แถลงการณ์ เรื่อง การยิงในที่สาธารณะและสิทธิที่จะมีชีวิตรอดของเด็กในจังหวัดชายแดนใต้
แถลงการณ์ กลุ่มด้วยใจ และ Children Voice for Peace Project
เผยแพร่วันที่ 20 สิงหาคม 2559
เรื่อง การยิงในที่สาธารณะและสิทธิที่จะมีชีวิตรอดของเด็กในจังหวัดชายแดนใต้
เรียน ผู้ก่อเหตุความรุนแรง ,เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และ ประชาชน
ในวันที่ 18 สิงหาคม 2559 9 เป็นวันที่เด็กในจังหวัดชายแดนใต้เสียชีวิตในวันเดียวกันถึง 3 คน คือนาย อะรัง ยูนุ อายุ 15 ปี ชาวอ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ถูกยิงเสียชีวิตขณะออกมาดูเหตุการณ์คนร้ายเผารถที่จอดอยู่ในบ้าน ต่อมาช่วงเย็นได้เกิดเหตุคนร้าย 2 คนขับรถจักรยานยนต์ตามประกบยิง บิดาของ ด.ญ.สวยดา โต๊ะดีเล อายุ เพียงแค่ 2 ขวบและกระสุนไปโดนศรีษะของเธอจนเสียชีวิต เหตุเกิดทางเข้าหมู่บ้านสำนักเอ๊าะ หมู่ 5 ต.เขาแดง อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เพียง และเหตุการณ์สุดท้ายเมื่อ เวลาประมาณ 22.35 น. มีเหตุเจ้าหน้าตำรวจเข้าสกัดรถจักรยานยนต์ที่ขับหลบหนีจุดตรวจ แล้วอาวุธปืนลั่นถูกวัยรุ่นได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตขณะเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก โดยผู้เสียชีวิต คือเด็กชายอิคลาส อินทรประเสริฐ อายุ13ปี นอกจากนี้ในวันที่ 20 สิงหาคม 2559 เวลา 6:00 น มีการควบคุมตัวเด็กอายุ 14 ปี โดยเจ้าหน้าที่ทหารและ ตำรวจ ไปสอบสวนที่ สถานที่ตำรวจภูธร สายบุรี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
กลุ่มด้วยใจขอแสดงความเสียใจและห่วงใยต่อทั้งสี่เหตุการณ์ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่แท้จริงได้ว่าเกิดจากใครเป็นผู้กระทำยกเว้นกรณีเหตุที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส แต่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงที่ส่งผลโดยตรงต่อเด็กที่ควรจะได้รับการปกป้องจากทุกคนในสังคม เหตุการณ์ได้สะท้อนถึงการพกพา และการใช้อาวุธอย่างไม่ระมัดระวัง และที่สำคัญ ความปลอดภัยของเด็ก ในบ้านหรือบนถนน ในตัวเมือง หรือในชนบท ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยอย่างแท้จริงต่อเด็ก
ทุกคนอาจจะเข้าใจถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่เด็กซึ่งเป็นกลไกหลักที่สำคัญในอนาคตของสังคม ควรที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้ก่อเหตุ เจ้าหน้าที่รัฐ และ ประชาชน ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ( Convention on the rights of the child) ซึ่งมีกระบวนการปกป้องคุ้มครองเด็กที่ถูกละเมิด และ การปกป้องเด็กที่ถูกกล่าวหาในกระบวนการยุติธรรมถึงแม้ว่าในจังหวัดชายแดนใต้จะมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในการควบคุมตัวเด็กก็ตาม
จากเหตุการณ์ที่กล่าวมาข้างต้น กลุ่มด้วยใจขอเรียกร้องต่อทุกฝ่ายดังนี้
ผู้ก่อเหตุ
• ขอให้หยุดการกระทำรุนแรงที่ส่งผลโดยตรงต่อเด็ก
• ขอให้เลือกใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาทางการเมือง
เจ้าหน้าที่รัฐ
• ขอให้การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนตามที่รัฐบาลได้ลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ
• ขอให้เจ้าหน้าที่นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างเป็นธรรมเพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำในอนาคต
ประชาชน
• ขอให้ประชาชนที่มีเด็กอยู่ในการปกครองเข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้งและดำเนินการแสวงหาวิธีที่จะนำมาซึ่งความปลอดภัยให้กับเด็กเช่นการไม่ให้เด็กออกไปนอกบ้านในยามวิกาล
• ขอให้ประชาชนสนับสนุนการทำงานของทุกฝ่ายในการปกป้องคุ้มครองเด็กอย่างจริงจัง
• ขอให้ประชาชนเลือกใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เป็นปัญหาส่วนตัวเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของเด็ก