การประชุมปางโหลงแห่งศตวรรษที่ 21: การเจรจาสันติภาพในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองของเมียนมา
ในวันพรุ่งนี้ (31 ส.ค.) รัฐบาลเมียนมาเตรียมเปิดการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อหาทางยุติความขัดแย้งที่ดำเนินมาร่วมครึ่งศตวรรษ และนับเป็นการเจรจาสันติภาพอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับตั้งแต่พรรคเอ็นแอลดีภายใต้การนำของนางออง ซาน ซูจี เข้าทำหน้าที่รัฐบาลตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าการเจรจาคงยากที่จะประสบผลสำเร็จอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ก็ถือเป็นจุดหักเหสำคัญ ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของเมียนมา
การประชุมครั้งนี้จะจัดขึ้นเป็นเวลา 5 วัน โดยนอกจากบุคคลสำคัญในกองทัพเมียนมาแล้ว นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จะเข้าร่วมหารือกับบรรดาผู้แทนของกองกำลังชนกลุ่มน้อย 17 กลุ่ม จากทั้งหมด 20 กลุ่มด้วย โดยชนกลุ่มน้อยเหล่านี้คิดเป็นจำนวนราว 40% ของประชากรเมียนมา
ความขัดแย้งระหว่างกองทัพเมียนมาและกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งต้องการปกครองตนเองดำเนินมาหลายสิบปี บั่นทอนความมั่นคงของเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศอย่างมาก เช่นการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลของกลุ่มชาวกะเหรี่ยง เริ่มขึ้นหลังจากเมียนมาพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษเมื่อปี 2491ได้ไม่นาน ขณะที่การสู้รบในพื้นที่ทางภาคเหนือซึ่งเป็นที่มั่นของกองกำลังคะฉิ่น ส่งผลให้ประชาชนต้องละทิ้งบ้านเรือนไปแล้วกว่า 100,000 คน นับตั้งแต่ปี 2554 และมีอีกราวแสนคนต้องอพยพลี้ภัยไปอยู่ในค่ายผู้อพยพในไทย
นางออง ซาน ซูจี ในฐานะมนตรีแห่งรัฐ ได้รับปากจะให้ความสำคัญกับการเจรจาสันติภาพ ในทันทีที่รัฐบาลของนางขึ้นปกครองประเทศ โดยหวังจะสร้างความคืบหน้า ต่อยอดจากการเจรจาสันติภาพภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลทหารชุดที่ผ่านมา ซึ่งสามารถตกลงหยุดยิงกับกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มได้ แต่ในเวลาเดียวกัน การสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลกับกองกำลังคะฉิ่นในรัฐฉาน ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
ในการเจรจาสันติภาพครั้งนี้ กลุ่มชาติพันธุ์หลัก ๆ อย่างกะเหรี่ยง คะฉิ่น ฉาน และว้า จะเข้าร่วมด้วย แต่ยังมีกลุ่มย่อยอย่างน้อย 3 กลุ่มไม่เข้าร่วม คือกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง และกองทัพอาระกัน ซึ่งยังไม่ได้ลงนามข้อตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลที่แล้ว
ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช แห่งโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยคอร์แนล บอกกับบีบีซีไทยว่า แม้การเจรจาสันติภาพครั้งนี้อาจไม่ประสบผลสำเร็จโดยสมบูรณ์ แต่ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการเมืองเมียนมาระยะเปลี่ยนผ่าน และมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 3 ประการคือ 1) เป็นการสร้างรัฐ โดยเป็นเวทีเบิกทางไปสู่การออกแบบโครงสร้างสหพันธรัฐ เช่น ให้เมียนมามีรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐ มีการกระจายอำนาจ 2) เป็นการสร้างชาติ โดยเป็นเวทีใหญ่สำหรับกระบวนการปรองดองแห่งชาติและสมานฉันท์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องแนวคิดชาตินิยม ซึ่งปัจจุบันมีทั้งแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งที่นำโดยกลุ่มชาวพุทธนิยมเชื้อสายพม่าแท้ กับแนวคิดชาตินิยมเชิงโต้กลับของกลุ่มชาติพันธุ์ที่นำโดยขบวนการกู้ชาติของชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ 3) เป็นการสร้างสันติภาพ โดยเยียวยาประวัติศาสตร์การสู้รบในอดีต และทำให้การหยุดยิงเป็นรูปธรรมมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ผศ.ดุลยภาค เห็นว่าการเจรจาครั้งนี้น่าจะยืดเยื้อหาข้อสรุปได้ยาก แต่ก็จะเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การประชุมรอบใหม่ เนื่องจากวาระการประชุมอาจมีหลายประเด็น ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละคนมีทักษะในการเจรจาที่แตกต่างกัน รวมทั้งยังขึ้นอยู่กับความจริงใจของผู้เข้าร่วม ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายรัฐบาล กองทัพ และกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อย ทั้งที่ลงนามในสัญญาสันติภาพและยังไม่ได้ลงนาม ซึ่งบางกลุ่มยังคงปะทะกับกองทัพเมียนมา นอกจากนี้ยังมีประชาคมนานาชาติ องค์กรสันติภาพต่าง ๆ พรรคการเมือง และองค์กรประชาสังคมเข้าร่วมด้วย
ผศ.ดุลยภาคกล่าวด้วยว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านรัฐและสังคมเมียนมา โดยการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในรัฐที่มีหลายชาติพันธุ์ หรือในสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งร้าวลึก มักจะยืดเยื้อและใช้เวลายาวนาน แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ และเป็นสิ่งที่น่าคิดต่อว่า รัฐไทยจะมีกิจกรรมการประชุมเจรจาที่เป็นจุดหักเหคลี่คลายทางการเมืองในลักษณะนี้ได้บ้างหรือไม่
#MyanmarPeacetalk