Skip to main content

Original Link Click Here

 

 

หลังจากที่มีการก่อเหตุวางระเบิดหลายจุดก็มีการวิเคราะห์กันถึงความน่าจะเป็นของสาเหตุและตัวผู้ก่อเหตุจากหลายฝ่าย เพื่อจะได้มีส่วนสนับสนุนให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย แต่มีสมมุติฐานที่มาจากการศึกษาและข้อมูล

บีบีซีไทยได้นำเสนอความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอมาแล้วสามราย คือ แอนโทนี เดวิส ปณิธาน วัฒนายากร และรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช ส่วนบทความข้างล่างนี้มาจาก ศาสตราจารย์ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"ระเบิดภาคใต้ไทย : ความตายและความแตกแยก"
สุรชาติ บำรุงสุข

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม 2559 คงต้องถือว่าเป็นวันที่หลายๆ คนรอคอย เพราะจะเป็นวันสุดท้ายของการทำงานก่อนที่วันหยุดยาวจะมาถึง... เป็นทั้งวันหยุดยาว และที่สำคัญก็ยังเป็นวันแม่อีกด้วย ดังนั้น ในหลายปีที่ผ่านมา วันหยุดนี้จึงเป็นวาระทั้งงานในระดับชาติ และเป็นวันที่หลายๆ คนได้ถือเป็นโอกาสของการพบปะกันในครอบครัว ทุกคนเตรียมตัวกลับบ้าน

ถ้าจะมีความน่ากังวลอยู่บ้าง ก็คงเป็นปัญหา “ภัยคุกคามจากอากาศ” เพราะทั้งเย็นวันอังคารและวันพุธที่ผ่านมา มีพายุฝนเข้ากรุงเทพฯ และมีฝนตกกระหน่ำในหลายพื้นที่ของประเทศ ฉะนั้น จึงไม่แปลกอะไรถ้าจะมีคนภาวนาขออย่าให้ฝนตกหนักในช่วงเย็น เพราะเป็นที่รู้กันว่าถ้ามีพายุฝนอย่างรุนแรงแล้ว การเดินทางในช่วงเย็นและค่ำวันนั้นจะกลายเป็น “อัมพาต” ไปโดยทันที... ฝนกลายเป็นภัยคุกคามใหญ่ของชีวิตคนกรุงเทพฯ ไปโดยปริยาย

ในขณะที่คนกรุงเทพฯ กำลังเตรียมตัวหยุดยาว สัญญาณของ “ภัยระเบิด” ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ก็เริ่มขึ้นด้วยการวางระเบิดแสวงเครื่องที่จังหวัดภูเก็ตในวันที่ 10 สิงหาคม แต่สามารถเก็บกู้ได้ทัน ต่อมาในวันที่ 11 สัญญาณดังกล่าวก็เริ่มส่งเสียงด้วยการระเบิดอย่างรุนแรงกลางเมืองของจังหวัดตรัง และรุ่งสางของวันที่ 12 สัญญาณดูจะดังมากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยการระเบิดและเพลิงไหม้หลายจุดในหลายจังหวัดภาคใต้ของไทย เทศกาลวันหยุดดูท่าจะไม่อภิรมย์นัก !

ถ้าภาพของเหตุการณ์อย่างที่เราเห็น และหากเกิดในยุโรปแล้ว เราคงไม่รีรอที่จะเรียกเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นว่า “การก่อการร้าย” แต่สังคมไทยก็ดูจะละเอียดอ่อนกับคำคำนี้ จนไม่กล้าที่จะยอมรับว่าปรากฏการณ์ของความรุนแรงในรูปแบบการก่อการร้ายเกิดขึ้นทั่วโลก และก็อาจจะเกิดขึ้นในสังคมไทยได้ เช่นที่เราเห็นจากภาพข่าวอย่างต่อเนื่องจากยุโรป อย่างน้อยในช่วงปี 2558-2559 ภาพความรุนแรงชุดนี้ปรากฏให้เห็นจากสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายเมืองใหญ่ของยุโรปและในสหรัฐอเมริกาเองก็ตาม

เราจะคิดอย่าง “เลื่อนลอย” ว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ปลอดจากการก่อการร้าย ก็คงเป็นความคิดที่ “ไร้เดียงสา” อย่างมากในโลกปัจจุบัน ในความเป็นจริงทุกประเทศสามารถตกเป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายได้ตลอดเวลา และประเทศไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เหมือนเช่นครั้งหนึ่งเคยมีข้อสังเกตที่เป็นดังทฤษฎี “ข้อยกเว้นพิเศษ” (Exceptionalism) ว่าสหรัฐฯ ไม่เคยต้องประสบกับภัยของสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 และก็อาจจะไม่ต้องเผชิญกับการก่อการร้ายด้วย แต่ก่อนเหตุ 11 กันยายน 2544 ก็เห็นถึงความพยายามที่จะก่อการร้ายในสหรัฐฯ มาแล้ว และคงต้องตระหนักว่า สังคมไทยก็ไม่ได้มี “ข้อยกเว้นพิเศษ” อะไรที่จะทำให้เราเป็นสังคมที่ปราศจากความรุนแรงเช่นนั้นได้

คำถามที่ตามมาก็คือ ถ้าเช่นนั้นใครเป็นผู้ก่อเหตุ ?

คำตอบอาจมีได้หลายแนวทาง ขณะเดียวกันก็ชวนให้พินิจพิเคราะห์ด้วย “สติ” เป็นอย่างยิ่ง และหากเปรียบเทียบในอดีต จะเห็นถึง “ระเบิดการเมือง” ที่มักจะไปมุ่งหวังการทำลายชี้วัดและทรัพย์สินของผู้คน หากต้องการการ “ส่งเสียง” เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจ หรือเสียงเรียกร้องให้เกิดความสนใจทางการเมือง แต่ในปัจจุบันมีลักษณะแตกต่างออกไป... ระเบิดมุ่งทำลายชีวิตและทรัพย์สินโดยตรง ดังนั้น เราอาจตั้งสมมติฐานว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุได้ดังนี้

1) การแสดงสัญลักษณ์ครบรอบ 1 ปี ของกรณีการระเบิดที่ศาลพระพรหมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 และเป็นที่รู้กันว่าการระเบิดดังกล่าวน่าจะเกี่ยวโยงกับการตัดสินใจด้านต่างประเทศของผู้นำไทย มากกว่าจะเป็นเรื่องภายในจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และจน 1 ปีแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารก็ยังหาตัว “นายอ๊อด” บุคคลในภาพถ่ายที่ไม่มีเลข 13 หลักของบัตรประชาชนในฐานะของการเป็นผู้เกี่ยวข้องได้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันหลายฝ่ายเชื่อว่ากรณีระเบิดในปี 2558 น่าจะเกี่ยวโยงกับการส่งผู้อพยพชาวอุยกูร์กลับจีน แต่ก็หวังว่าในระยะเช่นนี้ รัฐบาลไทยจะยังไม่มีนโยบายส่งผู้อพยพชาวอุยกูร์ที่เหลือกลับจีนอีก อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงขีดความสามารถแล้ว ก็ไม่ชัดเจนว่ากลุ่มนี้จะมีศักยภาพในการก่อเหตุใหญ่ได้ในหลายจุดเช่นที่เห็นในภาพข่าว

2) การเข้ามาของกลุ่มรัฐอิสลามหรือกลุ่มไอเอส ซึ่งกลุ่มนี้กำลังถูกกวาดล้างจับกุมอย่างหนักในมาเลเซียและสิงคโปร์ (ในปี 2558 มีกลุ่มติดอาวุธในภูมิภาคประกาศความภักดีต่อกลุ่มรัฐอิสลามหลายกลุ่ม) และกลุ่มที่เหลือหนีเข้ามาหลบซ่อนในไทย หากแม้ว่าข่าวนี้จะเป็นจริง แต่พวกเขาก็น่าจะเป็นกลุ่มขนาดเล็ก และไม่มีศักยภาพก่อเหตุใหญ่เช่นที่ผ่านมา ยังอาจจะต้องใช้เวลาในการ “ฟักตัว” อีกระยะพอสมควร จึงจะสามารถเปิดปฏิบัติการได้จริง

3) กลุ่มการเมืองที่มีความเห็นต่าง โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อแดง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาแทบจะไม่มีศักยภาพก่อเหตุเช่นนี้ได้แล้ว เพราะการควบคุมอย่างเข้มงวดในระยะ 2 ปีเศษที่ผ่านมา และพื้นที่ก่อเหตุเป็นพื้นที่ของกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามด้วย การกระทำแบบสุดโต่งมีความเสี่ยงเกินกว่าความคุ้มค่า และอาจทำให้เกิดผลเสียทางการเมืองได้อย่างมากจนไม่มีความคุ้มค่าทางการเมืองแต่อย่างใด

4) กลุ่มอาชญากร ไม่ว่าจะเป็นขบวนการค้ามนุษย์ หรือกลุ่มใดก็ตาม ไม่น่าจะอยู่ในวิสัยที่จะกระทำการเช่นนี้ เพราะปกติแล้ว กลุ่มอาชญากรจะไม่เผชิญหน้ากับรัฐด้วยการก่อเหตุรุนแรงเช่นนี้ เพราะการกระทำเช่นนี้อาจจะทำให้พวกเขาถูกปราบปรามอย่างรุนแรงด้วย

5) กลุ่มข้าราชการที่เสียประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายตำรวจทหาร ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเป็นปฏิบัติการขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมหลายจังหวัด และจะทำให้การเก็บรักษาความลับเป็นไปได้ยาก อันอาจมีข้อมูลข่าวสารรั่วออกมาสู่สาธารณะได้โดยง่าย อีกทั้งการจัด “รายการใหญ่” เช่นนี้มีความเสี่ยงสูงเกินไป และไม่อาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่พวกเขาต้องการ

6) ขบวนการก่อความไม่สงบในภาคใต้ ดูจะเป็น “ตัวละครหลัก” ที่ถูกจับตามองอย่างมากทั้งในเชิงศักยภาพและตัวบุคคล แม้ที่ผ่านๆ มา ขบวนการนี้จะไม่เคยกล่าวอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นเลยก็ตาม แต่ก็น่าคิดว่าถ้าขบวนการนี้ทำจริงก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณถึง “การยกระดับ” ปฏิบัติการ เท่าๆ กับ “การขยายพื้นที่” ปฏิบัติการอีกด้วย และหากเป็นขบวนการจากภาคใต้ที่เปิดปฏิบัติการชุดนี้ขึ้น ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะไม่อ้างความรับผิดชอบ เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการอ้างแต่อย่างใด จนกลายเป็น “ลักษณะเฉพาะ” ของความรุนแรงในภาคใต้ไทยไปแล้ว

ในที่สุดแล้ว เราอาจจะไม่มีคำตอบอะไรที่ชัดเจนเลยก็ได้ เพราะการวางระเบิดหลายลูกที่กรุงเทพฯ ในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าของปี 2549 ต่อปีใหม่ 2550 จนบัดนี้ก็ไม่มีคำตอบอะไรว่าใครเป็นผู้ก่อ หรือในปีก่อนๆ จากเหตุลอบวางระเบิดในกรณีภูเก็ต กรุงเทพฯ (หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง) เกาะสมุย ก็ไม่มีคำตอบเช่นกัน... การลอบวางระเบิดในไทยกลายเป็นความลับที่ถูกทิ้งค้างไว้ให้นักวิเคราะห์ต้องค้นหาคำตอบกันไม่จบสิ้น พร้อมกับมีการประกอบสร้างด้วยทฤษฎีต่างๆ มากมาย

ดูเหมือนเหตุวางระเบิดในไทยจะมีตัวละครที่เป็นผู้ถูกกล่าวหามากมาย แต่แทบจะไม่มีผู้ถูกจับกุมเท่าใดนัก ยกเว้นกรณีศาลพระพรหมในปี 2558 ซึ่งก็มีข้อโต้แย้งในเรื่องของตัวบุคคลอยู่พอสมควรในกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นจริงเพียงใด

เรื่องราวทางคดีในบริบทของการสืบสวนสอบสวนก็คงจะเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามกันต่อไป แต่ทำอย่างไรที่เรื่องนี้จะไม่ถูกนำมาใช้เป็นการใส่ร้ายทางการเมือง และนำไปสู่การกวาดจับผู้เห็นต่าง กล่าวคือ การก่อการร้ายจะต้องไม่ใช่ “โอกาสทอง” ของรัฐบาลทหารในการป้ายสีทางการเมือง เพราะมิเช่นนั้นแล้ว ระเบิดที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่จะสร้าง “ความกลัว” เท่านั้น หากแต่ยังสร้าง “ความแตกแยก” อีกครั้ง ให้แก่สังคมไทยอีกด้วย และในอีกด้านหนึ่งของปัญหาความมั่นคง บางทีสังคมไทยอาจจะต้องเตรียมตัวมากขึ้นที่จะอยู่กับการก่อการร้ายในเมือง ในฐานะของความรุนแรงร่วมสมัยเช่นที่เมืองใหญ่หลายแห่งของโลกต้องเผชิญมาแล้ว

ดังนั้นสำหรับคนกรุงเทพฯ แล้ว บางทีเราอาจจะต้องเตรียมตัวเผชิญกับภัยคุกคามของพายุฝน เท่าๆ กับภัยคุกคามของการก่อการร้ายในเมืองด้วย !

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:

ระเบิดอาจเป็นคำเตือนถึงความจริงจังต่อกระบวนการสันติภาพในภาคใต้ (ตอน 1)
https://www.facebook.com/BBCThai/posts/1808561672698198:0

ระเบิดอาจเป็นคำเตือนถึงความจริงจังต่อกระบวนการสันติภาพในภาคใต้ (ตอน 2)
https://www.facebook.com/BBCThai/posts/1808567799364252:0

ปณิธาน วัฒนายากร ชี้เหตุระเบิด 7 จังหวัดต้องดูแรงจูงใจ-กลุ่มที่สูญเสียจากพัฒนาการทางการเมือง
https://www.facebook.com/BBCThai/photos/a.1527194487501586.1073741828.1526071940947174/1808232342731131/?type=3&theater

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงชี้ ลักษณะการก่อเหตุระเบิด 7 จังหวัดใต้ เป็นฝีมือของกลุ่มบีอาร์เอ็น
https://www.facebook.com/BBCThai/photos/pb.1526071940947174.-2207520000.1471088122./1807853259435706/?type=3