Skip to main content

 

สนทนากับผู้เคยทำหน้าที่ล่ามภาษามลายูให้ในหลวง เรียนรู้ปรัชญา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ภาคปฏิบัติ

 

อิมรอน ซาเหาะ

 

 

หลายครั้งที่เคยมีโอกาสได้พูดคุยกับครูธีรพจน์ หะยีอาแว แห่งลุ่มน้ำสายบุรี ล่ามภาษามลายูส่วนพระองค์ท่านหนึ่งของในหลวง ทำให้ได้รู้ว่าในหลวงทรงงานหนักมากจริงๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผู้เขียนยังไม่เกิด จึงไม่แปลกใจเลยที่จะมีคนรักในหลวงมากมายดังที่เห็นทุกวันนี้ สิ่งสำคัญสำหรับคนที่บอกว่าตัวเองรักในหลวง คือควรนำคำสอนหรือแบบอย่างของในหลวงมาปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวันอย่างจริงๆ จังๆ ลงไปศึกษาเพื่อให้ “เข้าใจ” ลงไปที่จริงเพื่อ “เข้าถึง” อย่างถ่องแท้ในทุกมิติ ถ้าหากปฏิบัติอย่างจริงจัง ละเอียดอ่อนในการพินิจพิเคราะห์ ใช้สติพิจารณาอย่างรอบคอบ ผลข้างเคียงหลายอย่างในทางลบจะไม่มีทางตามมาเลย

แบบอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ หลักปรัชญา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ของในหลวง ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่แนวคิดแต่ในหลวงทรงปฏิบัติจริง ดังที่ ครูธีรพจน์ หะยีอาแว เคยอธิบายว่า ในพื้นที่ชายแดนใต้ในหลวงจะทำความเข้าใจพื้นที่ก่อน โดยศึกษาข้อมูลจากรายงานของครูธีรพจน์ที่เคยถวายว่าชุมชนไหนต้องการความช่วยเหลือหรือพัฒนาอะไรบ้าง และมีปัญหาอะไรบ้าง มีวิธีแก้ไขเบื้องต้นอย่างไรบ้าง ซึ่งข้อมูลของครูธีรพจน์ก็ได้จากการลงพื้นที่สำรวจตามคำแนะนำของในหลวงที่ทรงรับสั่งให้ครูธีรพจน์ใช้เวลาว่างจากการสอนไปสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในช่วงที่ในหลวงไม่ได้เสด็จมายังพื้นที่ หรือข้อมูลบางส่วนก็ได้จากการที่มีประชาชนมาขอความช่วยเหลือโดยตรงต่อครูธีรพจน์ เพราะทราบถึงบทบาทหน้าที่ของครูธีรพจน์

เมื่อศึกษาข้อมูลเบื้องต้นแล้ว ในหลวงก็จะลงพื้นที่ไปสำรวจพื้นที่จริงด้วยตัวเอง ก็คือ การเข้าถึงนั่นเอง หลังจากนั้นก็ทรงวางแผนเพื่อพัฒนาพื้นที่ต่อไป โดยการรับสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในส่วนนั้นๆ เข้ามาดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้อง อันเป็นที่มาของโครงการในพระราชดำริที่มีอยู่มากมายในพื้นที่

อีกประการที่เห็นได้ชัด ก็คือ ประโยคสำคัญของในหลวงดังที่หลายท่านกำลังนำเสนอในปัจจุบันนี้ คือ ประโยคที่ว่า "อะไรที่ทำได้ก็ทำ อะไรที่ทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ" ที่ในหลวงเคยตรัสกับอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา เมื่อครั้งยังเป็นประธานรัฐสภา ชี้ให้เห็นว่าในหลวงทรงเข้าใจมุสลิมจริงๆ ว่าผู้ที่เป็นมุสลิมนั้นย่อมมีข้อจำกัดบางประการ ตามกรอบของศาสนาและวัฒนธรรม ความละเอียดอ่อนของพระองค์ท่าน เช่นนี้ ผู้ที่ตั้งปณิธานว่าจะเดินตามแนวทางของท่าน จึงไม่ควรใช้การบีบบังคับแต่ควรทำความเข้าใจในรายละเอียดอย่างลึกซึ้งผ่านผู้รู้ให้รอบด้านดังที่ครูธีรพจน์ได้เล่าไว้ในเบื้องต้นแล้วนั่นเอง

 

หมายเหตุ : บุคคลอีกท่านในรูป (ที่ไม่ได้สวมเสื้อ) คือ ลุงวาเด็ง ปูเต๊ะ "พระสหายแห่งสายบุรี" ท่านเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2554 ด้วยวัยชรา ซึ่งในหลวงได้พบกับลุงวาเด็งครั้งแรกในขณะที่ในหลวงกำลังสำรวจสถานที่ที่เป็นต้นน้ำเพื่อสร้างคลองชลประทาน และพัฒนาพรุแฆแฆที่ครอบคลุม อ.สายบุรี และ อ.ปะนาเระ และทรงได้วางแผนสร้างประตูระบายน้ำและขุดลอกคลองใหม่ เอาน้ำจืดปล่อยลงไปบริเวณขอบพรุทั้งสองข้าง ทำให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์จากขอบพรุเหล่านั้นด้วย และสามารถเปลี่ยนดินเปรี้ยว ดินเค็ม ให้ชาวบ้านสามารถทำการเกษตรได้ ฯลฯ ในทุกๆ ปี ลุงวาเด็งจะเก็บทุเรียนและจำปะดะ อย่างละหนึ่งลูก ถวายให้ในหลวง ลุงวาเด็งใช้วิถีชีวิตแบบเรียบง่าย ทำนา ทำสวน สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง