Skip to main content

เผยแพร่วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

 
 
แถลงการณ์
ให้รัฐบาลเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการสืบสวนสอบสวน
กำหนดเป็นนโยบายหลักด้านความมั่นคงในสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
สร้างมั่นใจเชื่อมั่นต่อระบบนิติรัฐ
 
            จากเหตุการณ์ที่ครูสองสามีภรรยาอายุกว่า 50 ปี ยังคงตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง โดยเมื่อเวลาเช้าตรู่ของวันอังคารที่ 7 ก.ย.2553 ครูวิลาศ เพชรพรหมอายุ 54 ปี และครูคมขำเพชรพรหม อายุ 52 ปีถูกยิงเสียชีวิตด้วยอาวุธสงคราม ขณะขี่รถจักรยานยนต์นำผักไปส่งที่ตลาดตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ซึ่งนับเป็นบุคลากรทางการศึกษารายที่ 134 และ 135  หรือเป็นผู้เสียชีวิตลำดับที่4343 และ 4344 ที่เสียชีวิตไปท่ามกลางความไม่ชัดเจนของเหตุและผลของการตกเป็นเป้าสังหารในสถานการณ์ความไม่สงบ
 
ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่าสถิติเหตุการณ์เดือนสิงหาคมปีพ.ศ. 2553 มีเหตุก่อความรุนแรงทั้งสิ้น 64 เหตุการณ์ เสียชีวิต 40 ราย บาดเจ็บ 41 ราย สถิติในเดือนกรกฎาคม มีเหตุก่อความรุนแรง 75 เหตุการณ์ เสียชีวิต 40 ราย บาดเจ็บ 52 ราย ตลอดเดือนมกราคม 47- สิงหาคม 53 มีเหตุก่อความรุนแรง 9,986 เหตุการณ์ เสียชีวิตรวม 4,342 ราย บาดเจ็บ 7,129 ราย ในกันยายน ปีพ.ศ. 2553 มีเหตุร้าย การฆ่า การลอบวางระเบิด และการก่อเหตุในลักษณะก่อกวนเกิดขึ้นในพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นราธิวาส  เหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนซึ่งมักจะตรงกับช่วงปลายปีงบประมาณของทุกปีมักถูกอธิบายเป็นสองเรื่องราวที่แตกต่างกัน คำอธิบายชุดหนึ่งคือการบิดเบือนศาสนาว่าการกระทำการในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นการได้รับบุญสองเท่า หรือคำอธิบายอีกชุดหนึ่งคือเป็นช่วงการโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่ในหน่วยงานด้านความมั่นคงทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงสูงขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ดีความรู้สึกของสังคมหรือของกลุ่มคนต่างมุมมองสามารถอธิบายได้ในระดับหนึ่ง  ความรับผิดชอบในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนทั้งชีวิตและทรัพย์สินและการนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบหรือเจ้าหน้าที่รัฐบางคนก็ยังตกอยู่กับรัฐและหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ทั้งฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายปกครอง รวมทั้งด้านกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นเสาหลักหนึ่งของการสร้างความสงบลดความขัดแย้งในสังคม
 
ความไม่ชัดเจนในกรณีการสืบสวนสอบสวนสาเหตุการลอบสังหารบุคคลกรทางการศึกษาหรือครูจำนวน 134 คนที่ถูกลอบสังหาร ระหว่างปีพ.ศ. 2547ปัจจุบันนั้นรัฐบาลไม่อาจปฏิเสธถึงความรับผิดชอบต่อประชาชนได้ โดยต้องมีการเปิดเผยถึงสถานะทางคดีการตรวจสอบประสิทธิภาพในการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เหตุใดจึงไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อยุติป้องกันเหตุร้าย และเพื่อให้ญาติและผู้เสียหายได้รับการเยียวยาด้านความยุติธรรมที่สำคัญไปไม่น้อยไปกว่าการเยียวยาด้านมนุษยธรรมที่รัฐดำเนินการอยู่แล้ว   
 
ความรู้สึกว่าไม่ได้รับการเยียวยาด้านความเป็นธรรมเหล่านี้ก็ไม่น้อยไปกว่ากรณีการฟ้องร้องคดีอาญากรณีการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัวของนายยะผา กาเซ็งที่ศาลยุติธรรมจังหวัดนราธิวาสไม่รับฟ้องและชี้แนะให้ญาติไปฟ้องศาลทหารเอง หรือกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีคำสั่งไม่ฟ้องไปให้พนักงานอัยการกรณีอดีตทหารพรานตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วมในการสังหารชาวบ้านจำนวน 10 คนในมัสยิดไอร์ปาแย จ.นราธิวาส ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่อาจสร้างบรรยากาศและความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในกลุ่มผู้เสียหายและประชาชนในพื้นที่
 
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนสอบสวน สร้างกลไกด้านความยุติธรรมที่ประสิทธิภาพ และการนำคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม โดยให้ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง รวมทั้งฝ่ายกฎหมายทบทวนบทบาทของตนเอง กำหนดยุทธ์ศาสตร์การทำงานเพื่อหาแนวทางนำคนผิดมาลงโทษโดยใช้กลไกด้านยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เลือกปฏิบัติ เป็นอิสระไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ด้วยความเป็นมืออาชีพ นิติวิทยาศาสตร์ และยืนยันว่าจะใช้หนทางตามแนวทางตามกฎหมายการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด โดยต้องสร้างให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานด้านการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ทั้งผู้เสียหาย ผู้ถูกกล่าวหา และสาธารณะชน รับรู้และตรวจสอบได้ เพื่อสร้างมั่นใจเชื่อมั่นต่อระบบนิติรัฐของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงต่อผู้เสียหาย ผู้ถูกกล่าวหา และสาธารณะชน
 
แถลงการณ์ลงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553