สานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 32 วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2559 โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท ปัตตานี
ผู้ร่วมสานเสวนา: นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา อดีต ส.ว. อดีต ส.ส. นักการเมืองท้องถิ่น นักการศาสนา บุคคลจากภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธี จชต. มหาวิทยาลัยมหิดล
เป้าหมาย: เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมห้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เนื่องจากการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของปีงบประมาณ จึงเป็นโอกาสที่อาจารย์จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาจะได้นำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของสตรีในด้านการพัฒนาและกระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่ประชุมแสดงความเห็นด้วยที่ผู้หญิงจะมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องที่ผู้หญิงได้รับผลกระทบและในเรื่องที่ผู้หญิงสามารถประสานงานและสื่อสารได้อย่างดี แต่ขอให้คำนึงถึงหลักการและข้อจำกัดบางประการด้วย ที่ประชุมได้อภิปรายถึงผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกเสียงไม่รับร่างดังกล่าวนั้น มีความเห็นหนึ่งว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญเท่าที่ควรและไม่ค่อยเข้าใจในเนื้อหา ส่วนที่ลงคะแนนไปนั้นอาจเป็นเพราะเชื่อผู้นำ หรือเชื่อคำเล่าลือเกี่ยวกับเรื่องศาสนา อนึ่ง มีผู้เชื่อว่าผลประชามติดังกล่าวแสดงว่าการเมืองภาคประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเข้มแข็ง และรัฐบาลควรคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องศาสนาที่รวมความเห็นเป็นหนึ่งเดียวได้มากกว่าประเด็นแบ่งแยกทางการเมือง ดังนั้น ผลการลงประชามติเป็นเสมือนสัญญาณที่เตือนให้รัฐบาลต้องระมัดระวังในการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่อไปด้วย
ในการออกเสียงประชามติ มีข้อสังเกตว่าประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะฟังเสียงของผู้นำฝ่ายวาดะห์ ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ ตลอดจนนักวิชาการและภาคประชาสังคมฝ่ายก้าวหน้า ส่วนผู้ที่รับร่างจะฟังเสียงของฝ่าย กปปส. และผู้นำรัฐบาล อนึ่ง ผู้ที่รับร่างอาจเป็นเพราะเห็นด้วยกับการลดบทบาทของฝ่ายการเมืองในการบริหารท้องถิ่น และคล้อยตามวาทกรรมรักชาติของฝ่ายรัฐบาล
ที่ประชุมได้อภิปรายเรื่องเหตุระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน พอสรุปความเป็นไปได้ในหลายทางคือ 1) เป็นเรื่องทางการเมืองอันเป็นผลจากการลงประชามติ 2) เป็นเรื่องของผู้เห็นต่างในจังหวัดชายแดนภาคใต้อันเป็นผลมาจากความรู้สึกว่าการพูดคุยสันติภาพไม่มีความคืบหน้าให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ 3) เป็นเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ หรือการสร้างสถานการณ์ ไม่ว่าจะในเรื่องผลประโยชน์ที่ผิดกฎหมาย หรือการแย่งชิงกันขึ้นสู่ตำแหน่ง อย่างไรก็ดี การสืบสวนสอบสวนขอให้กระทำอย่างตรงไปตรงมาและอาศัยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เป็นสำคัญ อนึ่ง ในเรื่องนี้มีข้อกังวลว่าจะมีผู้รีบด่วนสร้างความเชื่อมโยงไปต่าง ๆ นานา
กรณีการบูรณะมัสยิดตะโละมาเนาะ เดิมเคยให้ชมรมอีหม่ามอำเภอบาเจาะเป็นผู้ดูแล แต่ดูเหมือนว่ามีการเปลี่ยนแปลงแบบ งบประมาณ และจ้างบริษัทผู้รับเหมาซึ่งทาง ศอ.บต. เป็นผู้ดำเนินการเอง โดยชมรมอีหม่ามและชาวบ้านมีส่วนร่วมน้อยลง อนึ่ง ในเรื่องงบประมาณและเรื่องแบบเรื่องนี้เคยมีคำสัญญาว่าจะให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวักนราธิวาสเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ
ที่ประชุมให้ข้อสังเกตว่า การดำเนินการในด้านการพัฒนาในยุคประชารัฐ เช่น การซ่อมแซมถนน การขุดลอกคูคลอง การติตตั้งโคมไฟระบบโซลาร์เซลล์ นั้นจะฟังเสียงของสภาสันติสุขเป้นสำคัญ โดยไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และไม่ประสานแผนกับองค์กรท้องถิ่น ดังนั้น บางครั้งจึงไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน และขาดการตรวจสอบ
ที่ประชุมขอให้ช่วยกันประณามการใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ และขอให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริตและไม่เลือกปฏิบัติ