Skip to main content

 

 

         deepsouth bookazine : เรียนรู้และเข้าใจชายแดนใต้ สามารถเข็นให้เล่ม 2 ออกมาได้ได้ ท่ามกลางความ เข็ญจริงๆ

         จากเล่มแรก สงครามกลางเมืองจนถึงเล่มนี้ สงครามความคิดมีคนทักว่า เราน่าจะเปลี่ยนสโลแกนหนังสือที่จาก เรียนรู้และเข้าใจชายแดนใต้เป็น เรียนรู้และเข้าใจสงคราม

         หากสงครามเป็นเรื่องที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายๆ เราเองก็หวังเช่นนั้น

         48 มาเดือนแล้วที่สถานการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ ก่อตัวปะทุความรุนแรงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง มีผู้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ด้วยคำว่าสงครามอยู่ไม่น้อย

         สงครามกลางเมือง สงครามความคิด สงครามข่าวสาร สงครามแย่งชิงมวลชน สงครามยืดเยื้อ สงครามรูปแบบใหม่ ฯลฯ

         แม้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้อาจจะเกินเลยไป หากกล่าวถึงสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ว่าเป็นสถานการณ์สงคราม อันที่จริงสถานการณ์นี้ยังอยู่ในระดับปัญหาความรุนแรง เพียงแต่ว่า ความรุนแรงนี้อาจนำไปสู่ภาวะสงครามได้ หากเงื่อนไขทั้งภายนอกและภายในสุกงอมพอ

         เราไม่ต้องการเห็นสงคราม เราต้องการให้ความรุนแรงนี้คลี่คลายไป และถึงที่สุดแล้วเราต้องการให้ปัญหายุติลง แต่หากเว้นเสียชึ่งการทำความเข้าใจกับเงื่อนไขปัจจัยของสงคราม การตั้งต้นเพื่อไปสู่การยุติความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

         เราไม่ปฏิเสธการมองหาแง่มุมดีงาม ขณะเดียวกันก็ต้องเท่าทันกับความรุนแรง คงไม่เป็นการดีหากปล่อยให้เสียงของแง่มุมใดดังมากหรือน้อยไปกว่ากัน เพียงแต่การทำความเข้าใจต่อความสวยงามนั้น ง่ายและไม่ซับซ้อนเท่ากับการเรียนรู้ความขัดแย้ง โดยเฉพาะความขัดแย้งที่มีปมเงื่อนผูกโยงเกี่ยวพันกันอย่างสลับซับซ้อน

         สงครามเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ส่วนดีของสถานการณ์นี้อาจทำให้เราพบโอกาสแห่งการสร้างสรรค์การจัดการความขัดแย้ง เพราะสงครามมีวันสิ้นสุดยุติ แต่ความขัดแย้งอาจฝังลึก ภายใต้ภาวการณ์เช่นนี้ เรามองเห็นโอกาสเพื่อให้ความขัดแย้งอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้อย่างไร

         ความสลับซับซ้อนของเงื่อนปมความขัดแย้งที่เป็นชนวนนำไปสู่สงคราม มิอาจอธิบายได้ด้วยความรู้ใดเพียงความรู้เดียว

         เรามิได้สำคัญตัวว่าสามารถนำเสนอแง่มุมอันซับซ้อนของสงครามได้อย่างหมดจด ครอบคลุมทุกคำอธิบาย เพียงแต่เราปรารถนาที่จะเป็นเวทีแห่งการร่วมคิด ถกเถียง แลกเปลี่ยน เพื่อการเรียนรู้และเข้าใจของสังคมไทย

         ถึงที่สุดแล้วการฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ สังคมไทยต้องร่วมกันสร้างแนวทาง โดยมิอาจทอดภาระให้แก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

         ความตั้งใจของเราคงคล้ายกับการพยายามสร้างโรงเรียนขึ้นมาสักแห่งหนึ่ง เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมวิเคราะห์ศึกษา ทำความเข้าโครงสร้างของปัญหาร่วมกัน ด้วยความเชื่อมั่นว่า หนทางแห่งสันติภาพคงเกิดขึ้นได้ยาก หากเราไม่เข้าใจโครงสร้างพื้นฐานของสงคราม

 

อภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์ : 2 ธันวาคม 2550