ศาลปกครองสงขลามีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีนักศึกษายะลาถูกซ้อมทรมานสั่งให้กองทัพบกจ่ายค่าเสียหาย
ใบแจ้งข่าวศาลปกครองสงขลามีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
คดีนักศึกษายะลาถูกซ้อมทรมานสั่งให้กองทัพบกจ่ายค่าเสียหาย
วันนี้ (19 ตุลาคม 2559) เวลา 14.30 น. ศาลปกครองสงขลาอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.55-56/2555 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.1309-1310/2559ระหว่าง นายอิสมาแอ เตะที่1 กับนายอามีซี มานากที่2 ผู้ฟ้องคดี กับ กองทัพบกที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ผู้ถูกฟ้องคดี ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จากกรณีที่นายอิสมาแอ เตะ และนายอามีซี มานาก อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยสถาบันราชภัฎยะลาถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมและซ้อมทรมานในระหว่างถูกควบคุมตัวเพื่อให้รับสารภาพอันจะนำไปสู่การถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457
โดยคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา ดังนี้
1. กรณีจากการที่เจ้าหน้าที่ทหารของผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ได้ใช้กำลังเข้าตรวจค้นเพื่อจับกุมบุคคลที่เป็นสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบตามหมายจับของศาลในความผิดเกี่ยวกับเหตุความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นไปเพื่อการระงับ ปราบปราม และรักษาความสงบเรียบร้อยให้เกิดแก่ประชาชนในพื้นที่ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกพ.ศ. 2457 แต่การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ต้องกระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลกระทำการหรือร่วมกระทำการใดๆอันจะทำให้เกิดเหตุร้ายแรงหรือเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการระงับเหตุการณ์ร้ายแรงโดยคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพในชีวิตร่างกาย และเสรีภาพในการเดินทาง และเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักรของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญไทยได้บัญญัติรับรองไว้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองถูกเจ้าหน้าที่ทหารของผู้ถูกฟ้องคดีที่1จับกุมและในขณะควบคุมตัวมีการทำร้ายร่างกายนายอิสมาแอ เตะ (ผู้ฟ้องคดีที่1) ปรากฎตามหลักฐานสำเนาเวชระเบียนสอดคล้องกับกับสำเนาภาพถ่ายที่บันทึกภายหลังจากการถูกปล่อยตัว การทำร้ายร่างกายในขณะถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารจึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่มีเหตุอันสมควรหรือเกินกว่ากรณีจำเป็น เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์และระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่1และสภาพความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีที่1ได้รับ กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่1ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้แก่ผู้ฟ้องคดีที่1 เป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลจำนวน 5,000 บาท ส่วนผู้ฟ้องคดีที่2 ไม่ปรากฎหลักฐานใดๆว่าถูกเจ้าที่ทหารทำร้ายร่างกายในขณะถูกควบคุมตัว จึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ได้
2. กรณีจากการที่เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามพระราชบัญญัติกฏอัยการศึกพ.ศ. 2457 มาตรา 15 ทวิ ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไว้ไม่เกินกว่า 7 วันนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีทั้งสองตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 รวมเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 9 วัน ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่1 ใช้อำนาจโดยมีพฤติการณ์ที่ไม่นำพาต่อกฎหมายและละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับจากการถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องสูญเสียเสรีภาพ และได้รับทุกขเวทนาต่อจิตใจจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ เห็นควรให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเงินจำนวนคนละ 50,000 บาท
3. การที่เจ้าหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีที่1 ทำการควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยไม่มีเหตุจำเป็นและการกระทำด้วยวิธีการโหดร้ายต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเพียงผู้ต้องสงสัย ถือเป็นพฤติการณ์ที่ไม่นำพาต่อกฎหมาย เป็นการกระทำซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายตามมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เห็นควรกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีที่1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง คนละ 100,000 บาท
4. สำหรับค่าเสียหายจากการเสื่อมเสียศักดิ์ศรี ถูกดูหมิ่นจากเพื่อนบ้านและเพื่อนนักศึกษา เมื่อพินิจดูแล้วเห็นว่าแม้เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารตามกฎอัยการศึกฯในการควบคุมตัวผู้ต้องหาตามหมายศาลในความผิดฐานก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันถือเป็นความผิดอุกฉกรรจ์ในพื้นที่ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ เจ้าหน้าที่ทหารควรใช้ความรอบคอบและความระวัดระวังในการปฏิบัติต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ซึ่งการดำเนินการจับและควบคุมผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นที่ทราบแพร่หลายในกลุ่มนักศึกษาด้วยกันและเพื่อนบ้าน ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว และต่อการดำรงชีวิตในสังคมของผู้ฟ้องคดีทั้งสองอันเป็นสิทธิที่กฎหมายรับรองและคุ้มครอง การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิด ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง มีผลกระทบต่อการดำรงอยู่ในพื้นที่อันเป็นภูมิลำเนาและการดำรงชีวิตในสถานศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้รับการปล่อยตัวอาจก่อให้เกิดการเข้าใจผิดหรือเกิดความหวาดระแวงต่อผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เพื่อเป็นการบรรเทาหรือเยียวยาความเสียหายในส่วนนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เห็นควรให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองคนละ 50,000 บาท
ดังนั้น พิพากษาให้กองทัพบก(ผู้ถูกฟ้องคดีที่1) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่นายอิสมาแอ เตะ(ผู้ฟ้องคดีที่1) จำนวน 305,000 บาท และนายอามีซี มานาก(ผู้ฟ้องคดีที่2) จำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องคดี( 14 มกราคม 2552 )เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนคำขออื่นให้ยก
อ่านสรุปแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีได้ที่
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน 02-275 3954