แถลงการณ์ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ข้อสงสัยในกรณีการใช้กฎหมายพิเศษจับกุมผู้ต้องหาคดีอั้งยี่ 15 คน
2016-08-20 คดี 15 ผู้ต้องหา 15 ราย ข้อหาอั้งยี่ ดำเนินคดีในศาลทหาร เผยแพร่2
เผยแพร่วันที่ 20 สิงหาคม 2559
แถลงการณ์ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
ข้อสงสัยในกรณีการใช้กฎหมายพิเศษจับกุมผู้ต้องหาคดีอั้งยี่ 15 คน
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2559 เจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัวชาย13 คน หญิง 2 คน รวม 15 คน ไปยังกองบังคับการกองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อทำบันทึกจับกุมและรับทราบข้อกล่าวหาที่ทางเจ้าหน้าที่ทหารได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ต้องหาทั้งหมด โดยระบุว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีการร่วมกลุ่มกันในนามพรรคแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตย พิจารณาเห็นว่าพฤติการณ์การกระทำของกลุ่มบุคคลดังกล่าวเป็นความผิดร่วมกันเป็นอั้งยี่ และร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ โดยเหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2558 ถึงเดือนมิถุนายน 2559
อย่างไรก็ดีการติดตามจับกุมกลุ่มบุคคลทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายหลังที่มีการวางระเบิด 7 จุดในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ และได้มีการให้ข่าวไปในทำนองว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุวางระเบิด อีกทั้งยังพบว่าเป็นการติดตามจับกุมจากภูมิลำเนาที่แตกต่างกัน เกือบทุกคนมีภูมิลำเนาห่างไกลจากกรุงเทพอย่างมาก ทำให้ไม่สามารถติดต่อสื่อสารและส่งข่าวให้ญาติพี่น้องได้เลยตลอดระยะเวลาการควบคุมตัวมาตั้งแต่วันที่ 12, 13 และ14 สิงหาคม 2559 โดยในหลายกรณีญาติไม่ทราบว่าผู้ต้องหาถูกจับกุมจนกระทั่งได้ข้อมูลจากสื่อสาธารณะ และไม่สามารถมาติดต่อขอเยี่ยมได้
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้รับข้อมูลของผู้ต้องหาจำนวน 12 คนใน 15 คนว่า ทุกคนไม่ได้รับอนุญาตให้พบปะกับญาติตลอดการควบคุมตัว 7 วันที่เรือนจำทหารมทบ. 11 และหลายคนมาทราบในวันที่ 19 สิงหาคม 2559 ว่าญาติมาติดต่อขอเข้าเยี่ยมแต่ไม่ได้เยี่ยม ในขณะที่พวกเขาถูกนำตัวมารับทราบข้อกล่าวหาที่ตำรวจกองปราบปราม โดยมีข้อหาร่วมกันเป็นอั้งยี่ซ่องโจรและร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 ประกอบ มาตรา 83 และขัดคำสั่งคสช. ที่ 3/2558 โดยผู้ต้องหาทุกคนปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และต่อมาได้ถูกนำตัวไปศาลทหารเพื่อฝากขังแต่ไม่สามารถดำเนินการประกันตัวได้ทัน ผู้ต้องหาชายจึงถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และผู้ต้องขังหญิงสองคนถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานหญิงกลาง โดยมีทีมทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและและสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ให้คำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือผู้ต้องหาและญาติ
จากการสังเกตและพูดคุยกับผู้ต้องหากลุ่มดังกล่าวเบื้องต้นพบว่ามีผู้มีอายุระหว่าง 61-70 ปีจำนวน 9 คน อายุระหว่าง 50-60ปีจำนวน 5 คน และอายุต่ำกว่า 50 ปี จำนวนเพียง 3 คน ในจำนวนนี้มีผู้ต้องหาอย่างน้อยสามรายเป็นโรคต่อมลูกหมากโต ผู้ต้องหาอีกอย่างน้อย 6 รายเป็นความดันโลหิตสูง สองคนเป็นโรคเก๊าต์ หนึ่งคนเป็นโรคเบาหวาน และอีกหนึ่งคนมีภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ ผู้ต้องหาหญิงหนึ่งรายที่เป็นชาวมุสลิมได้ร้องขอให้ทางราชทัณฑ์อนุญาตให้สวมเครื่องแต่งกายตามหลักการศาสนาและสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อการใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษที่ทางเจ้าหน้าที่ทหารได้อ้างในการบังคับใช้กับประชาชนและการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้อ้างว่าใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/ 2558 ลงวันที่ 1 เมษายน 2558 ทำการควบคุมกลุ่มบุคคลที่เชื่อว่าทำความผิด โดยอาศัยจังหวะที่สาธารณชนให้ความสนใจการติดตามจับกุมกลุ่มผู้ต้องสงสัยวางระเบิดในพื้นที่จังหวัดภาคใต้
การสื่อสารของหน่วยงานความมั่นคงและการรายงานข่าวมีลักษณะกำกวมทำให้สังคมเข้าใจว่าเป็นการจับกุมกลุ่มบุคคลที่มีแนวความคิดทางการเมืองที่ต่างจากรัฐบาลและไม่พอใจกับผลการลงประชามติจึงวางระเบิดและวางเพลิงในเจ็ดจังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นการกระทำผิดร้ายแรง การสร้างความสับสนอลหม่านไม่ใช่แต่ในกลุ่มญาติของผู้ต้องหาทั้ง 15 คนเท่านั้นหากแต่ในหมู่ประชาชนทั่วไป ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในภายหลังว่าบุคคลดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
การจับกุมบุคคลทั้ง 15 คนดังกล่าวข้างต้น โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและโดยใช้อำนาจพิเศษ ทำให้เกิดความสงสัยในการปฏิบัติในครั้งนี้ของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงเป็นอย่างมากว่า
- เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจรัฐในการควบคุมตัวบุคคลทั้ง 15 คนห้ามเยี่ยมจากญาติ อันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลและขัดต่อหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่งนั้น ได้กระทำไปโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรหรือไม่?
- การที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารให้ข่าวต่อสื่อมวลชนในลักษณะที่ทำให้ประชาชนเข้าใจว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวซึ่งมีแนวคิดและความเชื่อทางการเมืองต่างจากรัฐบาล เกี่ยวข้องกับการวางระเบิดและวางเพลิงในเจ็ดจังหวัดภาคใต้ โดยที่ยังไม่มีการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานอย่างชัดเจน นอกจากจะไม่เป็นธรรมและเสียหายต่อบุคคลทั้ง 15 คนแล้ว ยังเป็นการให้ข่าวมุ่งที่จะทำให้สังคมเกิดความสงสัย หวาดระแวงและเกลียดชังกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล อันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองในหมู่ประชาชนและเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความปรองดองของคนในชาติอีกด้วย หรือไม่?
- การตั้งข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร เป็นการแก้เกี้ยว หลังจากที่จับมาก่อนสอบสวนทีหลัง แต่ไม่มีพยานหลักฐานว่าคนทั้ง 15 คนเกี่ยวข้องกับการวางระเบิดและวางเพลิง และทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธว่าพวกเขาไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณดังกล่าว หรือไม่?
- การที่เจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาให้ตั้งข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเป็นเพียงวิธีการในการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อให้บุคคลเหล่านั้นต้องตกอยู่ในอำนาจของศาลทหารหรือไม่?
- การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารในการสืบสวนกรณีวางระเบิดและวางเพลิงในเจ็ดจังหวัดภาคใต้มีความเป็นมืออาชีพหรือไม่ หรือควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีความรู้ความชำนาญในการสืบสวนสอบสวนมากกว่าหรือไม่?
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอเรียกร้องให้ทางรัฐบาลดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมต่อผู้ต้องหาทั้ง 15 คน และเกิดความกระจ่างแก่ประชาชน โดยหากพบว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ทหารมีความบกพร่อง ไม่มีความเป็นมืออาชีพ หรือโดยเจตนาทุจริต ก็ขอเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวและชดใช้เยียวยาความเสียหายแก่ผู้ต้องหาทุกคน และดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่เหล่านั้นตามกฎหมายด้วย
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
20 สิงหาคม 2559