Skip to main content

อิมรอน   โสะสัน

หลังประชาคมอาเซียนเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2558 ผมเริ่มตั้งสติและคิดถึงภาพอนาคตของคนไทยและมุสลิมไทยอย่างจริงจัง คำถามที่ว่า เราพร้อมแค่ไหน? เริ่มกวนใจคนไทยจำนวนไม่น้อย ตัวชี้วัดหลายด้านเริ่มเปิดเผยความพร้อมของไทยให้เห็นบ่อยครั้ง เช่น คุณภาพการศึกษา ภาษาอังกฤษ ขีดความสามารถของประเทศ คุณภาพของระบบราชการฯ มีทั้งระดับแย่ๆ ดี ปานกลาง และเริ่มฟื้นตัว 

ผมเองก็ไม่ค่อยมั่นใจนักว่า คนไทยส่วนใหญ่คิดอย่างไรกับตัวชี้วัดเหล่านี้ หรือเห็นว่าสำคัญอย่างไรต่อชีวิตของพวกเขา แต่คนในวงการศึกษาอย่างผมที่จะต้องเฝ้ามองดูอันดับขีดความสามารถของประเทศอยู่ตลอด เพราะอย่างน้อยต้องอัพเดทข้อมูลในการเรียนการสอน ตัวชี้วัดทั้งหลายย่อมมีความหมายและมีนัยสำคัญ สำหรับการวางรากฐานและอนาคตเชิงแข่งขันของคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ

ถ้าวัดระดับขีดความสามารถ (competitiveness ) ของประเทศในภาพรวม เราอาจจะไม่ได้ขี้เร่มากนัก เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ผมมีข้อมูลทางสถิติบางอย่างมาให้ดูกัน เช่น องค์กร World Economic Forum ได้จัดทำ Global Competitiveness Index 2015-2016 หรือ ดัชนีชี้วัดขีดความสามารถของโลกในปี 2558-2559 มีการจัดอันดับประเทศต่างๆทั่วโลก 140 ประเทศ เปิดเผยว่า ประเทศที่มีขีดความสามารถเชิงแข่งขันอันดับหนึ่งของโลก ได้แก่ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อันดับสอง คือ สิงคโปร์เพื่อนบ้านอาเซียน มาเลเซียคว้าอันดับที่ 18 ชนะประเทศอย่างออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ซาอุดิอารเบีย ประเทศจีน ส่วนไทยเราอยู่อันดับที่ 32 แซงประเทศอย่างอินโดนีเซีย (อันดับ 37) สเปน อิตาลี ตุรกี และอินเดีย ส่วนประเทศอันดับท้ายตารางจะอยู่แถบทวีปแอฟริกา

ถึงแม้ว่า เรามีต้นทุนหลายอย่างที่เป็นหลักค้ำพยุง เช่น การท่องเที่ยว (ซึ่งขณะนี้รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังจัดระบบให้เข้าลู่เข้าทางมากขึ้น)  การเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร การบริการ และ อื่นๆ   แต่สำหรับในอนาคตผมไม่แน่ใจนักว่า ประเทศไทยในเชิงแข่งขันกับเวทีโลกจะเป็นอย่างไร? หรือกล่าวอีกอย่าง เราสนใจกับตัวเลขการจัดอันดับประเทศเชิงแข่งขันมากน้อยแค่ไหน? หรือเราใส่ใจกับการพัฒนาอย่างมีเป้าหมายของประเทศต่างๆอย่างไร?

ส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่า การเปิดอาเซียนหรือการเปิดรับโลกภายนอกอย่างเต็มตัวและไม่มีพรมแดนกีดกั้น อาจมีทั้งผลเสียและผลดีตามมา เราอาจจะได้อย่าง เสียอย่าง หรือเสียมากกว่าได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองว่ามองอย่างไร? เห็นอะไร? ในการเปิดพรมแดนหรือเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆให้กับตัวเองและประเทศ

ยกตัวอย่างใกล้ตัว ในขณะนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักศึกษาประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเริ่มบุกไทยอย่างเป็นระบบ (อันที่จริงประเทศไทยมีชาวต่างชาติมาศึกษาในสถาบันการศึกษานานแล้ว) เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ได้ส่งนักศึกษาเข้ามาศึกษาต่อในประเทศไทยติดต่อกันทุกปี โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ผมสังเกตว่า แต่ละปีจะมีนักศึกษาในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ด้านสังคมศาสตร์ การบริหาร การพัฒนา พยาบาลศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯ เข้ามาศึกษาอย่างต่อเนื่อง มีนักศึกษาระดับปริญญาตรีแบบแลกเปลี่ยน (Student Exchange Program) เกือบทุกเดือน

นอกจากนี้ คณาจารย์และผู้บริหารระดับตัดสินใจเชิงนโยบายได้ แวะเยี่ยมและลงนามความร่วมมือในหลายระดับพร้อมๆกัน บางมหาวิทยาลัยมาพร้อมกับงบประมาณทุนวิจัย การจัดสัมมนาทางวิชาการและเข้ามาเป็นอาจารย์พิเศษแบบ Visiting Professor บางครั้งผมได้ข่าวว่า ประเทศอินโดนีเซียให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี โท เอก กับนักเรียนไทยผ่านหน่วยงานรัฐบาลด้วยเช่นกัน (อาจมีมานานแล้วก็เป็นได้)

ถามว่าทำไมผมถึงสนใจปรากฎการณ์นี้มาก ทั้งๆที่มหาวิทยาลัยอื่นๆอาจเจอมาก่อนหน้านี้ แต่สำหรับผม นี่คือก้าวสำคัญในการปรับตัวของประเทศอินโดนีเซียหลังระบบการเมืองการปกครองภายในประเทศเริ่มนิ่ง และยิ่งน่าสนใจอีกระดับคือ นักศึกษาที่ผมรู้จักมีทักษะภาษาอังกฤษอยู่ในระดับดีและดีมาก พวกเขามีความกล้าในการแสดงออก การคิด การวิเคราะห์ กล้าพูดผิดพูดถูก หลายคนผมสัมผัสโดยตรงในฐานะนักศึกษา ผมสอนพวกเขาและเห็นถึงความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ตลอดเวลา บางคนมาได้ไม่นานเริ่มพูดไทยได้ เริ่มอ่านหนังสือพิพม์ไทย ดูทีวีไทย ฯลฯ 

นอกจากนั้น “ระบบการสนับสนุน” การให้กำลังใจที่พวกเขามี เป็นสิ่งน่าศึกษาไม่น้อย อาทิ ระบบการปรึกษาหารือของรุ่นพี่ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยของเขา นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาแล้ว จะต้องแวะมาเยี่ยมเยียนรุ่นน้อง แต่คนเหล่านี้ไม่ได้มาแบบท่องเที่ยวส่วนตัว หรือมาส่งรุ่นน้องแบบส่วนตัว พวกเขามาเป็นคณะอย่างเป็นทางการ พร้อมกับการยื่นความสนใจการทำงานร่วมกันในอนาคต (Future Collaboration) กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น บางคนนำผู้บริหารมาลงนามความร่วมมือ บางคนมานำเสนอผลงานทางวิชาการ บางคณะกลับมาพร้อมกับนำนักศึกษารุ่นน้องมาศึกษาต่อฯลฯ

ขณะนี้นักศึกษาอินโดนีเซียของมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีมากถึงเกือบ 50 คน บางเดือนมีเกือบ 100 คน (รวมนักศึกษาแลกเปลี่ยนด้วย) ซึ่งมีจำนวนมากหลายเท่านักเมื่อเทียบกันในช่วงเวลา 7-8 ปี ที่ผ่านมา เพราะในช่วงนั้น นักศึกษาอินโดนีเซียจะมาศึกษาต่อกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นปีละไม่เกิน 2 คน แต่หลังจากนั้นทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

ผมถามนักศึกษาว่า “พวกเธอฝึกพูดภาษาอังกฤษอย่างไร?” ทั้งๆ ที่อินโดนีเซียไม่ต่างจากเรา เพราะไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ  (We have never been colonized by anyone ) พวกเธอกล่าวว่า ส่วนใหญ่จะเรียนกันเอง เรียนผ่านทีวี และพยายามใช้ภาษาอังกฤษในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย และสถานที่ต่างๆให้มากที่สุด เขาบอกว่า เราต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่เฉพาะในห้องเรียน แต่ในชีวิตประจำวันด้วย  ที่สำคัญไม่คิดว่า ใครจะมองอย่างไร พวกเขาบอกว่า คนอินโดมีลักษณะนิสัยบางอย่างคือต้องต่อสู้ดิ้นรน (We need to be struggling for ) เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่มีคุณค่าพอต่ออนาคต พวกเขาบอกว่า อย่ามองภาษาอังกฤษเป็นภัยคุกคาม ให้มองว่า “เป็นกุญแจไขประตูแห่งโอกาสสำหรับอนาคต”

ผมดีใจที่เห็นคนรุ่นใหม่ของอาเซียนคิดถึงอนาคต คิดถึงโอกาส และมีความฝันลึกๆว่า คนอาเซียนจะเป็นพลเมืองโลก (“World Citizens) ที่มีคุณภาพมากพอต่อการสร้างสรรค์และพัฒนาโลกใบนี้ ส่วนใครจะได้ประโยชน์จาก “โอกาสของอนาคต” มากน้อยเพียงใดนั้น...คำตอบอยู่ที่ทุกคนครับ....

…..Are we ready? ...

 

...วัลลอฮุอะลัม...