Skip to main content

 

Original Link Clik Here .

 

 

เครือข่ายประชาชนภาคใต้เสนอทบทวนบทบาทประธาน กสม.หลังห้ามอ่านแถลงการณ์ในที่ประชุม

 

เครือข่ายภาคประชาชนกว่า 100 คน เดินออกจากเวทีที่กรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นเจ้าภาพและจัดขึ้นเพื่อรับฟังปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ หลังจากนายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตะโกนห้ามตัวแทนภาคประชาชนอ่านแถลงการณ์ปัญหาสิทธิมนุษยชนในที่ประชุม ขณะที่ประธาน กสม. ชี้ภาคประชาชนทำผิดข้อตกลง

 

เหตุการณ์ที่นำมาสู่ความไม่พอใจของประชาชนที่เข้าร่วมประชุมเกิดขึ้นราวเที่ยงของวันนี้ เมื่อนายสมบูรณ์ คำแหง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ หรือ กป.อพช.ใต้ กำลังจะอ่านแถลงการณ์ “หยุดการดำเนินนโยบาย โครงการหรือกิจการที่ละเมิดสิทธิชุมชนในภาคใต้” บริเวณห้องประชุมที่ กสม. จัดขึ้นเพื่อพบปะประชาชน ที่ จ. สงขลา แต่นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. ออกมาตะโกนห้าม ทำให้ประชาชนที่เข้าร่วมประชุมไม่พอใจ พากันเดินออกจากที่ประชุมและบางส่วนระบุว่า จะเพิ่มข้อร้องเรียนลงไปในแถลงการณ์ที่อ่านไปแล้ว เสนอให้กสม. โดยเฉพาะ ประธาน กสม. ที่ต้องรับฟังประชาชนให้มากขึ้น ไม่ใช่พูดแค่หลักการ

 

นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เผยว่า พฤติกรรมของนายวัสในวันนี้ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งประธาน กสม. ทั้งๆ ที่งานนี้เป็นงานที่มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนได้แสดงออก และเนื้อหาที่จะแถลงเป็นการแสดงออก ไม่ได้โจมตีฝ่ายใด จึงอยากเสนอให้ปลดประธาน กสม. ออกจากตำแหน่ง

 

ด้านประธาน กสม. กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ได้ทราบเรื่องว่าตัวแทนภาคประชาชนต้องการอ่านแถลงการณ์ในที่ประชุม และหลังจากได้รับการยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง ก็คิดว่าสามารถทำได้และตนยินดีที่จะรับฟัง แต่ขอให้จบจากวาระการประชุมก่อน เพราะในที่ประชุมมีการออกอากาศสดทางวิทยุ ส่วนการตะโกนห้ามประชาชนอ่านแถลงการณ์นั้น นายวัสกล่าวว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นไปแล้ว ย้อนกลับไม่ได้ แต่ชี้ว่าประชาชนที่เข้าร่วมประชุมทำผิดข้อตกลงแต่กลับมาเรียกร้องให้คนอื่นทำอย่างที่ต้องการ

 

สำหรับแถลงการณ์ดังกล่าวระบุปัญหา 6 ประเด็นที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้คือ นโยบายการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ และโรงไฟฟ้าชีวมวล นโยบายการทวงคืนผืนป่าที่ได้มีการตรวจยึดพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชุมชนอย่างไม่แยกแยะ การละเลยไม่คุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ภาคใต้ ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล กลุ่มมันนิ (ซาไก) และสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังไม่มีแนวทางหรือทางออกในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ

 

แถลงการณ์ระบุให้รัฐบาลทบทวนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาวจากโครงการดังกล่าว และต้องใช้กระบวนการทางกฎหมาย หรือข้อระเบียบต่าง ๆ ในการกลั่นกรองก่อนการดำเนินโครงการอย่างรอบด้าน เพราะอาจจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต