Skip to main content

 

เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงในพระบรมโกศกับพอสมควรในอิสลาม

 

โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

 

ขอบคุณภาพจาก www.cs.udru.ac.th

 

หนึ่งในพระอัจฉริยภาพอันโดดเด่นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศคือทรงแนะนำเศรษฐกิจพอเพียง หรือ Sufficiency Economy ให้คนไทยและคนทั้งโลกได้รู้จักและได้ใช้โดยทรงกำหนดแนวทางไว้ชัดเจน หลายคนเข้าใจว่าสิ่งนี้คือปรัชญาหรือกรอบแนวคิดทว่าเมื่อได้สัมผัสกลับปรากฏว่าแนวทางนี้สามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้จริง เศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นทฤษฎีทางเศรษฐกิจที่สมควรอย่างยิ่งที่จะนำเข้ามาทดแทนทฤษฎีเศรษฐกิจแบบทุนนิยมตะวันตกซึ่งเน้นการกระตุ้นการบริโภคเป็นหลัก

อดัม สมิธ (Adam Smith) หนึ่งในผู้แนะนำทฤษฎีเศรษฐกิจแบบทุนนิยมตะวันตกที่โดดเด่นที่สุดเขียนไว้ใน ค.ศ.1776 ว่าความมัธยัสถ์นั้นแม้ดีต่อปัจเจกบุคคลทว่าเป็นหายนะสำหรับระบบเศรษฐกิจ ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากความถดถอยคือต้องกระตุ้นปัจเจกบุคคลให้ใช้จ่ายไม่ใช่ให้มัธยัสถ์ แนวคิดเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศที่ทรงแนะนำใช้บริโภคอย่างไม่เกินตัว ทั้งยังขัดแย้งกับทฤษฎีเศรษฐกิจอิสลาม ซึ่ง ดร.ยูซุฟ ก็อราฎาวี (Yusuf Qaradawi) นักวิชาการศาสนาอิสลามนามอุโฆษเขียนไว้ใน ค.ศ.1960 ว่าสิ่งที่อนุมัติในอิสลาม (หะลาล) คือความพอเพียงและมัธยัสถ์ สิ่งที่ห้ามในอิสลาม (หะรอม) คือความสุรุ่ยสุร่ายและฟุ่มเพือย ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศจึงสอดคล้องกับทฤษฎีเศรษฐกิจอิสลามอย่างพอเหมาะพอเจาะ

นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) กำหนดจริยวัตรการบริโภคของท่านไว้ตามแนวทางที่เรียกกันง่ายๆว่า “พอสมควร” ซึ่งประกอบไปด้วยตัวอักษรไทย 7 ตัว ได้แก่ พ-พาน อ-อ่าง ส-เสือ ม-ม้า ค-ควาย ว-แหวน ร-เรือ ภาษาอาหรับใช้คำว่า “กิฟายะฮ์” (كفاية Kifayah) ส่วนภาษาอังกฤษคือ Sufficiency ที่แปลว่าพอเพียง นี่คือข้อสรุปจริยธรรมการบริโภคของท่านนบีและของอิสลามที่เหมาะสมที่สุด

พ-พร (Supplication) ในภาษาอาหรับใช้คำว่า “ดุอาอ์” (دعاء Du’a) ก่อนและหลังรับประทานอาหารทุกครั้งนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้าด้วยคำสั้นๆว่า “บิสมิลลาฮิรเราะฮ์มานิลเราะฮีม” (بِسۡمِٱللهِ ٱلرَّحۡمَـٰنِ ٱلرَّحِيمِ Bismilla hirrahma nirrahheem) ซึ่งแปลได้ใจความว่าด้วยพระนามของอัลลอฮ์ผู้ทรงกรุณาปราณีผู้ทรงเมตตา โดยท่านนบีไม่เพียงอ่านคำขอพรอย่างเดียวแต่ยังกำหนดจิตขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงจัดเตรียมอาหารไว้ ท่านนบีแนะนำให้ทุกคนขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าสำหรับอาหารในแต่ละมื้อซึ่งมีส่วนอย่างสำคัญทำให้ชีวิตยืนยาวกระทั่งสามารถขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าในวันต่อๆไป

อ-อนามัย (Healthy) ในภาษาอาหรับใช้คำว่า “ซาฮะฮ์” (صحة Sahah) หมายถึงสุขภาพ หรือ “นะฎอฟะฮ์” (نظافة Nadhafah) หมายถึงความสะอาด โดยก่อนการรับประทานอาหารทุกครั้ง นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ล้างมือทั้งสองข้างจนสะอาดทั้งแนะนำให้ทุกคนล้างมือก่อนการรับประทานอาหาร นอกจากนี้ท่านนบียังแปรงฟันก่อนอาหารแทบทุกมื้อโดยวิธีการง่ายๆที่เรียกว่า “มิสวัก” (Miswak) โดยใช้กิ่งไม้ที่เรียกว่า “อัลซาวาก” (السواك Sawaak) ซึ่งเป็นกิ่งไม้จากต้นอะรัก (Arak) หรือ Salvadora persica เคี้ยวปลายกิ่งกระทั่งแตกเป็นฝอยเกิดเป็นแปรงธรรมชาติขึ้นจากนั้นจึงขัดฟันให้ทั่ว การมิสวักช่วยให้ปากสดชื่น ทั้งรากไม้มีฤทธิ์ทำลายแบคทีเรียและเชื้อโรคในปาก ช่วยรักษาฟันและป้องกันโรคเหงือกได้ดี

นอกจากการล้างมือและมิสวัก มีอยู่หลายครั้งที่นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ปฏิบัติก่อนการรับประทานอาหารคืออาบน้ำละหมาด สิ่งนี้แม้ไม่ใช่ความจำเป็นแต่ท่านนบีเห็นว่าหน้าที่หนึ่งของอาหารในอิสลามคือเป็นเครื่องมือแสดงความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า อาหารมิได้ทำหน้าที่เพียงให้หายหิวแต่ยังยืดอายุขัยให้แสดงความภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าได้ยาวนานขึ้น การรับประทานอาหารที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงอนุมัติและเลี่ยงสิ่งที่ห้ามนับเป็นหนึ่งในจริยธรรมอิสลาม การอาบน้ำละหมาดนอกจากแสดงให้เห็นว่าการรับประทานอาหารเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความภักดีแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายสะอาดมากขึ้น ทั้งรู้สึกสดชื่นขึ้นอีกต่างหาก

ส-สงเคราะห์ (Charity) ในภาษาอาหรับใช้คำว่า “มุตะซอดดิก” (متصدق Mutasoddik) หรือ “ซอดะเกาะฮ์” (صدقة Sadaqah) เป็นอีกจริยธรรมอีกประการหนี่งในการบริโภคของท่านนบี โดยท่านแสดงความห่วงใยผู้อื่นเสมอว่ามีอาหารรับประทานหรือไม่ ท่านนบีกล่าวว่าอย่าปล่อยให้คนอื่นหิวขณะที่เราอิ่ม ท่านจึงดูแลและแบ่งปันให้ผู้อื่นก่อนเสมอด้วยอาหารที่มีคุณภาพเท่ากันหรือดีกว่าที่ท่านรับประทาน การสงเคราะห์ให้ผู้อื่นได้รับประทานกระทั่งหายหิวนั้นให้กระทำแก่มุสลิมและผู้ที่มิใช่มุสลิม เป็นจริยธรรมของการให้

ม-มัธยัสถ์ (Thrifty) ในภาษาอาหรับใช้คำว่า “มุกตอซิด” (مقتصد Muktasid) นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) รับประทานอาหารแต่น้อย ไม่ฟุ่มเฟือยในการกิน ท่านนั่งตัวตรง กินอาหารช้าๆ เคี้ยวอาหารช้าๆ กระทั่งละเอียด การทำเช่นนี้ทำให้อิ่มเร็วขึ้นโดยกินน้อยลงนับเป็นการรักษาสุขภาพที่ดีอีกวิธีหนึ่ง ท่านแนะนำให้แบ่งกระเพาะอาหารเป็นสามส่วนคือจัดพื้นที่ให้อาหารส่วนหนึ่ง ให้น้ำสะอาดอีกส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือปล่อยเป็นพื้นที่ว่างเพื่อให้การย่อยอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้น ท่านไม่แนะนำให้บริโภคจนอิ่มหรือเกินอิ่ม ความมัธยัสถ์ในการกินมีส่วนช่วยสร้างค่านิยมด้านความมัธยัสถ์ในเรื่องอื่นๆพร้อมกันไปด้วย

ค-คุณภาพ (Quality) ในภาษาอาหรับใช้คำว่า “เญาดะฮ์” (جودة Jawdah) หรือ “ตอยยิบ” (الطيب Tayyib) นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) เลือกอาหารที่มีคุณภาพ ทั้งเป็นอาหารที่ดีให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่ปนเปื้อนสารพิษหรือสิ่งอันตราย คุณภาพของอาหารจึงนับเป็นจริยธรรมสำคัญด้านการบริโภคสำหรับมุสลิม คัมภีร์อัลกุรอ่านกำหนดไว้ชัดเจนให้มนุษยชาติเลือกอาหารที่หะลาลหรือเป็นที่อนุมัติและตอยยิบคือมีคุณภาพ เป็นอาหารที่ดี สมบูรณ์ มีคุณค่าไปพร้อมๆกัน

ว-วิรัติ (Refrain) หรือการงดเว้นไม่กระทำในบางสิ่ง ซึ่งภาษาอาหรับใช้คำว่า “อิมตะนะอะ” (امتنع Imtana’a) อิสลามกำหนดให้มุสลิมและมนุษยชาติทั้งปวงงดเว้นไม่บริโภคอย่างน้อยสองเรื่อง โดยเรื่องแรกคือการถือศีลอดหรือไม่บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มหรือเสพสิ่งใดๆตั้งแต่ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นกระทั่งดวงอาทิตย์ตกตลอดเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนที่เก้าตามปฏิทินอาหรับ สิ่งนี้เป็นบัญญัติสำคัญของอิสลาม อีกสิ่งหนึ่งของการงดเว้นคือไม่บริโภคอาหารที่หะรอมตามศาสนบัญญัติอิสลาม

ประเด็นการงดเว้นหรือวิรัตินับเป็นจริยธรรมสำคัญในอิสลาม ให้ประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจากการฝึกฝนเพื่อเอาชนะความต้องการทางจิตใจของตนเองนับเป็นส่วนที่ยากที่สุด อาหารนั้นเย้ายวนต่อความต้องการเสมอ การกำหนดให้งดเว้นการบริโภคอาหารบางชนิด อีกทั้งกำหนดให้งดเว้นอาหารทุกชนิดในบางช่วงของปี เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อฝึกฝนคนให้เกิดวินัยในตนเอง สิ่งเหล่านี้มีส่วนอย่างสำคัญที่เปลี่ยนแปลงชาวอาหรับจากกลุ่มชนที่ค่อนข้างขาดความอดทนต่อความแตกต่างให้กลายเป็นกลุ่มชนที่เคารพในสิทธิของสตรี เด็ก ทาส คนชรารวมถึงชนต่างศาสนิกในที่สุด

ร-ร่วมกัน (Together) ในภาษาอาหรับใช้คำว่า “มะอัน” (معا Ma’an) สิ่งนี้นับเป็นอีกหนึ่งจริยธรรมสำคัญของอิสลาม โดยนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) แนะนำให้ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานอาหาร เป็นต้นว่า การกินร่วมกับครอบครัว พร้อมหน้าพร้อมตากัน หากมีญาติผู้ใหญ่ให้รับประทานอาหารพร้อมกับญาติเหล่านั้น มีลูกมีหลานไม่ควรปล่อยให้รับประทานลำพัง หากอยู่กับญาติมิตรก็ให้รับประทานอาหารร่วมกับญาติมิตร อย่าเคยชินกับการรับประทานอาหารคนเดียว เพราะเท่ากับเป็นการตัดขาดตนเองจากสังคม

“พอสมควร” ตามทฤษฎีเศรษฐกิจอิสลามสอดคล้องกับทฤษฎี “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศอย่างยิ่ง เป็นแนวทางปฏิบัติมิใช่เพียงปรัชญา สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาวิกฤติที่ทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่อันเป็นผลจากการก้าวตามรอยเศรษฐกิจบริโภคนิยมอย่างไม่ลืมหูลืมตา อันที่จริงทั้งคนไทยและมุสลิมมีเพชรล้ำค่าอยู่ในความครอบครอง จึงน่าเสียดายอย่างยิ่งหากไม่รู้จักนำมาใช้

(ดัดแปลงจากหนังสือ “นบีมูฮำมัด (ซ.ล.) มหาบุรุษผู้สร้างสังคมพหุวัฒนธรรม” โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน. ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2557)