Skip to main content

 

"จากอิสลามการเมือง...สู่...ประชาธิปไตยอิสลาม" (ตอนที่ 1)

---------------------------

สรุปสาระสำคัญจากบทความของชัยค์รอชิด ฆอนนูชีย์ รองประธานสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ ( International Union of Muslim Scholars ) และหัวหน้ากลุ่มนะฮ์เฎาะฮ์ ตูนีเซีย

-------------------------------

 

 

การที่พรรคหะรอกะฮ์นะฮ์เฎาะฮ์ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่ใหญ่และทรงอิทธิพลที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลกอาหรับ และเป็นกลุ่มหลักในการทำให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นในตูนีเซีย ได้ประกาศเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ จากกลุ่มนักเคลื่อนไหวอิสลาม ที่จัดตั้งขึ้นในปี 1980 ทำงานด้านสังคม การศึกษา ขัดขืนคำสั่งของรัฐบาลเผด็จการในยุคนั้นที่กดขี่ทางศาสนาอย่างรุนแรง กลายเป็นพรรคการเมืองที่ตัดขาด งดเว้นจากกิจกรรมอื่นๆทั้งหมดยกเว้นการเมือง

ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ ปี 2014 ของตูนีเซียที่สมาชิกพรรคได้มีส่วนร่วมในร่างด้วย ได้ประกันเสรีภาพในการนับถือและปฏิบัติศาสนกิจ รวมถึงการรักษาวัฒนธรรมอาหรับ จึงไม่มีเซคคิวลาร์ที่จะมาขัดขวาง กดขี่ศาสนาอิสลาม ทางกลุ่มจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้เพื่อการนี้อีก

 

ทั้งนี้ ในเมื่อความเป็นมุสลิมได้กำหนดกรอบการทำงานของเราไว้ การที่จะชี้ชัดว่าตูนีเซียใช้ปรัชญาเซคคิวลาร์หรืออิสลาม เป็นสังคมมุสลิมหรือสังคมเซคคิวลาร์จึงไม่มีความจำเป็น เพราะรัฐธรรมนูญได้กำหนดบทบาทของศาสนาอิสลามไว้ชัดเจนแล้ว ความคาดหวังของชาวตูนีเซียในยุคประชาธิปไตยจึงเกี่ยวข้องกับการแสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งพรรคหะรอกะฮ์นะฮ์เฎาะฮ์ ซึ่งเป็นพรรคที่มีส่วนร่วมเล็กๆในรัฐบาลผสม ตระหนักและนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่างๆที่ชาวตูนีเซียปัจจุบันเผชิญอยู่

ผลจากการระดมสมองประเมินตนเองอยู่เสมอ นับตั้งแต่ได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นเมื่อ 35 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการสอบถามความคิดเห็นสมาชิกกลุ่ม สมาชิกส่วนใหญ่มากกว่า 80 % เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามบริบทตูนีเซียที่เปลี่ยนแปลงจากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย บริบทความขัดแย้งและความรุนแรงในภูมิภาคอาหรับ ซึ่งหลายครั้ง มีความซับซ้อนยุ่งยากอันเนื่องจากการตีความถึงความสัมพันธ์ที่ถูกต้องเหมาะสมระหว่างศาสนาและการเมือง รวมถึงการพิสูจน์ให้เห็นว่าอิสลามสามารถไปด้วยกันได้กับประชาธิปไตย กลุ่มอิสลามสามารถมีบทบาทที่ส้างสรรค์ในการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้

กลุ่มนะฮ์เฎาะฮ์เดิมชื่อว่า กลุ่มอิตติญาฮ์อิสลามีย์ ใช้แนวคิดของหะซัน บันนา ผู้นำอิควานอียิปต์ และมุศตอฟา สิบาอีย์ ผู้นำอิควานสาขาซีเรีย ต่อมาได้รับแนวคิดของ มาลิก บินนบี นักคิดจากมหาวิทยาลัยซัยตูนะฮ์ ตูนีเซีย และมุฮัมมัดตอเฮร์ บินอาชูร บิดาแห่งศาสตร์ด้านเจตนารมณ์กฎหมายอิสลาม โดยเปลี่ยนมาใช้ชื่อนะฮ์เฎาะฮ์ในคราวจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองในยุคบินอาลี

จากการทำงานเพื่อศาสนาและสังคม ทำให้กลุ่มถูกกดขี่บีฑาโดยรัฐบาลเเผด็จการ ทั้งโดนฆ่าและจำคุกมากมาย ทั้งในยุคของบูรกีบะฮ์ และบินอาลี

ในปี 2010 เกิดเหตุการณ์ประท้วงใหญ่จนสามารถโค่นอำนาจเผด็จการบินอาลี ลงไปได้ โดยทางกลุ่มได้เข้าร่วมประท้วงในครั้งนี้กับชาวตูนีเซียทั่วไป และไม่ได้ใช้นามของสมาชิกกลุ่ม

หลังจากนั้น ในปี 2011 มีการเลือกตั้ง กลุ่มนะฮ์เฎาะฮ์ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย จึงได้ร่วมกับพรรคเซคคิวลาร์ 2 พรรค ในการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ นับเป็นครั้งแรกในโลกอาหรับที่กลุ่มอิสลามกับกลุ่มเซคคิวลาร์สามารถจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติร่วมกันได้

และเกิดความวุ่นวาย การลอบสังหารหลายๆครั้ง ประชาธิปไตยที่กำลังตั้งไข่จึงมีโอกาสถูกโค่นล้มได้ตลอดเวลา

......

(มีต่อ)