Skip to main content

อิมรอน   โสะสัน  

            ในระยะหลังๆมานี้ผมเริ่มให้ความสนใจกับเรื่อง “ภาวะผู้นำ” (Leadership)  เป็นการเฉพาะ ด้วยเหตุผลสองประการคือ เป็นความสนใจส่วนตัวที่ต้องการศึกษาศาสตร์นี้ให้ลึกถึงแก่นในฐานะนักวิชาการด้านบริหารรัฐกิจ และการจัดการ กับประการที่สอง เป็นเพราะปรากฏการณ์ทางสังคม (Social Phenomena) ที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องหันมาใส่ใจการศึกษาภาวะผู้นำของคนในสังคมอย่างจริงจังอีกครั้ง

            ผมขอสารภาพในที่นี้ว่า สิ่งที่ผมคิดและวิตกตลอดเวลาว่าวันหนึ่งในพื้นที่ “ภาคอีสาน” จะมีการประท้วง ต่อต้าน ไม่เห็นด้วยกับการสร้างศาสนสถานในพื้นที่ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนพหุวัฒนธรรม” แห่งหนึ่งของประเทศไทยจะเกิดขึ้น แต่มันเองก็หลีกหนีความเป็นจริงไปไม่พ้น การเริ่มเห็นการรวมตัวของกลุ่มคนไม่กี่คนที่ออกมาต่อต้าน ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างศาสนสถานของชาวมุสลิม ย่อมมีเหตุผลมากพอที่จะให้พวกเขาแสดงออก และใช้สื่อรูปแบบต่างๆเพื่อการปลุกร้าว สร้างความหวาดระแวงให้เกิดขึ้น โดยส่วนตัว ผมเห็นว่าปรากฏการณ์นี้มีประเด็นน่าสนใจและน่าวิตกในเวลาเดียวกัน ซึ่งผมจะพยายามวิเคราะห์การปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมและเพื่อนต่างศาสนิกในภูมิภาคเพื่อทำความเข้าใจว่าภาคอีสานเดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

1) ภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มีประชากรมุสลิมอาศัยมามากกว่า 100 ปี ชาวมุสลิมกับชาวบ้านทั่วไปได้อาศัยแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกันมาด้วยความเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือกัน ถึงแม้ว่าภาคอีสานจะมีจำนวนประชากรไม่มากประมาณไม่เกิน 30,000 คน เมื่อสะท้อนประชากรอีสานกว่า 21 ล้านคน การปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาก็เกิดขึ้นในหลายรูปแบบ อาทิ การข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรมผ่านการแต่งงาน จนกลายเป็นเครือญาติใกล้ชิดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งปัจจัยนี้ทำให้เกิดความคุ้นเคย รู้จักระหว่างชาวมุสลิมกับชาวบ้านอื่นๆอย่างเป็นระบบและเป็นปึกแผ่นมากขึ้น

2)  ในหลายชุมชน หลายพื้นที่ ชาวมุสลิมได้รับการยอมรับจากเพื่อนต่างศาสนิกว่า เป็นผู้ที่จะเป็นตัวแทนของพวกเขาในการรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม บางชุมชนมีมุสลิมไม่กี่ครอบครัวก็สามารถได้รับความไว้วางใจจนได้รับเลือกเป็นนักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองระดับชาติ ก็มีให้เห็นมากขึ้น นั่นเป็นเพราะมุสลิม “ได้แสดงถึงการเป็นผู้ให้” ต่อผู้อื่นด้วย

3) ชาวมุสลิมมีความสามารถในเชิงการค้า การลงทุนสูง ทำให้หลายพื้นที่พวกเขาได้กลายเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง เจ้าของกิจการเนื้อกระบือ เนื้อโค และอื่นๆที่เป็นอาชีพที่พอเลี้ยงตัวเองและสามารถจ้างงานคนในพื้นที่ให้พวกเขามีงานทำจำนวนไม่น้อย

4) ชาวมุสลิมไม่น้อยที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในฐานะข้าราชการ พนักงานรัฐเพื่อทำหน้าที่คอยให้บริการแก่ชาวบ้านทั่วไป โดยพวกเขาเองก็ตระหนักตลอดเวลาว่า นี่คือภารกิจของความเป็น “พลเมือง” ของพวกเขาที่จะต้องทำหน้าที่ให้ดีเท่าที่จะทำได้ จนทำให้หลายคนได้รับการขึ้นตำแหน่งสูงๆในหน่วยงานของพวกเขา เป็นเพราะว่าเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง ตลอดจนผู้บังคับบัญชาเห็นว่ามุสลิมคนนั้นมีความเหมาะสมกับตำแหน่งที่ควรค่า

5) มัสยิดหลักแรกของชาวมุสลิมที่ก่อสร้างขึ้นอย่างเป็นทางการเท่าที่พอมีข้อมูลคือประมาณ ปี 2506 หรือ 53 ปีผ่านมา จากนั้นจนถึงปัจจุบันได้มีการก่อสร้างมัสยิดตามชุมชน จังหวัดต่างๆเรื่อยมามากกว่า 50 มัสยิด “มัสยิดกับชาวอีสาน” จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ไกลตัวพวกเขาอีกต่อไป เพราะทุกครั้งที่มีการก่อสร้างมัสยิด ผู้รับเหมาและคนงานเกือบทั้งหมดเป็นชาวบ้านต่างศาสนิกที่ทำการดูแล ควบคุมการก่อสร้าง อีกทั้งในพิธีเปิดมัสยิดก็จะมีการเรียนเชิญผู้ว่าราชการ รองผู้ว่าราชการ หัวหน้าส่วนงานราชการ นักการเมืองท้องถิ่น ระดับชาติ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่เกี่ยวข้องเป็นเจ้าภาพจัดพิธีเปิดมัสยิดอย่างเป็นทางการและต่อเนื่องแทบจะทุกชุมชม ที่สำคัญมัสยิดเกือบทุกหลังก็ได้จดทะเบียนอย่างเป็นทางการกับรัฐ นั่นแสดงว่าชาวมุสลิมในอีสานได้ให้ความสำคัญกับการรักษาความเรียบร้อยของรัฐเพื่อให้การก่อสร้างมัสยิดเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายแห่งรัฐ

6) ในระยะหลังๆมีการอพยมเคลื่อนย้ายของชาววมุสลิมจากภาคอื่นๆเข้ามาเป็นระรอก ซึ่งอันที่จริงแล้วก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติของการอพยพย้ายถิ่นเข้ามาทำงานหรือเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่ พวกเขาเองก็จำเป็นต้องจากบ้านเกิดเข้ามาในอีสาน ทั้งๆที่รู้ว่าอีสานมีมุสลิมไม่มาก แต่พวกเขาได้พิจารณาเห็นว่าภาคอีสานคือ “โอกาสในชีวิตของพวกเขา” ทำให้พวกเขาสามารถตัดสินใจได้ไม่ยากเย็นนัก ซึ่งจะเห็นว่า ในอดีต มุสลิมรุ่นแรกๆก็ได้อพยพย้ายถิ่นเข้ามาในลักษณะเดียวกัน แต่ความต่างกันอยู่ที่ “บริบทของสังคมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร” จากโลกข้างนอกย่อมเปลี่ยนไป จนเกิดการตั้งคำถามถึงการเข้ามาของชาวมุสลิมในเวลาต่อมา เช่น การอพยพย้ายถิ่นของมุสลิมโรฮิงยาส์ มุสลิมจากภาคอื่นๆของไทย ว่าคนเหล่านี้จะมีส่วนเกี่ยวโยงกับความรุงแรงที่ชาวบ้านเข้าใจมากน้อยเพียงใด ซึ่งอันที่จริง ก็ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่ามีความเกี่ยวโยงอย่างไร เป็นเพียงการคาดเดาบน “พื้นที่ของความหวาดระแวง ความสงสัย” เท่านั้น

7) ในชีวิตประจำวัน การอยู่ร่วมกันของชาวมุสลิมกับเพื่อนต่างศาสนิกย่อมเกิดการกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดา เช่น ลูกหลานทะเลาะกันบ้าง แย่งขนมกันบ้าง ดุด่ากันบ้าง แต่สิ่งเหล่านี้คือภาวะปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้เป็นประจำในแต่ละวันทั้งในโรงเรียน และในชุมชนของพวกเขา ซึ่งทางออกที่ผ่านมาคือการเข้าไปพูดคุย ขอโทษกันของผู้ปกครอง และเด็กๆ จากนั้นก็กลับไปวิ่งเล่นกันได้เหมือนเดิม

8) การตั้งข้อสงสัยว่า “มัสยิด” คือแหล่งรวมตัวของมุสลิมที่จะทำการรุกคืบชุมชนต่างๆเพื่อยึดพื้นที่และสถาปนาชุมชนมุสลิมขึ้น ย่อมไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยจะเกิดขึ้น เพราะรูปแบบความคิดในลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วในพื้นที่อื่นๆของประเทศ และต่างประเทศ แน่นอนย่อมส่งผลไม่น้อยกับพื้นที่อื่นๆ ดังนั้น จึงไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ผิดปกติมากนัก

แต่....ที่แปลกสำหรับผมคือ ความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่ตลอดระยะเวลาการอยู่ร่วมกันของชาวมุสลิมกับเพื่อนต่างศาสนิกมากกว่าร้อยปีได้ถูกท้าทายอย่างหนัก ด้วยรูปแบบความเข้าใจ การเรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่านสื่อต่างๆที่มีข้อจำกัดในการสื่อสารมากมาย และยากที่จะแก้ไข ผลที่ตามมาคือ “ความเปราะบางในความสัมพันธ์ของคนในชุมชน และอนาคตที่จะอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข”

            จากการวิเคราะห์ ทำให้ค้นพบว่า “ปัจจัยตัวหนึ่ง” ที่ช่วยให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมและเพื่อนต่างศาสนิกให้สามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างปกติ (หมายถึงอาจมีทะเละเบาะว้างกันได้บ้าง แต่ไม่ถึงกับยกพวกตีกัน) คือ “ผู้นำ (และผู้ตาม) ในแต่ละชุมชน” ผู้นำที่เป็นทั้งผู้นำทางศาสนา ผู้นำทางการเมือง การปกครอง หรือผู้นำโดยธรรมชาติที่พวกเขายกย่อง ยอมรับทั้งฝ่ายชาวพุทธ ชาวมุสลิม หรือชาวคริสต์ในบางชุมชน ผู้นำเหล่านั้นเป็นผู้ที่มี “ภาวะผู้นำ” เพียงพอที่ได้ช่วยกันอุดช่องว่างความสัมพันธ์และการปฏิสัมพันธ์อันเปราะบางระหว่างสมาชิกในชุมชน พวกเขาได้ช่วยกันสร้าง “บรรยากาศแห่งการอยู่ร่วมกัน” พวกเขามีความใกล้ชิดผูกโยงกับวิถีชุมชนต่อเนื่อง จนสามารถพิสูจน์ได้ว่า ความเป็นผู้นำของพวกเขามีพลังมากพอที่จะประคับประคอง  จุนเจือ เกื้อกูลให้ชุมชน สังคม ของพวกเขาได้เรียนรู้ เข้าใจอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง และพวกเขาก็สามารถยืนยันได้ว่า สมาชิกของพวกเขาสามารถสามารถเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับได้เช่นกัน

            ถึงเวลาแล้วที่จะช่วยกันสร้างภาวะผู้นำให้เกิดขึ้นกับผู้นำ (และผู้ตาม) ของสังคมไทยในทุกระดับอย่างจริงจัง เพราะถ้าผู้นำของสังคมไทยมีภาวะผู้นำที่เพียงพอต่อการ “เข้าใจความหลากหลายและความต่างของศาสนา วัฒนธรรม” อันเป็นองค์ประกอบของชุมชน สังคมของพวกเขา ปรากฎการณ์การไม่เห็นด้วยกับความหลากหลายในชุมชน อาจจะได้รับการแก้ไข ได้ทันท่วงทีมากขึ้น เพราะนั่นสื่อถึงวิกฤตของความเข้าใจต่อกันที่จะส่งผลไปอีกยาวนาน

ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องยอมรับว่า เรา...คนไทย...มีความหลากหลายมากกว่าที่เราคิด ... “ความสามารถในการบริหารความหลากหลายเพื่อสร้างความเข้าใจของชุมชนต่างวัฒนธรรม ต่างความเชื่อ” คือ “ความท้าทายต่อภาวะผู้นำ” สำหรับผู้นำในสังคมไทยทุกระดับภายใต้โลกยุคใหม่โดยสมบูรณ์....