Skip to main content

 

ฮัจญ์ บทเรียนแห่งชีวิต

 

บรรจง บินกาซัน

 

 

 

คาบสมุทรอาหรับเป็นผืนทะเลทรายที่กว้างใหญ่ไพศาล พื้นที่ส่วนใหญ่จึงไม่มีผู้คนอาศัยอยู่นอกจากบริเวณริมทะเลและบริเวณที่มีแหล่งน้ำซึ่งเรียกว่าโอเอซิส ด้วยความแห้งแล้งและอากาศที่ร้อนระอุ ผืนทะเลทรายแห่งนี้จึงไม่มีใครอยากเดินทางผ่าน

แต่หลังจากนบีอิบรอฮีม(อับราฮัม)ได้สร้างก๊ะอฺบ๊ะฮฺขึ้นที่มักก๊ะฮฺเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับเคารพสักการะพระเจ้าองค์เดียวและได้เรียกร้องมนุษยชาติให้เดินทางมาร่วมชุมนุมกันยังสถานที่แห่งนี้เมื่อประมาณ 4,000 ปีก่อน มักก๊ะฮฺก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งการชุมนุมมนุษยชาติในพิธีกรรมอันยิ่งใหญ่ที่เรียกว่าฮัจญ์เป็นประจำทุกปีโดยไม่ขาดสายจนกระทั่งปัจจุบันและยิ่งนับวันก็ยิ่งมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น

หลังจากสมัยของนบีอิบรอฮีมและอิสมาอีลลูกชายของท่าน ถึงแม้ก๊ะอฺบ๊ะฮฺจะทำให้มักก๊ะฮฺกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจและศาสนาของแผ่นดินอาหรับ แต่พิธีฮัจญ์ตามแบบฉบับของนบี อิบรอฮีมได้สูญหายไปเป็นเวลานานนับพันปี จนกระทั่งนบีมุฮัมมัดได้สถาปนาอิสลามขึ้นเป็นระบอบการดำเนินชีวิตของผู้คนบนคาบสมุทรอาหรับเมื่อประมาณ 1,400 ปีก่อนหน้านี้ พิธีฮัจญ์จึงถูกฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งและท่านได้วางแบบอย่างเอาไว้ให้มุสลิมปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงเจตนารมณ์เดิมของนบีอิบรอฮีมมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ฮัจญ์ : หน้าที่และความใฝ่ฝัน

เมื่ออิสลามแผ่ขยายออกไปทั่วทุกมุมโลกจากคาบสมุทรอาหรับ อิสลามจึงมิได้เป็นศาสนาของชาวอาหรับเท่านั้น แต่ยังเป็นศาสนาของมนุษย์ทุกชนชาติ เผ่าพันธุ์ สีผิวและภาษา ใครก็ตามที่เข้ารับนับถืออิสลามก็ได้ชื่อว่ามุสลิม และความศรัทธาในอิสลามได้ทำให้มุสลิมต่างสีผิวและเผ่าพันธุ์กลายเป็นประชาชาติเดียวกันเหมือนกับเส้นเชือกที่ร้อยดอกไม้ต่างสีมาลีต่างพันธุ์ไว้เป็นพวงมาลัยที่มีสีสันสวยงามอยู่ในพวกเดียว

เนื่องจากหลักการของอิสลามได้กำหนดให้มุสลิมที่มีความสามารถจะต้องไปทำฮัจญ์ครั้งหนึ่งในชีวิต ด้วยเหตุนี้ มุสลิมทุกคนจึงใฝ่ฝันอยากจะทำหน้าที่ดังกล่าว ดังนั้น หลังจากสมัยของนบีมุฮัมมัดเป็นต้นมา ชาวโลกจึงได้เห็นกลุ่มชนผู้ศรัทธาในพระเจ้าจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางไปทำฮัจญ์ที่ก๊ะฮฺบ๊ะฮฺในนครมักก๊ะฮฺอย่างไม่ขาดสายแม้หนทางจะทุรกันดารและแสนลำบากเพียงใดก็ตาม

แม้ลำบากเพียงใดก็จะไปให้ถึง

ก่อนยุคของรถยนต์และเครื่องบิน มุสลิมจะเดินทางไปทำฮัจญ์โดยกองคาราวานอูฐซึ่งเป็นการเดินทางที่ยาวนานและยากลำบาก กองคาราวานจากอียิปต์ต้องใช้เวลาสองเดือนในการข้ามทะเลทรายซีนายและต้องเสี่ยงต่อการถูกปล้น ส่วนกองคาราวานจากที่อื่นๆจะไปรวมกันที่ดามัสกัสและผู้เดินทางจะต้องใช้เวลาถึงสามสิบวันมายังมักก๊ะฮฺ

กองคาราวานขนาดใหญ่เหล่านี้เป็นเหมือนกับเมืองเคลื่อนที่ บางกองคาราวานมีผู้มาทำฮัจญ์ถึง 6,000 คนภายใต้การนำของอะมีรุลฮัจญ์ (ผู้นำการทำฮัจญ์) ผู้อยู่ไกลไปจากนั้นก็ต้องเดินทางผ่านแผ่นดินทุกประเภทตั้งแต่พื้นที่ทะเลทรายไปจนถึงพื้นที่ป่าและบางทีต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะถึง บางคนออกเดินทางจากบ้านที่อยู่แดนไกลตั้งแต่ยังเป็นโสด แต่เมื่อมาถึงมักก๊ะฮฺเขาก็มีภรรยาและลูกอีกสามคนติดตามมาด้วย อีกคนหนึ่งออกเดินทางตั้งแต่ยังเป็นหนุ่ม แต่มาถึงมักก๊ะฮฺเมื่ออายุ 70 ปี

บางกองคาราวานของผู้มาทำฮัจญ์จะมีแม้กระทั่งกองทหาร คนขี่ม้าเทียมรถ ผู้นำทาง คนทำอานม้า คนทำอาหารและหมอติดตามมาด้วย กองคาราวานเหล่านี้จะเดินทางในตอนกลางคืนเพื่อหลีกเลี่ยงอากาศร้อนในตอนกลางวัน แต่ระหว่างฤดูหนาว พวกเขาจะเดินทางในตอนกลางวัน

เส้นทางของกองคาราวานผู้ทำฮัจญ์มีหลายเส้นทาง ผู้ทำฮัจญ์จากตุรกีจะมาชุมนุมกันที่กรุงอิสตันบูลและค่อยๆเดินทางข้ามที่ราบสูง อนาโตเลียโดยมีผู้เข้ามาสมทบระหว่างทางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนที่ซีเรีย ผู้ทำฮัจญ์จะไปชุมนุมกันที่ดามัสกัส หลังจากนั้นก็เดินทางข้ามทะเลทรายอาหรับตอนเหนือและในที่สุดก็มุ่งหน้าลงใต้สู่มะดีนะฮฺและมักก๊ะฮฺ

ผู้ทำฮัจญ์จากอิรักจะไปรวมกันที่แบกแดดและเดินทางมาตามถนนซุบัยด๊ะฮฺที่ผ่านแคว้นนัจญ์ไปยังมะดีนะฮฺและเชื่อมกับถนนสายหลักไปสู่มักก๊ะฮฺ เส้นทางที่สามที่ผู้ทำฮัจญ์จากอียิปต์ใช้ก็คือเส้นทางเลียบทะเลแดง เส้นทางเหล่านี้ทั้งหมดจะไปบรรจบกันที่มักก๊ะฮฺซึ่งเป็นสถานที่ที่พวกเขาจะไปร่วมกับผู้ทำฮัจญ์คนอื่นๆที่เดินทางมาจากอาฟริกาหรือที่ล่องเรือมาจากอินเดีย

ฮัจญ์ : บทเรียนแห่งชีวิต

ถ้ามนุษย์ไม่รู้ความจริงว่าตัวเองเป็นใคร ตัวเองมาจากไหน มีฐานะอะไรในโลกนี้ มีอะไรเป็นจุดหมายของชีวิต ฮัจญ์เป็นพิธีกรรมที่จะตอบคำถามดังกล่าวให้

คัมภีร์กุรอานสอนให้มนุษย์ได้รู้สัจธรรมความจริงแห่งชีวิตว่า “ชีวิตเป็นของพระเจ้าและยังพระองค์ที่เราต้องกลับไป” ซึ่งหมายความว่าเมื่อมนุษย์หมดลมหายใจแล้ว วิญญาณซึ่งเป็นที่ชีวิตที่แท้จริงของมนุษย์จะกลับไปชุมนุมกันต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเป็นเจ้าของมันและส่งมันมายังโลกนี้ แต่เมื่อวิญญาณและการชุมนุมต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าในโลกหน้าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตา พิธีฮัจญ์จึงเป็นการจำลองสัจธรรมและสถานการณ์ให้มนุษย์ได้เห็นเป็นรูปธรรม

ฮัจญ์หมายถึงการมุ่งไปสู่จุดหมาย

เมื่อออกเดินทางไปทำพิธีฮัจญ์ ผู้ทำฮัจญ์ก็ถูกเตือนให้นึกถึงการเดินทางกลับไปสู่พระเจ้าในชีวิตโลกหน้า แน่นอน เมื่อออกเดินทาง พวกเขาต้องทิ้งคนรัก เพื่อนและทรัพย์สินไว้เบื้องหลังเช่นเดียวกับวิญญาณของเขาที่จะต้องทิ้งร่างของเขาเพื่อเดินทางกลับไปหาพระเจ้าในโลกหน้า

การเดินทางไปทำฮัจญ์จำเป็นต้องมีการเตรียมปัจจัยเพื่อไปถึงเป้าหมาย การทำฮัจญ์จึงเตือนผู้ทำฮัจญ์ให้เตรียมตัวก่อนจะเดินทางกลับไปหาพระเจ้าในโลกหน้า และไม่มีปัจจัยอะไรสำหรับการเดินทางของวิญญาณที่จะดีไปกว่าคุณงามความดี

การเดินทางเป็นความลำบากอย่างหนึ่ง กว่าจะไปถึงเป้าหมายมนุษย์ต้องเผชิญอุปสรรคต่างๆมากมาย การเดินทางไปทำฮัจญ์ก็เช่นกัน ดังนั้น ฮัจญ์จึงให้บทเรียนว่าเมื่อชีวิตคือการเดินทาง กว่าชีวิตจะไปถึงเป้าหมาย ชีวิตก็ต้องมีอุปสรรคและความยากลำบากเป็นธรรมดา กว่าจะไปถึงก๊ะอฺบ๊ะฮฺบนโลกนี้ยังต้องเผชิญอุปสรรคปัญหาต่างๆ แต่การจะกลับไปหาพระเจ้าที่เป็นจุดหมายสุดท้ายของชีวิตในโลกหน้าก็ยิ่งต้องลำบากกว่านี้อีกหลายเท่า

ก่อนจะเข้าไปยังมักก๊ะฮฺซึ่งเป็นที่ตั้งของก๊ะอฺบ๊ะฮฺ ผู้ทำฮัจญ์ชายจะต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่เขาสวมใส่ไปและต้องอยู่ในชุดที่เรียกว่า“เอี๊ยะฮฺรอม” ซึ่งประกอบไปด้วยผ้าสีขาวธรรมดาสองผืนที่ไม่มีการตัดเย็บเพื่อใช้นุ่งและห่ม ผ้าขาวสองผืนที่ห่อหุ้มร่างกายของผู้ทำฮัจญ์นี้จะเตือนผู้สวมใส่ให้นึกถึงผ้าสีขาวที่ใช้ห่อหุ้มตัวเขาหลังเสียชีวิตและเขาจะตระหนักได้ว่าเมื่อถึงเวลากลับไปหาพระเจ้า เขาจะไม่มีอะไรติดตัวไปนอกจากผ้าขาวที่ห่อศพเขาเท่านั้น แต่สิ่งที่จะติดตัวเขาไปก็คือความดีที่เขาได้ทำไว้

ยิ่งเมื่อต้องไปชุมนุมอยู่รอบก๊ะอฺบ๊ะฮฺร่วมกับคนอื่นๆอีกนับแสนนับล้านคนที่มาจากส่วนต่างๆของโลก ผู้ทำฮัจญ์ก็ยิ่งตระหนักว่าต่อหน้าพระเจ้าแล้ว มนุษย์ทุกคนอยู่ในสภาพเท่าเทียมกัน มงกุฎ สายสะพาย เหรียญตราหรือเสื้อผ้าอาภรณ์ที่แสดงถึงฐานะ ตำแหน่งและเกียรติยศจอมปลอมบนโลกใบนี้ไม่มีประโยชน์อันใดเลยต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้า

เมื่ออยู่ในชุดนุ่งขาวห่มขาวก่อนจะเข้าเขตฮะรอม(เขตต้องห้าม)นอกเมืองมักก๊ะฮฺ ผู้ทำฮัจญ์ทุกคนจะกล่าวคำประกาศเป็นภาษาอาหรับที่มีความหมายว่า “โอ้อัลลอฮฺ ข้าพระองค์อยู่ ณ ที่นี้เพื่อคอยฟังคำสั่งใช้ของพระองค์แล้ว” ดังนั้น เมื่อเสร็จพิธีฮัจญ์แล้ว ผู้ทำฮัจญ์ก็จะรับคำบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าในคัมภีร์กุรอานเพื่อนำไปปฏิบัติ

การเวียนรอบก๊ะอฺบ๊ะฮฺเป็นพิธีกรรมที่เตือนให้ผู้ทำฮัจญ์หรือผู้พบเห็นได้รู้ว่าทุกสรรพสิ่งในจักรวาลนี้มีพระเจ้าเป็นแกนกลาง

การวิ่งเหยาะๆไปมาเจ็ดเที่ยวระหว่างสองเนินเขาเตี้ยๆที่มีชื่อเรียกว่า“เศาะฟา”และ“มัรฺวะฮฺ”จะเตือนผู้ทำฮัจญ์ให้นึกถึงนางฮาญัรฺภรรยาของนบีอิบรอฮีมที่ออกวิ่งหาน้ำให้อิสมาอีลลูกน้อยของนาง แม้นางจะวางใจในพระเจ้าที่นางศรัทธาก็ตาม แต่นางก็มิได้นิ่งเฉยหรือวอนขอแต่อย่างเดียว

พิธีกรรมขว้างหินเป็นสิ่งที่เตือนผู้ทำฮัจญ์ให้นึกถึงการต่อสู้ขับไล่มารร้ายที่ล่อลวงนบีอิบรอฮีมมิให้ทำตามพระประสงค์ของพระองค์

ยิ่งเมื่อถึงพิธีกรรมสำคัญที่สุดของการทำพิธีฮัจญ์ นั่นคือ การชุมนุมกันที่ทุ่งอะเราะฟะฮฺนอกเมืองมักก๊ะฮฺซึ่งผู้ทำฮัจญ์ทั้งหมดสองถึงสามล้านคนต้องไปรวมกันอยู่ที่นั่น ทุกคนก็จะตระหนักได้ทันทีถึงการชุมนุมมนุษยชาติในโลกหน้าเพื่อรอรับการพิพากษาพฤติกรรมความดีและความชั่วที่ตัวเองได้ทำไว้ในโลกนี้

หากจะกล่าวไปแล้ว พิธีฮัจญ์คือกระบวนการให้ความรู้ทางด้านสัจธรรมแก่ชีวิตและเป็นกระบวนการฝึกอบรมทางด้านจิตวิญญาณให้แก่ผู้ศรัทธาที่ไม่มีสถาบันการศึกษาใดๆเคยจัดให้มนุษยชาติ