คอลัมนิสต์ "มาเลเซียกินี" ให้สัมภาษณ์สื่อสิงคโปร์ ชี้ก้าวแรกต้องแก้ปัญหาบุคคลสองสัญชาติ ขณะที่โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาพื้นที่เขตชายแดนไทย-มาเลเซีย ต้องเริ่มต้นจากมาตรการระดับเล็กๆ อาทิ การออกใบอนุญาตแรงงานไทยในมาเลย์หรือการสนับสนุนการศึกษาและให้โอกาสทางอาชีพในมาเลย์แก่คนไทยในภาคใต้ ระบุยังไม่ควรลงทุนในระดับมหภาค เพราะปัญหาก่อการร้ายในพื้นที่ยังไม่จบง่ายๆ ซ้ำยังมีทีท่าจะขยายตัวออกไปด้วย
สำนักข่าว RSI : Radio Singapore International ประเทศสิงคโปร์ เผยแพร่บทสัมภาษณ์ "นายจอช หง" (Josh Hong) คอลัมนิสต์ประจำเวบไซต์สื่ออิสระ "มาเลเซียกินี" (Malaysiakini) และนักวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองชาวมาเลย์ ต่อกรณีที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเชีย ลงนามในบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 10 โดยเนื้อหาเป็นการร่วมพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจในเขตพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยและ 4 รัฐทางตอนเหนือของมาเลเชีย อันจะเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาความรุนแรงในเขตพื้นที่ภาคใต้ของไทย กำลังได้รับความสนใจจากสื่อต่างชาติเป็นอย่างมาก เนื่องจากหลายฝ่ายมองว่าเป็น "การละเมิดสิทธิมนุษยชน" ที่ควรได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรก
ตามบทสัมภาษณ์ สำนักข่าว RSI ได้ถามนายจอช หง ถึงประเด็นการหารือเรื่องปัญหาความมั่นคงระหว่าง รมต.ต่างประเทศของมาเลเซียกับนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งมีขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งนายจอช หง ยอมรับว่าปัญหาความมั่นคงในภาคใต้มีมูลความจริง และปัจจุบันได้บานปลายจนขยายพื้นที่จาก 3 จังหวัด (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ไปถึงจังหวัดสงขลาแล้ว โดยยังชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐทั้ง 4 ทางตอนเหนือของมาเลเซียล้อมรอบประเทศไทยอยู่ ดังนั้น ภัยต่อความมั่นคงจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง
นายจอช หง กล่าวด้วยว่า ตนได้รับรายงานทั้งจากสื่อและจากกลุ่มต่างๆ ซึ่งระบุว่าการโจมตีที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทยนั้น ถูกวางแผนในรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย ซึ่งหมายถึงรัฐตรังกานูและรัฐกลันตันด้วย ทั้งนี้ แม้จะไม่ปรากฎหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ามีฐานฝึก ‘กระบวนการก่อการร้าย' ในมาเลเซียก็ตาม
คอลัมนิสต์มาเลเซียกินีผู้นี้ ยังได้เสนอว่า ก้าวแรกที่จะช่วยแก้ไขในประเด็นความไม่สงบที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน คือต้องแก้ปัญหาเรื่อง ‘บุคคลสองสัญชาติ' (Dual Nationality) เสียก่อน
"อย่างที่เรารู้ๆ กันว่าภาคใต้ของไทยและภาคเหนือของมาเลเซียมีลักษณะที่คล้ายคลึงกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเชื่อมโยงกันของภาษา วัฒนธรรม ศาสนา และเชื้อชาติ ประชากรส่วนใหญ่ในมาเลเซียเป็นชาวมาเลย์ พวกเขาพูดภาษามาเลย์ นับถือศาสนาอิสลาม และมีความเชื่อพื้นฐานที่เหมือนๆ กัน นอกจากนี้ ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ ประชาชนชาวมาเลเซียและชาวไทยในภาคใต้จำนวนมากเป็นบุคคลสองสัญชาติ นั่นหมายถึงว่าพวกเขาเป็นทั้งคนสัญชาติไทยและได้รับการยอมรับจากมาเลเซียว่าเป็นคนเชื้อชาติมาเลย์ด้วย หรือในทำนองเดียวกัน พวกเขาอาจจะได้รับสิทธิพลเมืองของทั้งสองประเทศพร้อมกันเลย"
นายจอช หง ระบุว่า ก้าวแรกของการแก้ปัญหาก็คือการขจัดความสับสนเรื่องสิทธิพลเมืองของทั้งสองประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องไม่อนุมัติให้ประชาชนของตัวเองถือสิทธิ์การเป็นบุคคลสองสัญชาติ เพื่อที่การข้ามแดนไปยังอีกฝั่งจะได้ไม่เกิดขึ้นอย่างง่ายดายนัก
"ผมคิดว่านี่คือก้าวแรกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่านี้ และเป็นเรื่องที่รัฐบาลของทั้งสองประเทศต้องรับมือ ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลไทยคงคิดที่จะจัดการแก้ปัญหาเรื่องนี้สักระยะหนึ่งแล้ว เพราะมันเป็นประเด็นที่ยังคาราคาซังอยู่"
สำหรับประเด็นคำถามเรื่องการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย จะส่งผลกระทบต่อแผนความร่วมมือนี้หรือไม่ นายจอช หง ตอบว่า คงเป็นอย่างนั้น เนื่องจากทุกคนรู้ดีว่าประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ และคนมุสลิมก็มีเพียงแค่ร้อยละ 5 ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น ขณะที่ความรู้สึกที่กำลังครอบงำชาวไทยพุทธในตอนนี้ ก็คือความรู้สึกแปลกแยกที่พวกเขามีต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘การสมานฉันท์' ซึ่งรัฐบาลทหารชุดปัจจุบันพยายามใช้ในการแก้ปัญหาจลาจลที่ภาคใต้
"พูดกันตรงๆ ก็คือว่าถ้าหากประชาชนที่เป็นชาวไทยพุทธลงคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นว่าไม่เอาพรรคที่รัฐบาลทหารให้การสนับสนุนอยู่ มันก็คงจะสร้างความสั่นสะเทือนต่อแผนการสร้างสันติภาพที่รัฐบาลทหารกำลังทำอยู่อย่างมากทีเดียว"
นายจอช หง ยังได้กล่าวถึงโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาพื้นที่เขตชายแดนใต้ของไทยและตอนเหนือของมาเลเซียที่ได้ลงนามไปเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า คงไม่สามารถคาดหวังอะไรได้มากในสภาวะแบบที่เป็นอยู่นี้ เพราะการก่อการร้ายยังเป็นปัญหาใหญ่ และไม่คิดว่าปัญหานี้จะหายไปภายในเวลาชั่วข้ามคืน แต่อย่างไรก็ดี ยังสามารถเริ่มต้นได้ที่มาตรการเสริมสร้างความมั่นใจในระดับเล็กๆ ไปก่อน อย่างเช่น การเสนอให้ความช่วยเหลือจากมาเลเซียสู่ประชาชนที่อยู่ชายแดนใต้ของไทย
"ตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ เรื่องของการศึกษา ถ้ารัฐบาลมาเลเซียมีความตั้งใจจริง เราอาจช่วยชาวไทยในภาคใต้ได้ด้วยการให้ความรู้ จัดตั้งโรงเรียนขึ้นมา รวมถึงการเสนอโอกาสทางอาชีพการงาน เพื่อให้มีกิจกรรมความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจขนาดเล็กเกิดขึ้นในตอนเหนือของรัฐในมาเลเซียและภาคใต้ของไทย"
"ผมไม่รู้ว่าทำไมคนไทยที่อยู่ภาคใต้ถึงไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปหางานทำในมาเลเซีย และนักลงทุนชาวมาเลเซียก็ไม่สามารถไปลงทุนที่ภาคใต้ของไทยได้ ผมคิดว่าเราจะต้องเริ่มต้นที่ก้าวเล็กๆ ก่อน เราคงยังไม่อาจพูดถึงการลงทุนระดับมหภาคได้ในตอนนี้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นยังดำเนินอยู่และกำลังขยายตัวออกไปเสียด้วย" นายจอช หง กล่าวในตอนท้าย
สำหรับบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 10 ได้ระบุความร่วมมือเพื่อพัฒนาชายแดนไทย-มาเลเซีย ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ของไทยและพื้นที่ 4 รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย ประกอบด้วย การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ การสร้างโอกาสในการจ้างงาน และการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังได้แตกออกไปอีกเป็น 9 สาขา ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างสาธารณูป โภคและการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่ง 2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา 3.การท่องเที่ยว 4.วัฒนธรรม 5.การค้าและการลงทุน 6.การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และชลประทาน 7.การเงินและการคลัง 8.พลังงาน และ 9.การบรรเทาสาธารณภัย