Skip to main content

อาบีบุสตา ดอเลาะ                                                                                                                                                                                   (สถาบันปาตานี)

ปาตานีตกเป็นเมืองขึ้นของสยามภายหลังแพ้สงครามในปี พ.ศ.2329(ค.ศ.1786) และถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยามในปี พ.ศ.2452(ค.ศ.1909) ด้วยสนธิสัญญา Anglo-Siamese Treaty ซึ่งเป็นข้อตกลงแบ่งเขตแดนระหว่างสยามกับอังกฤษ คำถามคือ สนธิสัญญาดังกล่าวมีความชอบธรรมหรือสามารถสร้างความชอบธรรมมากน้อยเพียงใดให้แก่สยามในการผนวกดินแดนปาตานี เนื่องจากเจ้าเมืองและประชาชนปาตานี ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือเห็นด้วยกับข้อตกลงดังกล่าว

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475(ค.ศ.1932) ภายหลังจากปาตานีถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยาม 23 ปี สยามได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย พร้อมๆกับการเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญได้สร้างความชอบธรรมให้แก่สยามในการปกครองปาตานีอย่างเป็นทางการ และถูกใช้เป็นข้ออ้างยันกับขบวนการการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยรัฐปาตานี

เพราะระบอบประชาธิปไตย คือ การแสดงออกว่าประชาชนทุกคนตกลงร่วมกันที่จะต่อสู้อย่างสันติในการต่อรองผลประโยชน์ภายใต้รัฐใดรัฐหนึ่ง การที่สยามเปลี่ยนมาใช้ระบอบประชาธิปไตยในการปกครองจึงเป็นการชี้ให้เห็นว่า ประชาชนปาตานีตกลงยินยอมที่จะต่อรองและแสวงหาผลประโยชน์ภายใต้รัฐสยาม ซึ่งจะแสดงออกผ่านบทบัญญัติต่างๆที่ รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อสังเกตและข้อพิจารณาดังนี้

รัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งใช้ชื่อว่า พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ.2475 บัญญัติในมาตรา 1 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย”จะเห็นว่าเดิมทีนั้นในรัฐธรรมนูญสยามจะไม่มีบทบัญญัติที่บัญญัติว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกันจะแบ่งแยกมิได้” ตามที่เราเห็นกันในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ต่อมาในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งใช้ชื่อว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามได้มีการบัญญัติ ในมาตรา 1 วรรคแรกว่า “สยามประเทศเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้” วรรคสอง“ประชาชนชาวสยามไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมูญนี้เสมอกัน”และในมาตรา 2 บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใชอำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”สังเกตว่าในรัฐธรรมนูญฉบับที่สองในมาตรา 1 จะมีการกล่าวถึงเรื่องดินแดน ในนัยที่ว่าแผ่นดินทั้งหมดในสยามประเทศเป็นแผ่นดินเดียวกันมีเพียงหนึ่งรัฐ มิได้มาจากการประกอบสร้างจากการรวมรัฐหรือผนวกดินแดนของรัฐใด และกำหนดให้ประชาชนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันเป็นการผูกมัดไม่ให้ประชาชนปาตานีกระทำการที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ในความหมายการแบ่งแยกดินแดนทำไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และในมาตรา 2 ได้ถูกสร้างเพื่อแสดงว่าประชาชนปาตานีเป็นเจ้าของประเทศสยาม และได้มอบอำนาจอธิปไตยของตนมอบให้แก่รัฐสยามเพื่อทำการปกครองดินแดนปาตานี

อย่างไรก็ตาม คำว่า “สยาม” ยังคงเป็นคำที่เป็นปฏิปักษ์และรู้สึกว่าเป็นศัตรูมิได้เป็นพวกเดียวกันในความรู้สึกนึกคิดของคนปาตานี จนกระทั้งในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ซึ่งใช้ชื่อว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2489 ได้มีการบัญญัติในมาตรา 1 วรรคแรกว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้” วรรคสอง“ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิดหรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมูญนี้เสมอกัน”และในมาตรา 2 บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใชอำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 มีการบัญญัติเนื้อหาโดยมีความหมายเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ทุกประการ มีเพียงการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามมาเป็นประเทศไทยเท่านั้น การเปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นประเทศไทยในรัฐธรรมนูญ เป็นความพยายามที่สะท้อนถึงความต้องการของรัฐไทยที่จะสลายความรู้สึกเจ็บปวดของคนปาตานีที่ถูกสยามผนวกดินแดน โดยการลบล้างคำว่า “สยาม”อันหมายถึงรัฐที่เป็นนักล่าอาณานิคมรุกรานดินแดนปาตานี และสร้างประเทศใหม่ในภาพที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันที่ชื่อว่า ประเทศไทย

หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับก็ได้บัญญัติว่า“ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแบ่งแยกมิได้”ในมาตราที่ 1 แม้ว่ารัฐธรรมนูญไทยจะถูกฉีกจากการรัฐประหารบ่อยครั้ง และมีการร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ก็ตาม แต่มาตราที่ 1 ของรัฐธรรมนูญไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลงอีกเลย