Skip to main content

Original Link  

สื่อวิทยุชุมชนภาคใต้ “มีเดียสลาตัน” เปิดตัวอีกครั้งในบรรยากาศการสร้างสันติภาพที่ยังทรงตัว “มีพูดคุยหรือไม่ก็ตาม แต่คนในพื้นที่ก็ยังสนใจเรื่องสันติภาพ”

สัปดาห์นี้คนในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้จะได้เห็นการกลับมาใหม่ของวิทยุชุมชน “มีเดียสลาตัน” ที่จะเริ่มทดลองออกอากาศวันที่ 5 ก.ย.นี้เป็นวันแรก มีเดียสลาตันเป็นสถานีที่โด่งดังเพราะการเน้นหนักเปิดพื้นที่ให้ประชาชนแสดงออกทางการเมือง บวกการเกาะติดข่าวคราวกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ แต่มาวันนี้ ภายใต้บริบทการเมืองใหม่ที่ท้าทาย และในขณะที่บรรยากาศการพูดคุยดูจะทรงตัว กระแสสันติภาพยังไม่คึกคัก คนทำงานที่หยุดออกอากาศไปร่วม 2 ปีมีโอกาสจะขึ้นสนิม พวกเขาจะเรียกคนฟังให้กลับมาได้อย่างไร

แวหะมะ แวกือจิก หัวเรือใหญ่วิทยุมีเดียสลาตันชี้ว่า ในช่วงเวลา 2 ปี มีเดียสลาตันต้องผ่านเส้นทางเดินอันยากลำบากของกระบวนการขอเปิดสถานีใหม่ ไหนจะต้องขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องหาเครื่องส่งใหม่ที่ต้องผ่านการตรวจสอบทุกอย่างเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ทั้งยังต้องทำบันทึกความเข้าใจกับฝ่ายความมั่นคง เพื่อให้สถานีรู้ชัดเจนว่า อะไรที่ทำได้และอะไรทำไม่ได้ แต่นอกเหนือจากการติดต่อกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องที่มีการตรวจสอบกำกับเข้มงวดทั้งในเรื่องอุปกรณ์ รัศมีการออกอากาศ และเนื้อหาแล้ว ยังมีปัญหาของตัวเองในเรื่องผู้ฟังและคนทำงาน เนื่องจากการหยุดออกอากาศไปสองปี ทีมงานหันไปทำงานอย่างอื่นกัน ทำให้ต้องสร้างทีมใหม่

อย่างไรก็ตาม เรื่องของคนฟังนั้น แวหามะยังมองในด้านบวกเพราะเชื่อว่าตราบใดที่วิทยุยังตอบโจทย์คนในพื้นที่ คนฟังน่าจะกลับมา เนื่องจากสื่อวิทยุภาษามลายูถิ่นเป็นสื่อที่เสพง่ายที่สุดสำหรับพวกเขา แต่ที่สถานีจะต้องระวังอย่างมากคือเรื่องของเนื้อหา

“เรื่องนี้ต้องนับหนึ่งใหม่หมด กับสถานการณ์บ้านเมือง ผังรายการ และวิถีรูปแบบรายการ จะเอาวิธีเดิมมาสื่อสารไม่ได้แล้ว มันมีเงื่อนไขที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในอดีต จะบอกว่าไม่อิสระเลยก็ไม่ใช่ แต่มันมีข้อจำกัดเยอะมาก หนักพอสมควร แต่ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรง เพราะเชื่อว่า คนที่นี่มีไฟในการทำงาน เพราะถ้าไม่มีทำไม่ได้ เพราะสองปีคงมอดแล้ว เพราะเขาคิดตลอดว่านี่คือสื่อของเขาที่จะต้องขับเคลื่อน จริงๆ สื่อในพื้นที่มีเยอะ ทั้งของราชการ เอกชน แต่ต่างคนต่างมีภารกิจ แต่เราไม่เป็นวิทยุที่มุ่งทำธุรกิจหรือประชาสัมพันธ์ เราเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ในความยากจึงมีความง่าย เพราะเราเข้าใจคนในพื้นที่ต้องการอะไร”

มีเดียสลาตันออกอากาศเป็นภาษามลายู และด้วยเนื้อหาที่เปิดให้คนรับฟังมีส่วนร่วมด้วยการโฟนอิน ตลอดจนเนื้อหาการนำเสนอข่าวความเดือดร้อนของชาวบ้าน รวมทั้งการเกาะติดประเด็นการผลักดันสันติภาพที่ผ่านมาที่ล้ำหน้าสื่อในพื้นที่ บทสัมภาษณ์บางบทที่นำเสนอได้ชนิดสื่อใหญ่ในกรุงเทพฯ ต้องนำมาใช้ เหล่านี้ทำให้ “มีเดียสลาตัน” เป็นที่รู้จักทั่วไป จนเมื่อสถานการณ์การเมืองในประเทศเปลี่ยน “มีเดียสลาตัน” พลอยถูกคลื่นการเมืองถาโถมจนต้องปิดตัวเองไป 2 ปี

เมื่อวันเสาร์ที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา สถานีได้เชิญผู้นำศาสนาและคนในชุมชนรอบๆ ไปร่วมกันละหมาดฮายัตเพื่อขอพรจากพระผู้เป็นเจ้าให้การดำเนินงานของสถานีราบรื่นและลุล่วง มีการทดสอบระบบการถ่ายทอดสัญญาณ ส่วนการทดลองออกอากาศจะเริ่มในวันนี้ทั้งภาคเช้า 10.00 น. และ 13.00 น.ทางคลื่น 91.50 เมกะเฮิรตซ์ ของปัตตานี กับคลื่น 96.25 เมกะเฮิรตซ์ของยะลา รวมทั้งเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ของมีเดียสลาตัน

แวหามะเตรียมพร้อมสำหรับการกลับมารอบใหม่ ด้วยการมองหาประเด็นใหม่ๆ และมีพันธมิตรร่วมผลิตรายการ เขาตั้งกรรมการขึ้นมากลั่นกรองประเด็นและเนื้อหาที่จะออกอากาศ สถานีจึงเตรียมจะเปิดให้เครือข่ายพันธมิตรที่เป็นองค์กรภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมผลิตเนื้อหามากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องวัฒนธรรม ผู้หญิง เยาวชน

ส่วนทีมงานมีเดียสลาตันเองจะผลิตเองสี่รายการหลักที่ถือว่าเป็นอัตลักษณ์ของสถานี รายการสำคัญที่มีเนื้อหาในเรื่องร่วมด้วยช่วยกัน รายการเล่าข่าวที่จะนำข่าวที่มีทั้งภาษาไทยและมลายูกลางมาบอกเล่าเป็นภาษามลายูถิ่น เพื่อให้ผู้เสพข่าวสารในพื้นที่สามารถรับข่าวได้ง่ายขึ้น รายการที่สาม จะผลิตเนื้อหาเองในเรื่องของผู้หญิงกับเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เรื่องจิปาถะ การเลี้ยงลูก และอื่นๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างเช่นบทบาทผู้หญิงกับสันติภาพ นอกจากนั้นก็คือรายการ “ดูนยาฮารีอีนี” หรือ “โลกวันนี้” อันเป็นรายการที่เป็นจุดขายของสถานีมาแต่ไหนแต่ไรก็ขาดไม่ได้ แวหามะชี้ว่า จากที่เคยมีการสำรวจผู้ฟังของสถานีมีเดียสลาตัน รายการนี้เป็นรายการที่ผู้ฟังชื่นชอบมากที่สุด

แวหามะชี้ว่า ในเรื่องของสันติภาพ การพูดคุยเป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างสันติภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่า หากเมื่อใดไม่มีการพูดคุยจะไม่มีความพยายามสร้างสันติภาพ เขาจึงเห็นว่า นอกเหนือไปจากข่าวการพูดคุยแล้ว สื่อในพื้นที่ยังสามารถหนุนเสริมในเรื่องการสร้างสันติภาพได้อีกหลายอย่าง เพราะคนทั่วไปยังขาดความรู้อีกมากในเรื่องนี้ จะมีการพูดคุยหรือไม่ก็ตาม สื่อควรจะเดินหน้าให้ความรู้แก่คนในพื้นที่ได้เข้าใจในเรื่องของกระบวนการ ซึ่งจะใช้เวลานานพอสมควร

“ผมเชื่อว่าชาวบ้านเกินครึ่งไม่ได้ยึดกระแส แต่ต้องการสันติภาพที่ถาวรมั่นคง อันนี้แหละน่าสนใจ ประเด็นคือการเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านมันอาจจะไม่เต็มที่เท่านั้น คือเราจะไม่สามารถหยั่งรู้ความคิดชาวบ้านได้เต็มที่เหมือนในอดีต ถ้ามีพื้นที่รับฟังความเห็นชาวบ้านผมว่าจะน่าสนใจมาก”

ในส่วนของวิทยุชุมชนรายอื่นๆ นั้น แวหามะเปิดเผยว่า ขณะนี้เท่าที่รู้ยังมีอีกหลายสถานีที่ยังเปิดไม่ได้ หลายสถานีไม่มีใบอนุญาตทดลองออกอากาศอยู่ก่อน ทำให้ยุ่งยาก และเชื่อว่าหลายรายคงจะเลิกราไป ยังมีหลายสถานีที่มีใบอนุญาตทดลองออกอากาศแต่ก็ยังเลิกไปเพราะสถานีวิทยุชุมชนรายเล็กๆ มักจะขาดงบประมาณ ไม่สามารถเดินเรื่องภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่ได้อีก ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะวิทยุเป็นสื่อที่คนในพื้นที่ใช้กันมาก โดยเฉพาะการออกอากาศเป็นภาษามลายู ซึ่งก็ยังมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่มาก

“วิทยุราชการพยายามปรับให้มีภาษามลายู แต่คนทำวิทยุไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงจิตวิญญาณการใช้ภาษา บางทีพูดมลายู เราคนมลายูยังไม่รู้ว่าที่พูดมานั้นเป็นมลายูกลาง มลายูท้องถิ่น หรือภาษาไทยแปลมา มันทำให้คนเปิดแล้วปิดทันที เพราะว่ามันแสลงหู ฟังไม่ออกว่าตกลงเขาพูดอะไร แปลจากไทย หรือภาษากลางครึ่งหนึ่งมลายูครึ่งหนึ่ง ตกลงจะใช้อะไรแน่ อย่าลืม ถ้าดีเจพูดผิดคนจะไม่ฟัง วิทยุหลายสถานีพยายามทำภาษามลายู 24 ช.ม. แต่มันไม่ได้รับความนิยม”