Skip to main content

Original Link Click Here

หลังจากที่มีการก่อเหตุวางระเบิดหลายจุดก็มีการวิเคราะห์กันถึงความน่าจะเป็นของสาเหตุและตัวผู้ก่อเหตุจากหลายฝ่าย เพื่อจะได้มีส่วนสนับสนุนให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย แต่มีสมมุติฐานที่มาจากการศึกษาและข้อมูล

บีบีซีไทยได้นำเสนอความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอมาแล้วสองราย คือ แอนโทนี เดวิส และปณิธาน วัฒนายากร ส่วนบทความข้างล่างนี้มาจาก รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักศึกษาปริญญาเอกของ Coral Bell School of Asia Pacific Affairs มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ก่อนหน้านี้เธอเคยทำงานในฐานะนักวิเคราะห์ของกลุ่มอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป ซึ่งจะนำมาแบ่งลงเป็น 2 ตอน

นี่เป็นตอนแรกของบทความ

"ระเบิดอาจเป็นคำเตือนถึงความจริงจังต่อกระบวนการสันติภาพในภาคใต้"
รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช

ถ้าหากว่าการก่อเหตุระเบิดหลายจุดในภาคใต้ตอนบนเป็นฝีมือของกลุ่มจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำถามสำคัญต่อมาก็คือเหตุการณ์นี้จะกระทบต่อนโยบายการแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐไทยอย่างไร

ขณะที่ผู้เขียนเห็นด้วยกับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ว่า เหตุระเบิดในภาคใต้ตอนบนซึ่งทำให้มีคนเสียชีวิต 4 คนและบาดเจ็บอีก 36 คนนี้น่าจะเชื่อมโยงกับกลุ่มภายในประเทศมากกว่าเครือข่ายก่อการร้ายข้ามชาติ เช่น กลุ่มไอซิส แต่ผู้เขียนมองว่าเหตุการณ์นี้น่าจะเชื่อมโยงกับความขัดแย้งในภาคใต้มากกว่าการเมืองระดับประเทศ ข้อสันนิษฐานนี้มีเหตุผลสนับสนุนสามประการ (แต่ขอย้ำว่ายังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น)

ประการแรก แม้ว่าการปฏิบัติการส่วนใหญ่ของผู้ก่อเหตุรุนแรง/ขบวนการเอกราชปาตานีในภาคใต้จะจำกัดขอบเขตอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดและสี่อำเภอของสงขลา แต่การคิดว่าพวกเขาไม่มีศักยภาพพอหรือไม่ต้องการที่จะขยายปฏิบัติการทางการทหารไปยังพื้นที่ถึงที่อื่นๆ ของประเทศเลยนั้น อาจจะเป็นความเข้าใจที่ผิด ที่ผ่านมามีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุที่เรียกตัวเองว่า ญูแว (ภาษามลายูปาตานีแปลว่า นักรบ) ได้ปฏิบัติการนอกพื้นที่ปกติมาแล้ว โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2556 พวกเขาเคยพยายามวางระเบิดที่ภูเก็ตแต่ระเบิดไม่ทำงาน ในวันเดียวกันก็ได้วางระเบิดรถมอเตอร์ไซค์และคาร์บอมบ์ที่อำเภอสะเดา จ.สงขลาได้สำเร็จ ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 27 คน เดือนเมษายนปีที่แล้ว เกิดเหตุคาร์บอมบ์ในที่จอดรถใต้ดินของห้างสรรพสินค้าใหญ่ในเกาะสมุย ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 10 คนและรถยนต์ได้รับความเสียหายหลายคัน

หลังเหตุการณ์ รัฐบาลทหารได้ออกมาประณามทันทีว่าการกระทำดังกล่าวเป็นฝีมือของ “กลุ่มอำนาจเก่า” และไม่ได้ให้ความสนใจกับการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ชี้ไปทิศทางตรงกันข้าม บ้างพยายามสร้างทฤษฎีว่ากลุ่มในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รับจ้างมาก่อเหตุ ต่อมากลับได้มีการดำเนินคดีอาญากับคนมลายูมุสลิมสองคนที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุระเบิดที่สมุย ในช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้ ตำรวจยังได้พบว่ารถที่ใช้ในการก่อเหตุคาร์บอมบ์ใน อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส และที่ด่านเกาะหม้อแดงใน จ.สงขลานั้นเป็นรถที่เคยร่วมในการก่อเหตุที่เกาะสมุย เมื่อติดตามข่าวระเบิดในครั้งนี้ ผู้เขียนก็รู้สึกว่าฝ่ายรัฐมีวิธีการตอบที่คล้ายกับกรณีเกาะสมุยมาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีกลาโหมออกมาปฏิเสธทันทีว่าเรื่องนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวโยงกับกลุ่มผู้ก่อเหตุภาคใต้ โดยที่ไม่ต้องรอผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

แม้ว่าจะเป็นที่เข้าใจกันดีว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นนั้นมีศักยภาพในทางการทหารที่เข้มแข็งที่สุด ซึ่งเป็นที่ยอมรับในหมู่ขบวนการด้วยกันเอง แต่ก็เคยมีเหตุที่กลุ่มอื่นๆ ได้ปฏิบัติการโจมตีนอกพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้มาแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้สัมภาษณ์แกนนำของกลุ่มพูโล เอ็มเคพี ซึ่งพวกเขายอมรับว่า กลุ่มของตนได้เป็นผู้ลงมือวางระเบิดที่รามคำแหงเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2556 ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บ 7 คน กลุ่มพูโล- เอ็มเคพีไม่ได้เข้าร่วมการพูดคุยสันติภาพที่ดำเนินการภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในปี 2556 และการก่อเหตุดังกล่าวก็มุ่งที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางการทหารของตน เพื่อเรียกร้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพูดคุยสันติภาพ แต่พูโล-เอ็มเคพีก็ยอมรับว่าการก่อเหตุในครั้งนั้นไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ทางกลุ่มไม่ต้องการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลอาญาได้สั่งจำคุกชาวมลายูมุสลิม 4 คนเป็นเวลา 33 ปี 4 เดือนในฐานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางระเบิดดังกล่าว

ประการที่สอง เป้าหมายของการก่อเหตุรุนแรงครั้งล่าสุดนี้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของบีอาร์เอ็น คือเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีธุรกิจที่พวกเขาคิดว่าเป็น “บาป” รวมถึงพื้นที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายความมั่นคง พื้นที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต หัวหิน เขาหลัก กระบี่ พื้นที่อย่างห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ซึ่งก็นับว่าเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะใน จ.ภูเก็ต เหตุระเบิดสามจุดที่เกิดขึ้นในบริเวณหาดป่าตองซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นที่รวมของแหล่งบันเทิงยามค่ำคืน ส่วนในหัวหิน ก็เกิดระเบิดสองครั้งที่บาร์เบียร์และร้านนวดสปาที่อยู่บนถนนสายบันเทิงยามกลางคืน

กลุ่มผู้ก่อเหตุในภาคใต้ถือว่า แหล่งบันเทิงเช่นนี้มักจะมีการบริการทางเพศ ไม่ว่าจะกระทำอย่างเปิดเผยหรือแอบแฝงก็ตาม ซึ่งเป็นแหล่งอบายมุขในสายตาพวกเขา ดังนั้นจึงเป็นเป้าหมายอันชอบธรรมที่จะโจมตี นอกจากนี้ ยังมีการวางระเบิดใกล้สถานที่ที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจของฝ่ายความมั่นคง เช่น ป้อมตำรวจจราจร ตู้ควบคุมการจราจ สถานีตำรวจและกองบังคับการตำรวจน้ำ การโจมตีด้วยระเบิดของกลุ่มผู้ก่อเหตุในภาคใต้มักจะไม่ได้สร้างความสูญเสียอย่างหนัก อีกอย่างที่เป็นรูปแบบของกลุ่มบีอาร์เอ็นคือ ไม่ประกาศรับผิดชอบหลังลงมือก่อเหตุ ที่น่าสังเกตคือ แม้ว่าจะมีชาวต่างชาติจำนวนหนึ่งได้รับบาดเจ็บจากระเบิดในครั้งนี้ แต่กลุ่มผู้ก่อเหตุดูจะไม่ได้เจาะจงเลือกพวกเขาเป็นเป้าหมาย ก่อนหน้านี้ก็มีการก่อเหตุใน อ.หาดใหญ่และอ.สุไหงโกลกซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว และก็เคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซีย

ประการที่สาม ชนิดของระเบิดที่ใช้คือระเบิดแสวงเครื่องซึ่งมีการใช้อย่างแพร่หลายในการก่อเหตุในพื้นที่ภาคใต้ตลอดช่วง 12 ปีที่ผ่านมา วัสดุที่ใช้ในการทำระเบิดครั้งนี้แตกต่างจากที่ใช้ในเหตุการณ์ที่พระพรหมเอราวัณเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งระเบิดดังกล่าวเป็น TNT หรือ C4 ซึ่งเป็นระเบิดทางการทหารซึ่งมีการควบคุมอย่างเข้มงวดในประเทศไทย เหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณนั้นทำให้คนตายไป 20 คน บาดเจ็บอีก 125 คน การก่อเหตุนั้นมีมูลเหตุจูงใจจากความไม่พอใจที่รัฐบาลไทยส่งตัวกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมอุยกูร์กลับไปให้กับรัฐบาลจีน บางคนตั้งข้อสงสัยว่ากลุ่มคนเสื้อแดงหรือกลุ่มที่ต่อต้านทหารกลุ่มอื่นอาจจะเป็นผู้กระทำ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีเหตุที่ผู้ที่นิยมกลุ่มเสื้อแดงที่ไม่พอใจทหารได้พยายามวางระเบิด แต่ความสามารถของพวกเขายังเป็นมือสมัครเล่นมากกว่า การตรวจพบว่ามือถือที่ใช้ในการจุดระเบิดนั้นซื้อมาจากประเทศมาเลเซียเป็นหลักฐานสำคัญที่อาจทำให้น่าเชื่อได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มีความเชื่อมโยงกับขบวนการในชายแดนภาคใต้

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:

ระเบิดอาจเป็นคำเตือนถึงความจริงจังต่อกระบวนการสันติภาพในภาคใต้ (ตอน 2)
https://www.facebook.com/BBCThai/posts/1808567799364252:0

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงชี้ ลักษณะการก่อเหตุระเบิด 7 จังหวัดใต้ เป็นฝีมือของกลุ่มบีอาร์เอ็น
https://www.facebook.com/BBCThai/photos/pb.1526071940947174.-2207520000.1471088122./1807853259435706/?type=3

ปณิธาน วัฒนายากร ชี้เหตุระเบิด 7 จังหวัดต้องดูแรงจูงใจ-กลุ่มที่สูญเสียจากพัฒนาการทางการเมือง
https://www.facebook.com/BBCThai/photos/a.1527194487501586.1073741828.1526071940947174/1808232342731131/?type=3&theater