Skip to main content

Original Link Clik Here .

 

พูดคุยสันติภาพภาคใต้เดินหน้าต่อได้หลังมารา ปาตานีกับตัวแทนรัฐบาลตกลงยอมรับกติกาการพูดคุย เผยประเด็นหารือเรื่องแรกคือสร้างพื้นที่ปลอดภัย

การพบปะหารือกันของทีมงานของสองฝ่ายภายใต้การจัดการของผู้อำนวยความสะดวกคือมาเลเซียในวันนี้ (2 ก.ย.) สรุปผลได้ภายในเวลาเพียงครึ่งวัน ข้อสรุปที่ได้ถือเป็นการประนีประนอมระหว่างสองฝ่ายในการจัดทำเอกสารทีโออาร์ (TOR: Terms of Reference) อันอาจเรียกได้ว่าเป็นกติกาการพูดคุยซึ่งปรับแก้ข้อความเสียใหม่หลังจากที่ฝ่ายรัฐบาลมีปัญหากับร่างเดิมจนทำให้หยุดชะงักกันไปนาน

หลังการพบปะกัน มาเลเซียเปิดเผยว่า ทั้งสองฝ่ายยังไม่พร้อมจะออกแถลงการณ์ร่วม แต่ว่าแต่ละฝ่ายต่างให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวด้วยตัวเอง ทีมพูดคุยของกลุ่มมารา ปาตานีออกแถลงการณ์สั้นๆมีใจความว่า การประชุมของสองฝ่ายตกลงยอมรับร่างทีโออาร์ล่าสุด ประการที่สอง ต่างตกลงในหลักการที่จะนำเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยมาหารือในการพบปะกันหนต่อไป ประการที่สาม ต่างยอมรับข้อเสนอจากคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ที่ขอให้มีการประเมินและหารือกันต่อไป และประการสุดท้าย การพบปะของคณะพูดคุยของสองฝ่ายในเวลานี้ยังถือว่าอยู่ในระดับไม่เป็นทางการต่อไป

ในช่วงบ่ายของวันนี้ คณะพูดคุยของมารา ปาตานีพบกับผู้สื่อข่าวที่กรุงกัวลาลัมเปอร์แต่ไม่มีหัวหน้าทีมพูดคุยคือมะสุกรี ฮารี รวมอยู่ด้วย โดยกล่าวว่าพวกเขาขานรับความต้องการของคนในพื้นที่ที่จะคุยเรื่องสร้างพื้นที่ปลอดภัย แต่นอกจากกลุ่มผู้หญิงแล้ว กลุ่มมารา ปาตานีอยากเห็นกลุ่มอื่น ๆ ที่ทำงานในพื้นที่นำเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติมในเรื่องของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยดังกล่าว สำหรับกระบวนการพูดคุยในเรื่องนี้ ทั้งสองฝ่ายจะยกร่างเอกสารตามแนวทางของฝ่ายตนในเรื่องของการสร้างพื้นที่ปลอดภัย แล้วจะมีการแลกเปลี่ยนเอกสารกัน หลังจากนั้นจึงจะตั้งคณะทำงานของแต่ละฝ่ายขึ้นมาเพื่อนัดหมายหารือกันต่อไป

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า คิดอย่างไรกับคำพูดของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บอกว่าไม่ยอมรับมารา ปาตานี หรือจะไม่ให้ความคุ้มครอง อาบูฮาฟิสซึ่งทำหน้าที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือสิ่งที่คณะของไทยพูดบนโต๊ะการพูดคุย “มาราไม่สนใจสิ่งที่ไทยพูดกับสื่อ เราสนใจแค่สิ่งที่พูดกับทีมของเราบนโต๊ะพูดคุย เขาจะพูดอะไรกับสื่อก็ตาม แต่บนโต๊ะมันคนละเรื่อง”

และเมื่อถามว่า กลุ่มมารา ปาตานีจะติดต่อสื่อสารกับกลุ่มบีอาร์เอ็นในพื้นที่ได้อย่างไร ได้รับคำตอบว่า

“เรามีบีอาร์เอ็นในมารา พวกเขาสามารถสื่อสารกันได้ ไม่มีปัญหา” และกับคำถามถึงความรุนแรงในพื้นที่ที่ยังดำเนินอยู่ว่าจะกระทบต่อการพูดคุยหรือไม่และอย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะกระทบหรือไม่กระทบก็ได้ แต่สิ่งสำคัญสำหรับมารา ปาตานีคือ การพูดคุยต้องเดินหน้าต่อไป

ทางด้านตัวแทนของรัฐบาลที่เดินทางไปร่วมพูดคุยหลังจากเดินทางถึงประเทศไทยก็ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว โดยยืนยันว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการลงนามในทีโออาร์แต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้ตัวแทนทั้งสองฝ่ายได้ยกร่างเอกสารทีโออาร์ไว้เรียบร้อยแล้วเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และทั้งสองฝ่ายต่างแสดงความเชื่อมั่นว่าจะได้ลงนามในเอกสารดังกล่าวพร้อมยกระดับการหารือขึ้นให้เป็นทางการ โดยมีหัวข้อเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยเป็นเรื่องใหญ่ที่จะหยิบยกขึ้นมาพูดคุย แต่การพูดคุยหนนั้นไม่ปรากฏผลแต่อย่างใดเพราะฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วยในนาทีสุดท้ายกับถ้อยคำบางประการโดยเฉพาะในเรื่องของการยอมรับสถานะของกลุ่มมารา ปาตานี และการให้การคุ้มครองไม่เอาผิดสมาชิกคณะพูดคุยของกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ กลุ่มมารา ปาตานีบอกว่า เนื้อหาในร่างใหม่ถือว่าเป็นการประนีประนอมของทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามารา ปาตานี ตัวแทนคณะของไทยหรือมาเลเซีย ไม่มีใครเปิดเผยเนื้อหาของทีโออาร์

อาบูฮาฟิส อัลฮากีม แห่งกลุ่มมารา ปาตานีกล่าวกับบีบีซีไทยเพิ่มเติมว่า แม้ไม่มีการลงนามในทีโออาร์ แต่ทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับกติกาตัวนี้แล้ว และถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกการประชุมของวันนี้ ซึ่งลักษณะดังกล่าวไม่ต่างไปจากการพูดคุยสันติภาพหนก่อนหน้า การเดินหน้าเพื่อจะพูดคุยเรื่องสร้างพื้นที่ปลอดภัยก็สามารถทำได้เพราะทั้งสองฝ่ายต่างเห็นชอบกับทีโออาร์หรือกติกาการพูดคุยแล้ว

ส่วนประเด็นเรื่องการพูดคุยยังไม่ได้ยกระดับขึ้นเป็นทางการก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่อย่างใด เพราะหากเทียบไปแล้ว การพูดคุยของที่อื่นเช่นของทางการฟิลิปปินส์กับกลุ่มกบฏในมินดาเนาก็ใช้เวลาถึง 5 ปีกว่าที่จะได้รับการยกระดับเป็นทางการได้ ส่วนในเรื่องการคุ้มครองคณะพูดคุยของมารา ปาตานีนั้น เขาบอกว่า

“ในเวลานี้เรื่องการคุ้มครองยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แต่ถ้าจะต้องทำเรื่องพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ผลในทางปฏิบัติ จะต้องมีเรื่องนี้ด้วย” เขาให้ความเห็นว่า การพูดคุยเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ก่อนหน้านี้กลุ่มทำงานภาคประชาสังคมในเรื่องผู้หญิง 23 กลุ่มได้รวมตัวภายใต้ชื่อคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ส่งข้อเรียกร้องไปยังทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ขอให้ตัวแทนของรัฐบาลและมารา ปาตานีตกลงกันให้ได้ในเรื่องการทำทีโออาร์ พร้อมทั้งบรรจุวาระเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับสาธารณะให้กับผู้หญิง เด็กและพลเรือนในสามจังหวัดภาคใต้เข้าไว้ในการพูดคุย

#MaraPatani