Skip to main content

 

[1]

ในฐานะ 'คนข่าว' ที่ทำงานข่าวมานานนับสิบๆ ปี ผมไม่เคยเห็นข่าวไหนที่สามารถยึดพื้นที่สื่อได้มากและยาวนานเท่ากับข่าวความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย แม้แต่นักการเมืองบางคนหรือบางพรรคที่ว่ากันว่าถนัดนักกับการ 'ยึดพื้นที่สื่อ' ก็ยังชิงพื้นที่หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์รายวัน และข่าวนำของวิทยุโทรทัศน์ได้ไม่เท่ากลุ่มก่อความไม่สงบ 

ผมมาเรียนรู้ในภายหลังว่านัยยะหนึ่งของการใช้ความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ในดินแดนด้ามขวาน ทั้งการใช้อาวุธประหัตประหาร การลอบวางระเบิด การเผาโรงเรียนและสถานที่ราชการ หรือแม้แต่การปลุกม็อบฝูงชนเพื่อชุมนุมประท้วงดังที่ปรากฏอย่างต่อเนื่องนานกว่า 4 ปีนั้น ถูกกำหนดวาระโดยผู้ก่อการให้เป็น 'สงครามข่าว' ซ้อนอยู่ในสมรภูมิการต่อสู้

เป็น 'สงครามข่าว' ที่ส่งผลสะเทือนต่อการรับรู้และสร้างอิทธิพลทาง 'ความรู้สึก' ของผู้คนทั้งในพื้นที่เอง เจ้าหน้าที่รัฐไทย คนไทยในภาคอื่นๆ ของประเทศ และประชาคมโลก เพื่อขับเคลื่อนสถานการณ์ไปสู่เป้าหมายที่เชื่อกันว่าคือ การแบ่งแยกดินแดนและตั้งรัฐอิสระ

เป็น 'สงครามข่าว' ที่แม้แต่คนของรัฐเองยังต้องออกมากระตุ้นเตือนพวกเดียวกันด้วยความกังวลว่า “พวกเราเข้าใจมันดีพอหรือยัง” "เราทำปฏิบัติการข่าวสารกันเป็นมั้ย" และ "ยุทธวิธีของเราที่ใช้ต่อสู้ถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือ?" 

ด้วยเหตุนี้เองการค้นหาคำตอบเชิงองค์ความรู้ว่าด้วย 'สงครามข่าวสาร' จึงเกิดขึ้น และแปรเป็นเนื้อหาในแง่มุมต่างๆ เริ่มจากรายงานเชิงวิเคราะห์ขนาดยาว ตามด้วยบทสัมภาษณ์ผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เคยมีบทบาทอย่างสูง ซึ่งทีมงานต้องดั้นด้นเดินทางไปพบกับบุคคลผู้นี้ยังสถานที่ปิดลับแห่งหนึ่งนอกประเทศไทย แล้วก็ไม่ผิดหวังเมื่อเขาตั้งประเด็นอันท้าทายเอาไว้ว่า 'การเอาชนะความรู้สึก' ต่อพี่น้องมลายูมุสลิมให้ได้ต่างหาก คือกุญแจที่จะดับไฟใต้อย่างยั่งยืน

และปิดท้ายด้วยคลื่นความคิดของนายทหารนักยุทธศาสตร์ของกองทัพที่วิพากษ์บทบาทของฝ่ายความมั่นคงในกระแสเชี่ยวกรากแห่งสงครามข่าวเอาไว้อย่างตรงไปตรงมา 

ทั้งหมดยึดพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของ 'ดีพเซาท์ บุ๊กกาซีน' ลำดับที่สามเล่มนี้

[2]

ในฐานะ 'คนข่าว' ที่เกาะติดข่าวภาคใต้มานานหลายปี ปฏิเสธไม่ได้ว่าการรายงานข่าวภาคใต้เป็นประเด็นที่สื่อมวลชนถูกตั้งคำถามถึง 'บทบาท' และ 'การทำหน้าที่' มากที่สุด

คำถามหนึ่งที่แหลมคมยิ่งก็คือ สื่อกำลังตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหรือไม่ ?

หลายๆ ครั้ง 'คนข่าว' อย่างพวกผมเจอคำถามที่เล่นเอาสะอึกไปเหมือนกัน เช่น 'ไม่รักชาติหรือไง ? ' เมื่อต้องนำเสนอข่าวปฏิบัติการความรุนแรงของฝ่ายคนร้ายเป็นพาดหัวไม้หน้าหนึ่ง

นั่นเพราะ 'สงครามข่าว' ที่เกิดขึ้นและดำเนินอยู่ ด้านหนึ่งถูกจุดโดยกลุ่มก่อความไม่สงบ แต่อีกด้านหนึ่งก็ใช้การทำหน้าที่ 'คนข่าว' อย่างพวกผมนี่แหละเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดความรู้สึกแผ่ขยายในวงกว้าง

นี่เองที่ทำให้วงการสื่อต้องปรับตัวพอสมควร ตั้งแต่การดำริก่อตั้ง 'ศูนย์ข่าวอิศรา' ในนามของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อเกือบ 3 ปีที่แล้ว เพื่อลงไปรายงานข่าวท่ามกลางบริบทความรุนแรงด้วยแง่มุมอื่นๆ ที่ไม่ใช่ "วันนี้ตายกี่ศพ ระเบิดกี่จุด?" 

และ 'คณะทำงานสนามข่าวสีแดง' กับ 'ดีพเซาท์ บุ๊กกาซีน' ก็คือผลิตผลจากการปรับตัวของวงการสื่อในครั้งกระโน้น แล้วก็ยังคงขับเคลื่อนเพื่อ 'เรียนรู้และเข้าใจชายแดนใต้' อยู่ ณ ปัจจุบัน รวมถึงอนาคต

แม้การปรับตัวของสื่อจะมีพลวัตเป็นลำดับมา ทว่าโจทย์ข้อแรกที่เคยถูกตั้งคำถามเอาไว้เราก็มิได้ละเลย และบทบาทของสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้งระดับ 'สงคราม' ก็มีคำตอบอยู่ใน 'ดีพเซาท์ บุ๊กกาซีน' เล่มนี้เช่นกัน 

[3] 

ในฐานะ 'คนข่าว' ที่ทำข่าวมานานนับสิบๆ ปี แม้จะผ่านงานมาแล้วในหลายหน้าที่และหลายสถานะ แต่ก็ขอยอมรับตรงๆ ว่าไม่เคยมีคราวไหนที่หนักใจกับการทำงานมากเท่ากับการมาทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ 'ดีพเซาท์ บุ๊กกาซีน' เลย

ด้านหนึ่งเป็นเพราะบุคลิกของหนังสือที่เน้นรายงานเนื้อหาในเชิงลึก รอบด้าน เพื่อหวังอธิบายสถานการณ์ในภาพกว้างให้ได้อย่างแจ่มชัด กับอีกด้านหนึ่งก็คือธรรมชาติของปัญหาชายแดนใต้เองที่มีทั้งความลึก ลับ และซับซ้อน (บางครั้งยัง 'ลวง-พราง' ด้วยอีกต่างหาก) อีกทั้งยังเกี่ยวโยงอย่างแยกไม่ออกกับประเด็นอ่อนไหวทางศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม

การจัดระเบียบสายธารความคิดเพื่อขมวดปมที่ยุ่งเหยิงซับซ้อนนั้นให้กลายเป็นตัวหนังสือสู่สายตาผู้อ่าน จึงยากเหลือเกินในความรู้สึก

ผมไม่เคยทำการบ้านสำหรับงานชิ้นใดมากเท่ากับงานชิ้นนี้... 

เหตุนี้ ผมจึงค่อนข้างหงุดหงิดใจเมื่อองคาพยพใดก็ตามของรัฐบาลออกมาพูดถึงปัญหาภาคใต้ในลักษณะ 'ยึดพื้นที่สื่อไปวันๆ' หรือกำหนดวาระให้ภารกิจดับไฟใต้เป็นแค่เกมเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมืองโดยไม่มีสาระใดๆ

มันน่าท้อใจอยู่ไม่น้อยว่าเมื่อเราพยายาม 'เรียนรู้และเข้าใจชายแดนใต้' มากขึ้นเท่าไหร่ กลับยิ่งพบว่าผู้รับผิดชอบตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปฏิบัติอยู่ห่างไกลจากคำว่า 'เรียนรู้และเข้าใจ' มากขึ้นเท่านั้น 

[4] 

ในฐานะ 'คนข่าว' ที่จำเป็นต้องเกาะติดกระแสความเคลื่อนไหวของข่าวทุกๆ รุ่งเช้า...วันหนึ่งผมกดปุ่มเปิดโทรทัศน์เจอหน้ารัฐมนตรีที่ดูแลด้านความมั่นคงภายในกำลังให้สัมภาษณ์

".........." ไม่มีเสียงใดๆ เล็ดลอดออกมาจากลำโพง ยกเว้นภาพรัฐมนตรีท่านนั้นทำหน้าถมึงทึงสลับยิ้มเย้ยหยัน ตาเหลือกถลนเป็นบางช่วง ปากก็พูดพะงาบๆ โดยมีตัวอักษรบรรยายอยู่ด้านล่างของจอว่า 'ข้อเสนอตั้งเขตปกครองพิเศษดับไฟใต้' 

ผมทนดูอยู่ครู่หนึ่งก็กดปุ่มเปลี่ยนช่อง เจอหน้ารัฐมนตรีคนเดิม ทำหน้าทำตาเหมือนเดิม ปากพะงาบๆ โดยไม่มีเสียงเช่นเดิม แต่ตัวอักษรที่บรรยายเปลี่ยนไปว่า 'รมต.ปฏิเสธลั่นตั้งเขตปกครองพิเศษ เสนอเขตปกครองเฉพาะส่วน' 

ผมรีบกดปุ่มเปลี่ยนช่องเพราะเข้าใจว่าทีวีเสีย คราวนี้เจอภาพบรรยากาศในรัฐสภา นักการเมืองบนบัลลังก์กับอีกหลายคนที่นั่งอยู่ด้านล่างกำลังแสดงกิริยาทุ่มเถียงกันพัลวัน แต่ไม่มีเสียงอีกเช่นเคย มีแต่ตัวอักษรบรรยายว่า "รัฐมนตรีปะทะคารม ส.ส.โยนกลองวุ่นดับไฟใต้เหลว" 

ผมเริ่มมั่นใจว่าโทรทัศน์น่าจะมีปัญหา แต่ก็ยังไม่วายลองกดไปดูช่องอื่นๆ ที่เหลือ คราวนี้พบทั้งภาพและเสียงเหตุการณ์ที่กลุ่มก่อความไม่สงบปฏิบัติการลอบวางระเบิดรถฮัมวี่ของทหาร ชายฉกรรจ์ในชุดพรางชุ่มเลือดกำลังถูกอุ้มขึ้นรถพยาบาล นักข่าวรายงานสถานการณ์ด้วยสีหน้าและน้ำเสียงตื่นตระหนก จากนั้นภาพตัดไปที่การชุมนุมปิดถนนของฝูงชนซึ่งมีการชูป้ายเขียนข้อความเป็นภาษาอังกฤษโจมตีเจ้าหน้าที่รัฐด้วยข้อกล่าวหาละเมิดสิทธิมนุษยชน 

ที่ด้านล่างของจอมีข้อความเอสเอ็มเอสถูกส่งเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ส่วนใหญ่เป็นถ้อยคำด่าประณามกลุ่มผู้ก่อการและชาวบ้านในพื้นที่อย่างเกลียดชัง ทำนองว่าก่อปัญหาไม่เลิก

ผมกดปุ่มรีโมทเปลี่ยนช่องไปเรื่อยๆ จากฟรีทีวีไปสู่เคเบิลทีวี พบภาพและเสียงชัดแจ๋วเกี่ยวกับเหตุการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปรากฏอยู่ในสถานีข่าวต่างประเทศหลายแห่ง มีพิธีกรนั่งวิเคราะห์ประกอบอย่างตึงเครียด

ผมตัดสินใจปิดทีวีพร้อมกับทอดถอนใจ...

 

ปกรณ์ พึ่งเนตร : เมษายน 2551