Skip to main content

Original Link Click Here

 

 

ขบวนการปลดปล่อยปาตานีนั้นไม่ได้อยู่นอกการเมืองไทยสักทีเดียว แต่พวกเขายืนอยู่ที่ชายขอบ กลุ่มญูแวไม่พลาดโอกาสที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยกับประชามติและร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการลงประชามติเพียงไม่กี่วัน มีการพ่นสีสเปรย์ข้อความต่อต้านในพื้นที่หลายแห่งในสามจังหวัดภาคใต้ เช่น “รัฐธรรมนูญ X” “ประชามติ X” ผลการลงประชามติพบว่า ในยะลา ปัตตานี นราธิวาส มีจำนวนเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในสัดส่วนที่สูงกว่าอย่างชัดเจน ในขณะที่จังหวัดอื่นๆในภาคใต้ เสียงโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญรวมทั้งคำถามพ่วงค่อนข้างท่วมท้น การลงประชามติในสามจังหวัดภาคใต้แสดงให้เห็นถึงการต่อต้านทหารและรัฐไทยที่ยังเข้มข้น รวมไปถึงการปฏิเสธเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะจุดที่เน้นการปกป้องคุ้มครองพุทธศาสนานิกายเถรวาท และการยุติการอุดหนุนการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า การตัดสินใจของกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงนั้นได้รับอิทธิพลจากขบวนการมากน้อยเพียงไร

ถ้าญูแวเป็นคนก่อเหตุจริง ปฏิบัติการในครั้งนี้อาจจะเป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงทางยุทธวิธีอย่างสำคัญ การวางระเบิดหลายจุดในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อทั้งระดับชาติและสื่อต่างประเทศอย่างมาก ซึ่งหากเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้เกิดในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ก็คงจะไม่ได้รับความสนใจจากสื่อมากเท่านี้ นี่อาจจะเป็นแรงจูงใจหนึ่งในการเปลี่ยนยุทธวิธี และถ้าสมมุติฐานนี้ถูก การปฏิบัติการทางการทหารที่กระทำอย่างเป็นเครือข่ายในครั้งนี้จะนับเป็นการก่อเหตุที่ใหญ่ที่สุดนอกพื้นที่ปฏิบัติการปกติ ทั้งในแง่ของขอบเขตพื้นที่เป้าหมายและในแง่ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต พัฒนาการนี้จะเป็นความท้าทายในด้านความมั่นคงที่สำคัญ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลต่อรัฐไทย

การวางระเบิดเกิดขึ้นขณะที่การพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลทหารและมารา ปาตานีกำลังชะงักงัน มารา ปาตานีนั้นเป็นองค์กรร่มของขบวนการปลดปล่อยปาตานี ซึ่งมีทั้งกลุ่มบีไอพีพี จีเอ็มไอพี พูโลดีเอสพีพี พูโล เอ็มเคพี และสมาชิกบางคนของบีอาร์เอ็น สภาองค์กรนำดีพีพี (Dewan Pimpinan Parti-DPP) ของบีอาร์เอ็นไม่ได้มีมติเข้าร่วมกับมารา ปาตานีอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะมีสมาชิกระดับกลางของบีอาร์เอ็นเข้าไปมีส่วนร่วมก็ตาม สมาชิกระดับอาวุโสของบีอาร์เอ็นคนหนึ่งบอกกับผู้เขียนว่า ดีพีพีกำลังรอดูว่ารัฐบาลทหารจะเอาจริงแค่ไหนกับการพูดคุยสันติภาพ

การพูดคุยสะดุดลงหลังจากที่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปาร์ตี้ เอ (รัฐบาลไทย) ไม่รับรองร่างกติกาในการพูดคุยหรือทีโออาร์ที่ทีมงานด้านเทคนิคของไทยกับทีมงานของฝ่ายปาร์ตี้บี (มารา ปาตานี/ผู้เห็นต่างจากรัฐ) ร่วมกันยกร่างขึ้นมา ประเด็นที่เป็นอุปสรรคสำคัญสองประการที่ทำให้ไทยไม่รับรองทีโออาร์ ก็คือรัฐบาลไม่ต้องการใส่ชื่อมารา ปาตานีในทีโออาร์ และไม่ต้องการระบุถึงหลักประกัน “การคุ้มครองไม่ให้มีการดำเนินคดี” สำหรับปาร์ตี้บี เมื่อไม่นานมานี้ปาร์ตี้เอได้ส่งร่างทีโออาร์ใหม่ให้อีกฝ่ายพิจารณา เป็นร่างที่เขียนขึ้นใหม่ซึ่งไม่มีชื่อของมารา ปาตานี แต่ระบุไว้เพียงว่าปาร์ตี้บีคือผู้เห็นต่างจากรัฐ และไม่ได้มีการพูดถึงการคุ้มครองไม่ให้มีการดำเนินคดีแต่อย่างใด โดยทางกลุ่มมารา ปาตานียังไม่ได้ให้คำตอบต่อร่างใหม่นี้แต่อย่างใด

ขบวนการเอกราชปาตานีได้พูดโดยผ่านความรุนแรงมาตลอด 12 ปี ที่ผ่านมา การพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการนั้นเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2556 และมีความคืบหน้าไปน้อยมาก เป็นที่ชัดเจนว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันแม่และก่อนหน้านั้นหนึ่งวันเป็นความต้องการจะท้าทายในเชิงสัญลักษณ์ต่อรัฐไทยซึ่งถือว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสถาบันสูงสุดของชาติ การปราบปรามด้วยมาตรการรุนแรงและการสร้างความภักดีด้วยการให้แรงจูงใจทางเศรษฐกิจและสังคมล้วนไม่ประสบผลสำเร็จในการหยุดยั้งขบวนการต่อต้านที่ต้องการกำหนดชะตากรรมของตนเอง การปราบปรามที่รุนแรงหนักมีแต่จะทำให้ปัญหาหนักหน่วงมากยิ่งขึ้น เหตุการณ์นี้อาจจะเป็นเสียงเตือนให้รัฐบาลหันมาให้ความสนใจกับการพูดคุยสันติภาพอย่างจริงจังมากขึ้น

(รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช เป็นนักศึกษาปริญญาเอกของ Coral Bell School of Asia Pacific Affairs มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ก่อนหน้านี้เธอทำงานในฐานะนักวิเคราะห์ของกลุ่มอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป)

อ่านบทความตอน 1 ได้ที่:https://www.facebook.com/BBCThai/posts/1808561672698198:0