Skip to main content

 

 

ใบแจ้งข่าว
วันที่ 24 กันยายน 2553 เวลา 9.30 น. ศาลอุทธรณ์ นัดอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ คดีนายสมชาย นีละไพจิตร กรณีถูกลักพาตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในคดีความผิดต่อเสรีภาพ และปล้นทรัพย์
ความเป็นมา
นายสมชาย นีละไพจิตร ถูกบังคับให้สูญหาย เมื่อเวลาประมาณ 20.30 น.วันที่ 12 มีนาคม 2547บนถนนรามคำแหง เยื้องกับสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก กรุงเทพมหานคร โดยเชื่อว่ามีมูลเหตุที่นายสมชายได้ร้องเรียนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการซ้อมทรมานผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นประชาชนในจังหวัดนราธิวาสในคดีปล้นปืน เผาโรงเรียน ทั้งนี้ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาในคดีความผิดต่อเสรีภาพ และปล้นทรัพย์ โดยมีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก จำเลยที่ 1 กับพวก คดีหมายเลขดำที่ 1952 / 2547 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 48 / 2549 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2549 โดยมีความสรุปว่า
“.. ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว โจทก์มีพยานเป็นพนักงานสอบสวน เบิกความสอดคล้องตรงกัน ทั้งเวลาและสถานที่ ทำให้เชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่านายสมชายหายตัวไปจริง ส่วนการที่โจทก์นำข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยทั้ง 5 ที่ติดต่อกันหลายครั้งในสถานที่ต่างๆ ในช่วงวันเวลาก่อนเกิดเหตุและในวันเกิดเหตุที่นายสมชายหายตัวไป ศาลเห็นว่ายังมีข้อสงสัยในเอกสารหลักฐานการใช้โทรศัพท์ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้นำ ผู้ช่วยผู้บัญชาการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ผช ผบ ตร.) และ รอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ บชน.)ที่อ้างว่าเป็นผู้ประสานขอเอกสารดังกล่าว จากบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่มาเบิกความยืนยันในชั้นศาล “
“ ... ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยยุติและปรศจากข้อสงสัยว่า ตามวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 3-5 คนได้ร่วมกันจับตัวนายสมชาย นีละไพจิตร เข้าไปในรถที่จำเลยที่ 1 กับพวกเตรียมมา โดยที่นายสมชาย นีละไพจิตร ไม่ยินยอมแล้วขับออกไปจากที่เกิดเหตุ .. “
 “ .. ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พ.ต.ต.เงินกระทำผิด ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรค 1 และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ให้กระทำการใด หรือไม่กระทำการใด โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรค 2 ให้ลงโทษในบทหนักสุด ฐานกักขังหน่วงเหนี่ยวเป็นเวลา 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 2-5 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐาน ในการกระทำผิดตามฟ้อง”
ความไม่เต็มใจของรัฐในการอำนวยความยุติธรรม
นายสมชาย นีละไพจิตร ถูกบังคับให้สูญหายในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชิณวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้ดูเหมือนว่ารัฐบาลขณะนั้นพยายามคลี่คลายคดี โดยการตั้งข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย ข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยว และปล้นทรัพย์ แต่เมื่อคดีถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาล กลับพบข้อเท็จจริงที่ปรากฎว่า พยานหลักฐานต่างๆในคดีถูกทำลายจนไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะสามารถนำมาใช้เพื่อประกอบในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ อีกทั้งการที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี เป็นสาเหตุที่ทำให้พยานเกิดความหวาดกลัวจากการถูกคุกคาม และพยานบางคนกลับคำให้การในชั้นศาล
พบว่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีความเต็มใจ(unwilling) ในการคลี่คลายคดีการสูญหายของนายสมชาย นีละไพจิตร อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการแทรกแซงการสืบสวน สอบสวนจากฝ่ายการเมืองมาโดยตลอด แม้ปัจจุบันคดีการเสียชีวิตของนายสมชาย อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และตามพระราชบัญญัติกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะให้อิสระและให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการทำหน้าที่กรณีประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้มีอิทธิพล แต่ที่ผ่านมาจนปัจจุบันกรมสอบสวนคดีพิเศษก็ประสบความล้มเหลวในการคลี่คลายคดีการฆาตกรรมนายสมชาย นีละไพจิตร และพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามที่สังคมคาดหวัง
ในส่วนการพิจารณาของ ปปช.เป็นไปอย่างล่าช้าอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับคดีอื่นที่ ปปช. รับไว้พิจารณา ซึ่งบางคดีมีการตัดสินชี้มูลอย่างรวดเร็ว ความล่าช้าของ ปปช. จึงส่งผลกระทบอย่างสูงต่อความปลอดภัยของพยานทุกคนในคดี โดยเฉพาะการที่พยานสำคัญคนหนึ่งได้หายตัวไปภายใต้การคุ้มครองพยานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระหว่างรอการให้การในชั้นศาล เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2552 ระหว่างการกลับไปเยี่ยมบ้านที่จังหวัดนราธิวาส ในขณะที่พยานอีกคนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงฟ้องร้องต่อศาลอาญากรุงเทพฯ ในข้อหาให้การเท็จเรื่องการถูกซ้อมทรมานต่อ ปปช.
นอกจากการสูญหายของพยานสำคัญในคดีแล้ว ยังปรากฏการสูญหายของจำเลยที่ 1 คือ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก ดังปรากฏตามข่าวสารตามสื่อมวลชน ว่า พ.ต.ต.เงิน ได้พลัดตกน้ำหายไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2551