เผยแพร่วันที่ 2 กันยายน 2553
ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำพิพากษาชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาในคดีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง
ระบุศาลยุติธรรมไม่มีอำนาจ ต้องฟ้องที่ศาลทหาร
วันนี้ วันที่ 2 กันยายน 2552 เวลา 9.00 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้นัดอ่านคำพิพากษาชั้นไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญา หมายเลขดำที่ 1611/2552 ระหว่าง นางนิม๊ะ กาเซ็ง เป็นโจทก์ ฟ้องพันตรีวิชา ภู่ทอง จำเลยที่ 1 ร้อยตรีสิริเขตต์ วาณิชบำรุง จำเลยที่ 2 จ่าสิบเอกเริงณรงค์ บัวงาม จำเลยที่ 3 สิบเอกณรงค์ฤทธิ์ หาญเวช จำเลยที่ 4 สิบเอกบัณฑิต ถิ่นสุข จำเลยที่ 5 และพันตำรวจเอกทนงศักดิ์ วังสุภา จำเลยที่ 6 ข้อหา ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด กักขังหน่วงเหนี่ยว เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
ศาลมีคำพิพากษาสองส่วนคือ ส่วนที่หนึ่งศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกข้อกล่าวหา สำหรับข้อหาที่โจทก์กล่าวหาว่าการนำตัวนายยะผา กาเซ็งกับพวก มาแถลงข่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ศาลให้เหตุผลว่าระเบียบดังกล่าวไม่ใช่กฎหมาย อีกทั้งรัฐธรรมนูญไม่มีบทลงโทษ จึงไม่มีผลบังคับใช้กับจำเลยที่ 6 ได้ ส่วนการที่จำเลยที่ 6 นำรถยนต์บรรทุกผู้ต้องหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้เป็นที่คุมขัง ควบคุมตัวนายยะผา กาเซ็ง ผู้ตายกับพวก ภายในหน่วยเฉพาะกิจที่ 39 ก็เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก
ส่วนที่สองศาลพิพากษาไม่รับฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมดโดยเหตุผลว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ศาลจังหวัดนราธิวาสจึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความและระบุว่า หากโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 5 ให้นำคดีไปยื่นฟ้องต่อศาลทหารที่มีเขตอำนาจ โดยในคำฟ้องให้แจ้งต่อศาลทหารด้วยว่าเคยฟ้องต่อศาลนี้แล้ว และศาลมีคำสั่งไม่รับ พร้อมกับให้แนบสำเนาคำพิพากษาและรายงานกระบวนพิจารณาคดีนี้ในท้ายคำฟ้องด้วย
โจทก์เคารพในคำพิพากษาของศาลจังหวัดนราธิวาสแต่ไม่อาจเห็นพ้องด้วยจึงจะได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลต่อไป
คดีนี้เป็นคดีแรกในจังหวัดชายแดนใต้ที่ผู้เสียหายที่เป็นประชาชนได้ใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรมฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐเป็นคดีอาญาเนื่องจากถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมตัวเพื่อให้ได้ซึ่งคำรับสารภาพหรือข้อสนเทศจากผู้ถูกควบคุมตัว จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกควบคุมตัวเสียชีวิต อันเป็นการกระทำที่มีความผิดตามกฎหมายอาญา และเป็นความผิดตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment-CAT) ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง และไม่อาจยอมรับได้ซึ่งจากคำพิพากษาของศาลจังหวัดนราธิวาส พิพากษาว่าหากโจทก์มีความประสงค์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 5 โจทก์จะต้องไปยื่นฟ้องต่อศาลทหารที่มีเขตอำนาจนั้น โจทก์เห็นว่าการที่ราษฎรจะนำคดีไปฟ้องต่อศาลทหารนั้นไม่สามารถกระทำเองได้ แต่จะต้องให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้ทำสำนวนคดีส่งให้อัยการศาลทหารเป็นผู้ยื่นฟ้องเท่านั้น ซึ่งขณะนี้สำนวนการสอบสวนในคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้ส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้ดำเนินการสืบสวนสอบสวน แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าว่า ป.ป.ช. จะดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จและส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการศาลทหารเพื่อฟ้องคดีต่อศาลทหารได้เมื่อใด และใช้เวลาดำเนินการมานานแล้ว จึงถือว่าคดีนี้มีความล่าช้าเป็นอย่างมาก ซึ่งตรงกับคำกล่าวที่ว่า กระบวนการยุติธรรมที่ล้าช้าก็คือความอยุติธรรม
ที่ศาลมีคำพิพากษาว่า การนำตัวนายยะผา กาเซ็งกับพวก มาแถลงข่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ศาลให้เหตุผลว่าระเบียบดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายอีกทั้งรัฐธรรมนูญไม่มีบทลงโทษ จึงไม่มีผลบังคับใช้กับจำเลยที่ 6 ได้นั้นโจทก์จะใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลจังหวัดนราธิวาส เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ในคดีอาญาต้องสันนิฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด อีกทั้งสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายว่าผูกพันศาลและหน่วยงานของรัฐโดยตรง ในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง ซึ่งตามฟ้องของโจทก์ที่กล่าวหาจำเลยที่ 6 ว่าการนำตัวนายยะผา กาเซ็งกับพวกที่เป็นเพียงผู้ต้องสงสัยไปแถลงข่าวนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติและรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด จึงถือว่าจำเลยที่ 6 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามีบทลงโทษไว้อย่างชัดแจ้งที่สามารถลงโทษจำเลยที่ 6 ได้
ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นภรรยาของนายยะผา กาเซ็งจะใช้สิทธิในการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมให้ถึงที่สุดต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติม
เนื่องจากเหตุคดีนี้ ศาลจังหวัดนราธิวาส ได้ไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายยะผา กาเซ็ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อช.9/2551 และมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ว่าผู้ตายคือ นายยะผา กาเซ็ง ตายที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม หมู่ที่ 2 ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551 เนื่องจากผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา ระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ซึ่งนางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ในฐานะผู้เสียหายได้เคยร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนแล้ว แต่พนักงานสอบสวนทำหน้าที่ล่าช้า นางนิม๊ะ กาเซ็ง จึงนำคดีมาฟ้องเองต่อศาลจังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2552 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1611/2552