Skip to main content

 

เส้นทางการเดินทาง ...

เยี่ยมเยือนคนสยาม ตุมปัต โกตาบารู กลันตัน ...

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

ผมใช้เวลาในการเดินทางจากบ้านถึงด่านตรวจคนเข้าเมืองราวๆ 3 ชั่วโมงเศษๆ  หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการของการตรวจคนเข้าเมือง  ใช้เวลาเดินทางไปยังวัดพิกุลทองวราราม เป้าหมายแรกก็ราว 1 ชั่วโมง  ซึ่งที่วัดแห่งนี้ ผมกับพี่ๆ อีกหลายคน เคยมาเมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่ผ่านมา ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้มาเยี่ยมอีกครั้ง

 

ผมมีโอกาสได้ไปกราบนมัสการท่านเจ้าอาวาส วัดพิกุลทองวราราม ตั้งอยู่บ้านเกาะเสม็ด ห่างจากตัวอำเภอตุมปัต รัฐกลันตัน ประมาณ 1 ก.ม.

ตามประวัติ วัดแห่งนี้มีอายุประมาณ 700 ปี ปัจจุบันพระวิจารณ์วุฒิคุณ เป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะรัฐกลันตัน มีสิ่ง ก่อสร้างและศาสนสถานที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ “พระพุทธลีลามหามงคล” สร้างเมื่อ พ.ศ. 2529 จำลองแบบมาจากพุทธมลฑล จังหวัดนครปฐม มีอุโบสถที่ได้รับการบูรณะต่อเติมจากเดิมที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2467 และมีต้นพิกุลศักดิ์สิทธิ์ มีอายุประมาณ 300 กว่าปี

ผมมีโอกาสได้ฟัง พระครูสุวรรณวรานุกูล รองเจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง ตุมปัต รัฐกลันตัน คุยให้ฟังถึงเรื่องความรักใคร่กลมเกลียวกันของชาวตุมปัต ว่า เคยมีวัยรุ่นชาวสยามไปมีเรื่องวิวาทกับวัยรุ่นยะโฮห์ เมื่อคนตุมปัต กลันตัน ทราบเรื่อง จะรวมคนเพื่อไปช่วยทันที

หรือแม้แต่คำถามที่คนในวงถามท่านว่า หากให้กลับไปอยู่เมืองไทย ท่านจะกลับหรือไม่ ?

คำตอบที่ได้ฟังอย่างชัดเจน คือ ไม่กลับแล้ว เพราะที่นี่ คือบ้านเกิดของท่าน และมาเลเซียก็ให้สิทธิกับคนสยามที่นี่ โดยระบุเชื้อชาติในบัตรประจำตัวประชาชนว่า "เซียม" ซึ่งหมายถึง สยาม

และในงานประเพณีต่างๆ ก็สามารถจัดได้ แถมมีคนมาเลเซีย เข้ามาเที่ยวและเปิดร้านค้าขายอีกด้วย หรือแม้แต่ชาวมาเลเซีย มีกิจกรรมทางศาสนา พระในวัด หรือชาวสยาม ก็จะไปร่วมงานกันอยู่เป็นประจำ ไม่ละทิ้งในเรื่องเหล่านี้

รัฐ ก็จะช่วยส่งเสริมงบประมาณดูแลศาสนาพุทธด้วยเช่นกัน โดยมีการส่งตรงมายังวัด โดยไม่ผ่านขั้นตอนใด

สิ่งที่ยึดโยงความเป็นคนไทย คนสยามที่นี่ คือ พุทธศาสนา และการเรียนภาษาไทย ซึ่งมีเปิดสอนตามวัดทุกวัดของกลันตัน

 

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู

หลังจากนั้น ผมและคณะมีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู มีโอกาสได้พบกับท่านกงสุลใหญ่ ในลักษณะของการพูดคุยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า ท่านกงสุลใหญ่ท่านก็ฉลาดนะครับ ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้เราถามเรื่องราวต่างๆ ของที่นี่ โดยการยิงคำถามให้เราตอบ จนหมดเวลาในการคุย

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมรู้จากท่านกงสุล อีกท่านคือ เรื่องราวของพี่น้องมุสลิมที่มาตกระกำลำบากที่นี้ ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาล หรือแม้แต่ต้องอาศัยอยู่ตามป่าไกลๆ แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากสถานกงสุลใหญ่ ในที่สุด แต่ก็นั้นละครับ กว่าจะได้รับความช่วยเหลือก็ใช้เวลานานหลายวันทีเดียว

 

เรื่องราวสั้นๆ ของการเรียนรู้ชีวิตคนไทย หรือคนสยามในต่างแดน ที่เขาไม่อยากจะกลับมาบ้านเรา ...

 

๕|๑๐|๒๕๕๙