สร้างความเข้าใจ
ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว มันคือความกังวลใจของคนพุทธ ที่เราควรรับฟังด้วยเช่นกันครับ ... (ตัดกรณีความขัดแย้ง หรือยุยงให้ขัดแย้งออกนะครับ) สิ่งที่ผมพูดมาโดยตลอดคือ การแก้ปัญหาของรัฐ ที่ไม่ค่อยจะตรงประเด็นนัก มิหนำซ้ำ กลับก่อให้เกิดความขัดแย้ง
การไปฮัจย์ รัฐส่งเสริมเฉพาะคนใน ๓ จชต.และ ๔ อำเภอของสงขลา และขณะเดียวกัน รัฐ ก็ส่งเสริมให้คนพุทธเฉพาะใน ๓ จชต.และ ๔ อำเภอของสงขลา ไปสังเวชนียสถาน ณ ประเทศอินเดีย ด้วยเช่นกัน
พุทธศาสนา ถึงแม้ไม่มีบัญญัติไว้ว่าจะต้องไปอินเดียว หรือสังเวชนียสถาน แต่ คนที่นับถือศาสนาพุทธ ก็ถือว่า ถ้าได้ไปก็ถือว่ามีบุญ
สิ่งที่ผมคิด คือ บรรดาท่านทั้งหลายที่มาถือป้ายพยายามเรียกร้องให้มี พรบ.ของพุทธด้วย เท่าที่ผ่านมา มีการโอนกิจการฮัจย์ให้กับกรมการปกครอง ซึ่งก็เท่ากับว่า การไปฮัจย์สะดวกสามารถต่อรองได้ ถามว่าสะดวกอย่างไร สะดวกตรงที่เจ้าหน้าที่ของกรมการปกครองที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ ๓ จชต. และ ๔ อำเภอของสงขลา ก็ต้องยอมรับกันว่า ส่วนใหญ่เป็นพี่น้องมุสลิม ซึ่งก็คงจะมีส่วนในการอำนวยความสะดวกเพื่อไปแสวงบุญก็เป็นได้
แต่ในขณะเดียวกันการไปสังเวชนียสถาน กลับไม่มีเจ้าภาพในการทำเรื่องนี้ที่ชัดเจน หรืออาจจะยังคงอยู่ในกรมการศาสนา ซึ่งมีความจำกัดในการปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณที่ส่งลงมาในพื้นที่ ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง สิ่งที่ผมเอง คิดอยู่ในขณะนี้ก็คือ จะทำอย่างไรให้มีเจ้าภาพหลักในการเดินทางไปสังเวชนียสถานของพี่น้องคนไทยพุทธ อาจจะเป็น ศอ.บต หรือ กอ.รมน. โดยตรงเลยก็คงจะดี (ประเด็นนี้ขอแสดงความคิดเห็นเฉพาะในพื้นที่) ซึ่งอาจจะแก้ไขปัญหาทางความรู้สึกของพี่น้องคนไทยพุทธได้บ้าง มี พรบ.ไปสังเวชนียสถาน ก็เป็นทางออกที่ชัดเจนอีกทางหนึ่งนะครับ แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศไทย มิใช่มีแต่เพียงศาสนาพุทธ และศาสนาอิสลามเท่านั้นนะครับ
ผมมีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นักการศึกษาชาวมุสลิมในพื้นที่ โดยได้รับการชี้แจงว่า ต้องแยกระหว่างการอำนวยความสะดวก กับการให้ไปฟรี มันคนละประเด็นนะครับ
นโยบายให้ไปฟรีเฉพาะ กรณีเยียวยา ซึ่งรัฐบาลก็ให้ทุกกลุ่ม นอกเหนือจากนั้นทุกคนก็จ่ายด้วยทรัพย์ของตนเองครับ
อันที่จริงก่อนหน้าที่จะมีนโยบายหรือกฎหมายนี้ มุสลิมก็เดินทางไปทุกปีอยู่แล้ว แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีจำนวนคนจำนวนเป็นหมื่นคน และเกี่ยวข้องกับ หลายอย่าง เช่นการควบคุมการระบาดของโรค การเชื่อมข้อมูลด้านความมั่นคง การทูต เป็นต้น ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องเข้ามาจัดการอย่างเป็นระบบ โดยมีกฏหมายเป็นเครื่องมือในการ
นักการศึกษาชาวมุสลิม บอกต่อว่า อันที่จริงเจ้าภาพตามกฏหมาย คือ มหาดไทย แต่เจ้าภาพตามนัยของปฏิบัติจริงคือ จุฬาราชมนตรี แต่ไม่ใช่หน่วยงานราชการ จะไม่สามารถรับภารกิจตามกฎหมายอย่างเต็มรูปแบบ จึงผูกโยงกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง เมื่อก่อนมองว่า เป็นหน้าที่ของกรมการศาสนาแต่ปัจจุบันอาจมีการวิเคราะห์ว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงมหาดไทยก็เลยมีการปรับเปลี่ยนภารกิจของหน่วยงานราชการแค่นั้นครับ ในกรณีของสามจังหวัดหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบเช่นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมีหน้าที่เป็นเพียงทำธุระจัดจัดการเท่านั้นส่วนเรื่องการดูแลก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดใหญ่
กรณีของพี่น้องไทยพุทธในจังหวัดชายแดนภาคใต้เจ้าภาพหลักที่ผมทราบก็คือสำนักพุทธในแต่ละจังหวัดทำหน้าที่ในการคัดเลือกบุคคลและ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ทำหน้าที่ในการจัดหาบริษัททัวร์เพื่อจัดการเดินทางและดูแลระหว่างการ เดินทางไปอินเดีย
การสนับสนุนของหน่วยงานราชการในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ใช้เงื่อนไขเดียวกันสองกรณีหนึ่งเชิดชูผู้ที่ทำความดีงามในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือ ประชาชนสองเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบทางตรงเช่นหัวหน้าครอบครัวหรือสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ จึงจะได้รับการพิจารณาไม่ใช่ใครก็ได้ถูกต้องไหมครับ ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ก็เป็นเงื่อนไขใช้พิจารณาทั้งพุทธและมุสลิมครับ
สองปีที่แล้วได้มีการประเมินผลโครงการต่างๆของรัฐส่วนหนึ่งในเรื่องของการเยียวยาได้มีการสอบถามประชาชนผู้ได้รับผลกระทบก็มีทัศนะมุมมอง ที่เป็นบวกกับนโยบายนี้ไม่ว่าพุทธหรือมุสลิมมีข้อมูลตัวเลขชัดเจน ศอ.บต. จึงดำเนินนโยบายนี้ต่อ
ผมต้องขอบคุณครับสำหรับคำชี้แจง เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับคนในพื้นที่
#Takeshi