Skip to main content

เรื่องเล่า …เท่าที่สังเกต

ตอน : จากยะลาสู่บางกอกน้อย

 

 

เรียนรู้วัฒนธรรม

        ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมาข้าพเจ้ามีภารกิจต้องไปออกบูธแสดงสินค้าและอาหาร โดยสังกัดกรมปศุสัตว์ปัตตานี ในงานมหกรรมของดีจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 9 ณ กรมชลประทานปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี รวมแล้ว 9 วัน 9 คืน  ซึ่งหมายความว่า ต้องอยู่ที่นี่จนแล้วเสร็จภารกิจยาวไปถึงวันอิดิลอัฎฮาเลยทีเดียว  กลายเป็นความตื่นตาตื่นใจพอสมควรที่ต้องมาออกอีดต่างถิ่นฐานบ้านเกิด ซึ่งโดยความคุ้นเคยของข้าพเจ้านั้น วัฒนธรรมของคนสามจังหวัดชายแดนใต้ เมื่อใกล้ถึงวันออกอีดหรือที่เรียกว่า วันฮารีรายอ  ทุกคนที่ทำงานหรือเรียนอยู่ต่างถิ่นไม่ว่าจะเป็นประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน หรือตามจังหวัดต่าง ๆ  ในประเทศ ต่างก็จะเดินทางเพื่อกลับมาออกอีดกับครอบครัวที่บ้าน  ข้าพเจ้าจึงต้องมีแผนสำรองในการร่วมเฉลิมฉลองวันสำคัญนี้เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสแห่งความสุขในวันดี ๆ ที่มีแค่ปีละ 2 หนเท่านั้น  และสถานที่ที่ข้าพเจ้าเลือกคือ “ชุมชนมุสลิมบางกอกน้อย” ตามคำแนะนำของเพื่อนต่างวัย ที่อัลลอฮฺดลใจให้ได้รู้จักกันผ่านโลกออนไลน์คือ เฟสบุ๊ค จากการเป็นแอดมินกลุ่มประชาชาติอิสลามด้วยกัน

        “มัสยิดหลวงอันซอริสซุนนะฮฺ” คือจุดหมายของข้าพเจ้าในวันนี้ โดยมัสยิดแห่งนี้ตั้งอยู่ในชุมชนมุสลิมบางกอกน้อย ส่วนประวัติความเป็นมาหากจะเล่าคงต้องเพิ่มหน้ากระดาษอีกหลายแผ่นเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงขออนุญาตเล่าเรื่องราวเท่าที่สังเกตในวันที่ข้าพเจ้านั้นได้มาเยือนเป็นครั้งแรกก็พอ 

        เริ่มต้นด้วยความแปลกใจ ที่รถยนต์ที่ข้าพเจ้าโดยสารมา ถูกเลี้ยวเข้าไปในรั้ววัดใกล้เคียงตามคำบอกชี้ทางของเพื่อนต่างวัยของข้าพเจ้า โดยคุณสามีข้าพเจ้าทำหน้าที่พลขับ วัดนี้มีชื่อว่า “วัดดุสิตตาราม”  เพื่อนข้าพเจ้าคนนี้เล่าว่า บริเวณนี้คือเมรุเผาศพ และทางวัดแห่งนี้ อนุญาตให้ใช้เป็นที่จอดรถสำหรับคนทุกศาสนาโดยจะเก็บค่าจอดรถเพียง 20 บาท ต่อคัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า การที่จะเดินทางเข้ามาในชุมชนแห่งนี้ต้องผ่านบริเวณนี้ก่อนเพื่อจอดรถยนต์และเดินเข้าไปในชุมชน  แต่ความพิเศษมันอยู่ตรงที่ ในวันพิเศษของชาวมุสลิมหรือที่เรียกว่าวันออกอีด ไม่ว่าจะเป็น วันอิดิลฟิตรี หรือ อิดิลอัฎฮา  ทางวัดอนุญาตให้จอดรถยนต์ฟรีโดยไม่เก็บค่าจอด  เป็นความเกื้อกูลกันมานานของคนในชุมชนนี้  ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่า ความต่างไม่ใช่อุปสรรคในการที่เราจะเอื้อเฟื้อและอาทรกัน  ซึ่งข้าพเจ้าขอเรียกวัฒนธรรมดีงามนี้ว่า “วัฒนธรรมเอื้ออาทร”  นับเป็นบทเรียนแรกของเช้าวันนี้ก่อนที่ข้าพเจ้าจะเดินเข้าไปสู่ชุมชนเพื่อร่วมกิจกรรมในวันพิเศษนี้

เท่าที่ข้าพเจ้าสังเกตนั้น ชุมชนนี้จัดว่าเป็นชุมชนที่มีมุสลิมค่อนข้างหนาแน่น  วันนี้ที่มัสยิดมีการรวมตัวจากชาวบ้านและคนต่างพื้นที่เพื่อมาร่วมประกอบศาสกิจในวันอิดิ๊ลอัฎฮา ช่วงเช้า 7.30  น. มีการละหมาดและอ่านคุตบะฮฺ ไปจนถึง 9 โมงเช้า  รอบบริเวณมัสยิดจึงคลาคล่ำไปด้วยผู้คน  เท่าที่สังเกต ชาวบ้านที่นี่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมดังกล่าวได้ดีมากเลยทีเดียว  โดยสังเกตจากการร่วมแรงร่วมใจในการจัดสรรหน้าที่ให้ต่างคนต่างรับผิดชอบกันไป และการอำนวยความสะดวกให้กับคนที่มาร่วมงาน โดยเฉพาะการให้เกียรติแก่สุภาพสตรี เด็กและผู้สูงวัย ของคนที่นี่ ซึ่งข้าพเจ้าขออนุญาตเรียกว่า “วัฒนธรรมสุภาพบุรุษ”   

        เท่าที่ข้าพเจ้าสังเกต  ตลอดภายในงาน เด็ก ผู้หญิง คนชรา และผู้เข้าร่วมงานที่มาจากต่างถิ่นจะถูกเชื้อเชิญให้นั่งในส่วนที่จัดสรรให้ เพื่อรอรับการเลี้ยงอาหารหลังจากการละหมาดเสร็จ  หน้าที่ในการอำนวยความสะดวกจะตกเป็นหน้าที่หลักของเหล่าสุภาพบุรุษที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นงานในครัว การประกอบอาหาร การจัดเตรียมอุปกรณ์ ตลอดจนการเสิร์ฟอาหารทุกอย่าง  ด้วยการรับอาสาจากหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ของที่นี่ ภายหลังเมื่อได้ยินเสียงประกาศจากโฆษกในการหาอาสาสมัคร ซึ่งเป็นภาพที่น่าดูชมสำหรับข้าพเจ้ายิ่งนัก  

เอายะลามาฝาก…บางกอกน้อย

        อาหารเช้าถูกเสิร์ฟมาบนโต๊ะอย่างรวดเร็วและว่องไว โดยเหล่าสุภาพบุรุษ  เมนูนี้เรียกได้ว่าเป็นเมนูที่ข้าพเจ้าไม่เคยลิ้มลองมาก่อนเลยในชีวิต  นั่นคือ “โจ๊กข้าวสาลี” หรือ “สะลัว” ตามชื่อเรียกขานของชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้  เท่าที่สังเกตเมนูนี้น่าจะเป็นเมนูหลักสำหรับมื้อเช้าของคนที่นี่แน่นอน สังเกตจากรับประทานอย่างเพลิดเพลินโดยข้ามผ่านถึงรสหรือกลิ่นเสมือนว่าเป็นความคุ้นเคย  ผิดจากข้าพเจ้าที่ต้องค่อย ๆ ป้อนเข้าปากคำต่อคำเพื่อสัมผัสถึงรสชาติของเมนูแปลกใหม่นี้ 

        ข้าพเจ้าถูกถามไถ่ถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่บ้านเกิดทันที หลังจากที่ผู้ร่วมโต๊ะ ซึ่งเป็นเหล่าบรรดามุสลิมะฮฺด้วยกันทราบว่า ข้าพเจ้ามาจาก จังหวัดยะลา  หนึ่งในผู้อาวุโสท่านหนึ่งที่ร่วมวงสนทนา เล่าถึงชีวิตในวันวาน ครั้งที่เคยเป็นอาจารย์สอนอยู่ในโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดยะลาเมื่อ 30 กว่าปีก่อน  ท่านเล่าบรรยายถึงความสงบร่มเย็น วิถีชิวิตของคนยะลา สถานที่โปรดของท่าน อาหารอร่อยที่ขึ้นชื่อ ตลอดจนความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยน่าอยู่ของเมืองยะลาได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน  ราวกับว่า ท่านเพิ่งได้จากยะลามาเมื่อไม่กี่วันนี้เอง ท่านพูดถึงเหตุการณ์ความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกวันนี้ว่า มันช่างแตกต่างกับเมื่อสามสิบปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง และที่สำคัญคือ ท่านไม่อาจคาดหวังหรือมองเห็นถึงสันติภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ได้เลย นี่คือความคิดเห็นและมุมมองของท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้  และข้าพเจ้ากลายเป็นนาฬิกาปลุกความทรงจำของท่านให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง

        ในวงสนทนาระหว่างมื้อเช้า ทุกคำถามถูกยิงตรงมาที่ข้าพเจ้า  เท่าที่สังเกต ข้าพเจ้ามองเห็นถึงความห่วงใยจากแววตาของผู้ตั้งคำถามได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นคำถามเกี่ยวกับความรุนแรง ความเป็นอยู่ จุดมุ่งหมายของการเดินทางมากรุงเทพฯ  ทุกคำถามถูกถ่ายทอดผ่านความรู้สึกของความเป็นประชาชาติเดียวกัน แม้จะอยู่ต่างที่ด้วยความไกลของระยะทางก็ตาม ถึงกระนั้นความเป็นหนึ่งเดียวยังคงเข้มข้นภายใต้จิตสำนึกแห่งความเป็น “สายเชือกเดียวกัน”  เสมอ

อาหารเที่ยงถูกยกมาหลังจากอาหารเช้าผ่านไปเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง  เมนูนี้ มีชื่อว่า “ข้าวหมกบริยานี”  ซึ่งผู้เสิร์ฟก็คือ สุภาพบุรุษ อีกเช่นเคย  เท่าที่สังเกต ถ้าคำนวณจากปริมาณของวัตถุดิบของอาหารก่อนการปรุงสุกแล้ว การใช้เวลาในกระบวนการทำนั้นนับได้ว่ามันช่างรวดเร็วมากจริง ๆ  ทว่าด้วยความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้าน จึงทำให้สิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ กลับเป็นไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ และคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “ความสามัคคี” นั้น มีพลังมากแค่ไหน  ซึ่งชาวบ้านในชุมชนที่นี่ก็ได้แสดงให้เห็นถึงพลังสามัคคีนี้ ด้วยการขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันภายใต้วัฒนธรรมที่ข้าพเจ้าเรียกว่า “วัฒนธรรมสุภาพบุรุษ” นั่นเอง

        วันนี้ข้าพเจ้า เอายะลามาฝาก… ขอบคุณทุกท่านที่นี่ ที่กรุณารับไว้

 

ชื่อเรื่อง : เรื่องเล่า…เท่าที่สังเกต

ตอน : จากยะลาสู่…บางกอกน้อย    

เขียนโดย : สายลมแห่งตักวา