โรงเรียนทวิภาษา แก้ปัญหาการเรียนของเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา โครงการด้านการศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้ได้รับรางวัล King Sejong Literacy Prize จากองค์การยูเนสโก จากความสำเร็จในการทำให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาที่ใช้ภาษามลายูปาตานีเป็นภาษาแม่ มีผลการเรียนดีขึ้นอย่างยั่งยืน หลังจากที่ผ่านมาความไม่ถนัดเรื่องภาษาส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก และทำให้ไม่อยากมาโรงเรียน
วันนี้บีบีซีไทยพาแฟนเพจไปเยือนโรงเรียนบ้านลดา จ.ปัตตานี หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้ โรงเรียนแห่งนี้ทำการเรียนการสอนโดยใช้สื่อภาษามลายูถิ่นเป็นพื้นฐานในการพัฒนาสมองและการเรียนรู้ของเด็ก ก่อนจะเชื่อมโยงกับทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน ในภาษาไทย
ศ.เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัยปฏิบัติการเรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษา (ภาษาไทย - มลายูถิ่น) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ม.มหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และองค์การยูนิเซฟ ระบุว่า โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ 9 ปีก่อน โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นโรงเรียนที่นักเรียนใช้ภาษามลายูถิ่น 100% และมีครูที่มีความรู้ภาษาถิ่นด้วย
ในช่วงแรก ครูจะสอนโดยให้นักเรียนอ่านภาษามลายูถิ่นที่สะกดด้วยตัวอักษรไทยที่ได้พัฒนาขึ้นใหม่ ขณะที่การเรียนในวิชาที่มีความซับซ้อน ครูจะใช้ภาษาถิ่นในการอธิบายเนื้อหาควบคู่ไปกับการเรียนการสอนภาษาไทยตามปกติ และในระดับประถมปลายก็จะมีการเชื่อมโยงการเรียนรู้จากภาษามลายูถิ่นไปสู่ภาษามลายูมาตรฐานที่เป็นอักษรรูมี-โรมัน และอักษรยาวี
ด้าน ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ สินธนา คณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฎยะลาระบุว่า จากการประเมินผลการศึกษาของนักเรียนในโรงเรียนทวิภาษากับโรงเรียนที่ใช้เป็นคู่เปรียบเทียบในระยะเวลา 6 ปี พบว่า นักเรียนทวิภาษามีคะแนนเฉลี่ยผ่านเกณฑ์ที่สูงกว่า และมีความกระตือรือร้นในการอ่าน
อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ศุภลักษณ์ ย้ำว่า “ไม่ได้หมายความว่าทุกโรงเรียนหรือเด็กทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้ด้วยวิธีนี้ เพราะอาจจะเหมาะกับบางโรงเรียน ที่สำคัญการสอนในลักษณะนี้มีเงื่อนไขคือต้องมีครูที่ใช้ภาษาแม่และได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ ซึ่งหากเป็นโรงเรียนในเขตเมือง ที่เด็กใช้ภาษาไทยได้แล้ว การเรียนการสอนในลักษณะนี้ก็ไม่จำเป็น”
หมายเหตุ รายงานข่าวชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรก ที่ BBC ไทย