Skip to main content

รอมฎอน ปันจอร์

สำหรับผู้สนใจและชวนขบคิดกันต่อ นี่คือรายงานของ #เลขาธิการสหประชาชาติ ว่าด้วย  "เด็กในสถานการณ์ขัดกันทางอาวุธ" (Children and Armed Conflict) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา เนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบปีที่แล้ว (2558) หลัง "เหตุการณ์ตากใบ" เมื่อวานซืน ทาง Human Rights Watch เอ็นจีโอระหว่างประเทศออกแถลงการณ์โดยอ้างถึงรายงานชิ้นนี้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ท่านเลขาฯ เติม "BRN Coordinate" เอาไว้ในลิสต์ท้ายรายงานในฐานะ "ผู้ละเมิด" (Abuser)

ประเด็นที่ว่าคงสร้างความกระอักกระอ่วนใจต่อทางการไทยไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะกลยุทธ์ทางการเมืองสำคัญที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายปีนี้ก็คือการพยายามพิทักษ์ปกป้องความหมายของสถานการณ์ไม่ให้ถูกยกระดับไปสู่วาระการเมืองระหว่างประเทศ ในแง่นี้ คือการขีดเส้นพรมแดนไม่ให้เลยไปสู่ความหมายของ "การขัดกันทางอาวุธ" ----- รายงานเด็กฯ ชิ้นนี้สำคัญยิ่งยวดในสายตานักยุทธศาสตร์ของทางการไทย เพราะมันถูกกล่าวอ้างถึงด้วยความกังวลใจใน "พิมพ์เขียว" ของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข

ในด้านกลับกัน ประเด็นเดียวกันนี้ของ HRW คงจะสร้างความลำบากใจ "อยู่บ้าง" ให้กับ "คนของบีอาร์เอ็น" เพราะหากการยกระดับสถานการณ์ไปสู่เวทีสากลเป็นหนึงในกลยุทธ์ทางการเมืองของพวกเขาจริง การถูกแขวนป้ายว่าเป็นกลุ่มที่ละเมิดบรรทัดฐานสากลเช่นนี้คงไม่เป็นประโยชน์มากนัก แต่ไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะจริงจังต่อการทบทวนผลได้ผลเสียที่ว่านี้มากน้อยเพียงใด บอกได้เพียงว่าปฏิบัติการทางทหารที่ล้ำเส้นได้กลายมาเป็นวิธีการทำลายการต่อสู้ของพวกเขาเองอย่างโดดเด่นเห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ

เอาเถอะ กลับมาดูเนื้อหาของรายงานท่านเลขาฯ ยูเอ็น ข้างล่างนี้แปลความเป็นไทยในส่วนของ "Thailand" เห็นได้ชัดว่าท่านเลขาฯ ตระหนักถึงการดำรงอยู่ของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์กรร่มของบรรดากลุ่มติดอาวุธ แต่ก็พบปัญหาในการพิทักษ์ปกป้องชีวิตและการจำกัดบทบาทของเด็ก ๆ ในการสู้รบอยู่พอสมควร

"ประเทศไทย

211. ความรุนแรงในภาคใต้ของประเทศไทยยังดำเนินต่อ แม้ว่าจะมีการริเริ่มพูดคุยขึ้นมาใหม่อีกครั้งระหว่างรัฐบาลและองค์กรร่มของกลุ่มติดอาวุธ

212. แม้จะไม่มีการรายงานในเรื่องการสรรหาสมาชิกและใช้เด็ก ๆ (ในการสู้รบ) แต่ข้อมูลจากรัฐบาล (ไทย) กลุ่มติดอาวุธได้ฝึกเด็ก ๆ อายุ 13 ปีเพื่อใช้อาวุธในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสในช่วงก่อนเดือนมกราคม 2559 สหประชาชาติยังได้รับรายงานอย่างต่อเนื่องว่าเด็ก ๆ ได้ถูกับกุมด้วยข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธ

213. สหประชาชาติได้รับรายงานเกี่ยวกับการสังหารเด็ก 4 คน และบาดเจ็บอีก 15 คน ซึ่งเป็นผลจากการโจมตีด้วยการยิงและระเบิดแสวงเครื่องในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ข้อมูลเหล่านี้มีนัยที่ลดลงอย่างสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2557 (เด็ก ๆ ถูกสังหาร 23 คน และบาดเจ็บ 65 คน)

214. โรงเรียนและบุคลากรด้านการศึกษายังคงตกเป็นเป้าโจมตีอย่างต่อเนื่องของกลุ่มติดอาวุธ จากรายงานของกระทรวงศึกษาธิการเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ครูสองคนและเด็กอีกหนึ่งถูกสังหาร โดยมีครูอีกคนและเด็กจำนวนสองคนได้รับบาดเจ็บในการโจมตี นอกจากนี้ ในวันที่ 11 กันยายน การระเบิดที่ทางเข้าโรงเรียนประจำชุมชนแห่งหนึ่งในปัตตานีก็ได้ส่งผลให้เด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บจำนวน 5 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 3 ถึง 15 ปี การสืบสวนกรณีนี้ยังคงดำเนินอยู่ ในขณะที่ทางการก็จัดเตรียมชุดคุ้มครองความปลอดภัยให้กับบรรดาครูในพื้นที่ดังกล่าว

215. ข้าพเจ้ามีความยินดีและสนับสนุนการพูดคุยที่ต่อเนื่องระหว่างรัฐบาลไทยกับคณะทำงานประจำประเทศไทยของสหประชาชาติเกี่ยวกับการเสริมความแข็งแกร่งให้กับการการปกป้องเด็ก ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในการเข้าถึงพื้นที่เหล่านั้นเพื่อตรวจสอบและรายงานสถานการณ์การละเมิดต่อเด็ก ๆ อย่างเป็นอิสระ ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ระหว่างการปรึกษาหารือเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุย บรรดาองค์กรประชาสังคมและสหประชาชาติได้หยิบยกประเด็นเกี่ยวกับความจำเป็นในการรวมเอาเรื่องเด็ก ๆ ให้เข้าสู่วาระของกระบวนการพูดคุย เพื่อเสริมพลังให้กับการปกป้องในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งข้าพเจ้าเองนั้นสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง"

อ่านฉบับจริงที่ https://documents-dds-ny.un.org/doc/UNDOC/GEN/N16/111/19/PDF/N1611119.pdf