รับความเห็นชอบจากคนส่วนใหญ่ หรือประเด็นอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล (Halal) ทีอาจมีผลกระทบเช่นที่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ ประเด็นเหล่านี้อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ แต่สำหรับคนชายแดนใต้/ปาตานี อะไรที่ถูกจุด หรือผูกโยงเข้ากับศาสนา จะมีปฏิกิริยาอย่างมีนัยสำคัญเสมอจากคนในพื้นที่
นอกจากประเด็นทางศาสนา บทบาทของ BRN ก็อาจถือได้ว่ามีนัยสำคัญต่อการออกเสียงประชามติในครั้งนี้ เนื่องจากผู้เขียนได้รับข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับท่าทีของ BRN ต่อการออกเสียงประชามติในครั้งนี้ว่า BRN ได้เชิญชวนไปยังสมาชิกให้ งดออกเสียง บัตรเสีย หรือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลหลักและเหตุผลรองดังนี้
(1) เหตุผลหลักมอบให้คนกลุ่มแรกคือ กลุ่มสมาชิกที่ยึดโยงกับองค์กรชัดเจน ให้งดออกเสียง (No vote) หรือถ้าไม่อาจหลบเลี่ยงสายตาของประชาชนในพื้นที่ก็ให้ไปใช้สิทธิและทำบัตรเสีย โดยยกเหตุผลคือ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร คนปาตานียังถูกกดขี่เช่นเดิม (อาจหมายถึงคุณภาพชีวิตเหมือนเดิม)
(2) เหตุผลรองสำหรับประชาชนทั่วไป ให้กาทางขวา (ไม่รับร่างฯ) โดยยกเหตุผลเกี่ยวกับข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวโยงกับศาสนา
การโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ 59 ชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งนี้จึงเกิดจากการผสานกันของหลายปัจจัย และหลายคณะทำงานทั้งกลุ่มผู้นำศาสนาที่เชื่ออย่างบริสุทธิใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจก่อความเสียหายให้มุสลิม กลุ่มนักสิ่งแวดล้อม นักสิทธิชุมชนที่คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แต่ต้น กลุ่มผู้นิยมพรรคเพื่อไทย กลุ่มกีฬาสี และการกระจายข่าวอย่างมีประสิทธิภาพของกลุ่ม BRN
ผลการออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 จึงสวนทางอย่างชัดเจนกับผลประชามติเมื่อครั้ง วันที่ 19 สิงหาคม 2550 ซึ่งพอสรุปตัวเลขได้ดังนี้
ผลประชามติ 19 สิงหาคม 2550 (ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ)
เห็นชอบ (คะแนน) ไม่เห็นชอบ (คะแนน)
ยะลา 120,956 42,936
นราธิวาส 188,673 56,463
ปัตตานี 159,695 49,277
ผลประชามติ 7 สิงหาคม 2559 (ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ)
เห็นชอบ (คะแนน) ไม่เห็นชอบ (คะแนน)
ยะลา 77,090 118,371
นราธิวาส 109,348 194,020
ปัตตานี 86,219 160,541
สถิติที่น่าสนใจไม่เพียงแต่การโหวตสวนทางกับประชามติปี 50 เพียงอย่างเดียว ผู้เขียนพยายามสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับบัตรเสียเมื่อครั้งประชามติปี 50 เปรียบเที่ยบปี 59 ได้ตัวเลขดังนี้
บัตรเสีย ประชามติ 19 สิงหาคม 2550
ยะลา 9314 คะแนน
นราธิวาส 11,195 คะแนน
ปัตตานี 13,465 คะแนน
บัตรเสีย ประชามติ 7 สิงหาคม 2559
ยะลา 14,924 คะแนน
นราธิวาส 24,324 คะแนน
ปัตตานี 21,576 คะแนน
ถือเป็นตัวเลขที่น่าสนใจเพราะจำนวนบัตรเสียในพื้นที่ยะลาเพิ่มขึ้น 5,610 เสียง พื้นที่จังหวัดนราธิวาสเพิ่มขึ้น 13,129 เสียง และที่ปัตตานีเพิ่มขึ้น 8,111 เสียง มองในแง่ดีอาจเพราะการออกเสียงประชามติครั้งนี้ต้องทำเครื่องหมาย 2 ครั้งในบัตรเดียวจึงอาจสร้างความสับสนเป็นที่มาของบัตรเสียที่เพิ่มขึ้น แต่หากเหตุผลที่แท้จริงเกิดจากการรณรงค์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 26,850 เสียงที่เพิ่มขึ้นมาย่อมมีนัยสำคัญต่อประเด็นชายแดนใต้/ปาตานีในอนาคต
สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอยืนยันต่อผู้อ่านทุกท่านเกี่ยวกับผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 59 ว่ามิติทางศาสนาส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อประชาชนชายแดนใต้/ปาตานี ด้วยเหตุนี้ความพยายามใดๆ เฉกเช่นที่พระมหาอภิชาต ปุฌณจนโท กำลังพยายามให้เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะสงครามระหว่างศาสนาเมื่อจุดติด หรือสถาปนาขึ้นมาแล้วย่อมสร้างความสูญเสียมหาศาล และเป็นหนทางเดียวที่ BRN กำลังเฝ้ารอแรงส่งจากมุสลิมในประเทศ และต่างประเทศเพื่อเอกราชปาตานี
Sources:
http://nwnt.prd.go.th/centerweb/News/NewsDetail?NT01_NewsID=WNPOL5908080...
http://nwnt.prd.go.th/centerweb/news/NewsDetail?NT01_NewsID=WNPOL5908080010004
http://news.thaipbs.or.th/content/254702
http://www.thprc.org/files/summary_of_referendum_thaicon50.pdf