"จากอิสลามการเมือง...สู่...ประชาธิปไตยอิสลาม" (ตอนที่ 2 ตอนจบ)
---------------------------
สรุปสาระสำคัญจากบทความของชัยค์รอชิด ฆอนนูชีย์ รองประธานสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ ( International Union of Muslim Scholars ) และหัวหน้ากลุ่มนะฮ์เฎาะฮ์ ตูนีเซีย
-------------------------
ท่ามกลางความวุ่นวายดังกล่าว พรรคหะรอกะฮ์ ฯ ได้เลือกการประนีประนอม แม้ว่าพรรคจะมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด แต่เพื่อความสงบของบ้านเมือง ให้ฝ่ายปฏิวัติประชาชนสามารถดำรงอยู่ได้ พรรคก็ยินดีเสียสละอำนาจปกครองให้แก่กลุ่มแทคโนแครตที่เป็นคนกลาง ยอมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบการปกครองแทนการหันหลังไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองหรือการต่อสู้ด้วยความรุนแรง
พรรคเสียสละยอมให้ตัดถ้อยคำ "หลักชะรีอะฮ์เป็นที่มาหนึ่งของกฎหมาย" ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ยืนยันในเรื่องการเป็นนิติรัฐ สิทธิทางแพ่ง สิทธิทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และยังยอมให้ใช้ระบบประธานาธิบดีผสมระบบรัฐสภา ทั้งๆที่พรรคเห็นด้วยกับระบบรัฐสภามากกว่า
ต่อมา ในการเลือกตั้งปี 2014 พรรคแพ้การเลือกตั้งให้แก่พรรคเสียงตูนีเซีย ซึ่งเป็นฝ่ายขวากลาง ตั้งขึ้นในปี 2012 พรรคได้เข้าร่วมในรัฐบาลผสมในฐานะหุ้นส่วนเล็กๆ เพื่อการส่วนในการสถาปนารัฐธรรมนูญที่มั่นคง แม้ว่าจะมีความเห็นไม่สอดคล้องกันทุกเรื่องไป แต่ความเป็นพันธมิตรก็ยังอยู่ เป็นบริบททางการเมืองของพรรคหะรอกะฮ์นะฮ์เฎาะฮ์ สำหรับการก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยอิสลามของตูนีเซีย
การแยกระหว่างศาสนากับรัฐ
ในการประชุมพรรคครั้งที่ 10 เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากที่พิจารณาแล้วว่าตูนิเซียผ่านพ้นยุคเผด็จการสู่ยุคประชาธิปไตย เสรีภาพทางศาสนาได้รับการประกัน พรรคมีมติยกเลิกงานด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นงานสังคม การศึกษา วัฒนธรรมหรืออื่นๆ ยกเว้นงานด้านการเมือง พรรคเห็นว่าควรแบ่งพันธกิจของแต่ละองค์กรให้ชัดเจน ไม่ควรมีพรรคการเมืองที่อ้างตนว่าเป็นตัวแทนทางศาสนา เพราะพรรคเชื่อว่า นักการเมืองไม่เหมาะที่จะไปดำรงตำแหน่งในองค์กรทางศาสนาหรือองค์กรการกุศล องค์กรทางศาสนาควรเป็นองค์กรอิสระและเป็นกลาง ไม่ควรที่จะมีมัสยิดหรือผู้นำศาสนาที่สังกัดพรรคการเมือง พรรคเชื่อว่ามัสยิดควรเป็นสถานที่สร้างสรรค์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ไม่ใช่สถานที่แบ่งแยกสร้างความห่างเหิน
การแยกระหว่างศาสนากับการเมืองในลักษณะดังกล่าว จะทำให้บุคลากรด้านศาสนาที่ทำงานเต็มเวลามีโอกาสพัฒนาตนเองให้มีขีดความสามารถให้ทันต่อเหตุการณ์ และขั้นตอบโจทย์สังคมร่วมสมัยได้ เนื่องจากสภาพการขาดบุคลากรดังกล่าว ในยุคกดขี่ข่มเหงทางศาสนาในอดีต ไม่มีองค์กรใดที่เผยแพร่ศาสนาอิสลามสายกลาง ไม่สุดโต่ง กลุ่มนะฮ์เฎาะฮ์ในยุคนั้นจึงต้องทำงานอย่างหนัก
การประชุมพรรคครั้งนั้นมีมติด้านยุทธศาสตร์ที่มีเป้าประสงค์เพื่อเอาชนะอุปสรรคปัญหาระดับชาติของตูนีเซีย โดยเน้นการร่างรัฐธรรมนูญ ความเป็นธรรมช่วงเปลี่ยนผ่าน การปฏิรูปหน่วยงานของรัฐ การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ การผนึกกำลังหลายมิติและหลายฝ่ายเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย และธรรมาภิบาลองค์กรศาสนาอิสลาม
ปัจจุบันพรรคไม่ได้ถูกมองว่าเป็นพรรคศาสนาอิสลาม แต่เป็นพรรคของมุสลิมที่เป็นนักประชาธิปไตย ที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาของชาวตูนีเซียด้วยหลักการอิสลาม
ในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ พรรคฯจะเน้นการสานเสวนาเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจบนหลักการ "ทุนนิยมที่มีมนุษยธรรม" ซึ่งหมายถึงระบบเศรษฐกิจเสรี ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียมกันทางสังคมและโอกาส
รวมถึงการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยุทธ์ศาสตร์ การให้สถาบันการเงินเปิดโอกาสทางการลงทุนแก่ผู้ประกอบการใหม่ การลงทุนขนาดเล็ก และส่งเสริมผู้ประกอบการวัยหนุ่มสาว และปฏิรูปการศึกษาให้ตอบสนองความต้องการของตลาด
นอกจากนั้น พรรคยังเชื่อว่าการพัฒนาประชาธิปไตยในตูนีเซียยังขึ้นอยู่กับการกำจัดอุปสรรคที่มาขัดขวางบทบาทสตรีในทุกๆด้าน การส่งเสริมความเสมอภาคและรักษาสิทธิของสตรี ในการนี้พรรคได้เรียกร้องให้แต่ละพรรคเสนอบัญชีรายชื่อผู้สมัครชายและหญิงจำนวนเท่ากัน และให้เพิ่มวันลาหยุดงานแก่แม่ที่คลอดบุตรมากขึ้น
การที่ไอสิสมีผู้เข้าร่วมมากมายก็เพราะสังคมมุสลิมทั่วไปในโลกอาหรับถูกกีดกันและตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง เมื่อไอสิสมาพร้อมกับความหวัง กลุ่มเยาวชนจึงตอบรับกันอย่างกว้างขวาง
ฉะนั้น การกวาดล้างกลุ่มไอสิสให้สิ้น จึงไม่ใช่การใช้ความรุนแรง แต่เป็นการสถาปนาประชาธิปไตยอิสลามที่เคารพสิทธิส่วนบุคคล ความเสมอภาคในด้านสังคมและเศรษกิจ รวมถึงการทำนุบำรุงวัฒนธรรมและค่านิยมอาหรับและอิสลาม
(จบ)
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
"จากอิสลามการเมือง...สู่...ประชาธิปไตยอิสลาม" (ตอนที่ 1) โดย ชัยค์รอชิด ฆอนนูชีย์