Skip to main content
 
 
 
 
 
“อย่างน้อยที่สุดเจ้าหน้าที่ต้องยอมรับในสิ่งที่ทำลงไป” เสียงจากเหยื่อซ้อมทรมานในคดี 8 ปีของการเรียกค่าเสียหาย
 
ผู้ชนะคดีชี้การซ้อมทรมานเปลี่ยนวิถีชีวิตคน เผยผลกระทบจะกลายเป็นบาดแผลติดตัวยาวนาน ทั้งหวาดระแวงและเจ็บแค้น ด้านนักกฎหมายระบุคำตัดสินคดีซ้อมทรมานอดีตนศ.ราชภัฎหนนี้สร้างบรรทัดฐานใหม่เพราะอิงเนื้อความตามรธน.ที่กำหนดบทลงโทษเรื่องการซ้อมทรมาน แต่ปัญหาใหม่คือ รัฐธรรมนูญที่ใช้อ้างถูกยกเลิกไปแล้ว ต้องมองหาแหล่งอ้างอิงใหม่ต่อไป
 
เมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้กองทัพบกและกระทรวงกลาโหมจ่ายเงินชดเชยเหยื่อซ้อมทรมานสองรายคือนายอิสมาแอ เตะ และนายอามีซี มานาก อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา ในคดีที่ฟ้องร้องเป็นความกันตั้งแต่ปี 2552 โดยในใบแจ้งข่าวของสมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า คดีดังกล่าวนายอิสมาแอ และนายอามีซี เรียกค่าเสียหายจากทั้งสองหน่วยงานในฐานะต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวพวกเขาในระหว่าง 27 ม.ค. ถึง 4 ก.พ. 2551 เพื่อสอบปากคำ โดยเป็นการควบคุมตัวตามอำนาจในกฎอัยการศึก 2457 ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งว่า การควบคุมตัวทั้งสิ้นเป็นเวลา 9 วันนั้นถือว่าเกินกว่าอำนาจที่มีตามที่กฎหมายให้ไว้คือ 7 วัน เป็นการใช้อำนาจโดยไม่นำพาต่อกฎหมายและละเมิดสิทธิเสรีภาพ ทั้งที่ทั้งสองยังเป็นเพียงผู้ต้องสงสัย นอกจากนี้ยังมีการทำร้ายร่างกายในระหว่างนั้น ทำให้ศาลวินิจฉัยแล้วมีคำสั่งให้หน่วยงานทั้งสองต้องชดเชยให้นายอิสมาแอ 305,000 บาท และให้นายอามีซี 200,000 บาท ในจำนวนนี้มีค่าชดเชยเรื่องการทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคมรวมอยู่ด้วยจำนวน 50,000 บาท 
 
นายอิสมาแอ เตะ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า คดีนี้เดิมทีโจทก์คือตนและนายอามีซีได้เรียกค่าเสียหายรวมแล้ว 1.7 ล้านบาท การต่อสู้ทางคดีกินเวลารวมแล้วร่วม 8 ปี แต่ตนก็เห็นว่าอย่างน้อยที่สุดทำให้หน่วยงานต้องยอมรับในสิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำลงไป
 
อิสมาแอระบุว่า เหตุการณ์ที่ถูกคุมตัวเพื่อสอบปากคำและถูกทำร้ายนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ถือได้ว่าเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองอย่างสิ้นเชิง โดยเล่าว่า หลังจากที่ได้รับการปล่อยตัว เขาได้กลับไปเรียนต่อและทำกิจกรรมและเมื่อจบออกมาก็หันไปทำงานเพื่อช่วยเหลือคนที่ประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน โดยได้ตั้งองค์กรขึ้นรวมกลุ่มกันทำงานด้านนี้ และการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐก็เป็นความพยายามในอันที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเองและสังคม เพราะเห็นว่าในช่วงสิบกว่าปีมานี้ในพื้นที่มีคนมาร้องเรียนจำนวนมากในเรื่องซ้อมทรมาน แต่คนส่วนมากไม่กล้าทำอะไร 
 
“เราก็อยากให้คนทั่วไปรับรู้ว่า ในพื้นที่สามจังหวัดมีปัญหาการซ้อมทรมานจริง และต้องการให้รัฐยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะต้องมีคนรับผิดชอบ” พร้อมกับระบุว่า หากเป็นไปได้ก็อาจจะหาทางฟ้องร้องในคดีอาญาต่อไป แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยาก เพราะในการถูกทำร้ายร่างกายนั้นเหยื่อมักมองไม่เห็นหน้าผู้ลงมือ และการหาพยานหลักฐานก็ยาก นอกจากนั้นคนที่จะลุกขึ้นมาสู้ในเรื่องเหล่านี้ยังหวาดกลัวว่าอาจจะถูกเอาคืนหรือโดนฟ้องกลับอีกด้วย 
 
อิสมาแอเตือนถึงผลกระทบจากการซ้อมทรมานว่าจะทำให้คนที่โดนมาแล้วเจ็บแค้นเพราะมีบาดแผลติดตัวไปนานอย่างยิ่ง เขายกตัวอย่างตัวเองว่าจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังเห็นภาพเหตุการณ์อยู่ในใจ 
“เมื่อไหร่เห็นเครื่องแบบ ภาพที่เคยโดนมันจะขึ้นมาเอง นึกถึงสิ่งที่เขาทำ คำพูดที่เขากล่าวหาเรา แม้ว่ามันจะผ่านมาหลายปีแต่มันก็ลืมไม่ลง หลายคนหวาดระแวงไปไหนมาไหนต้องระวังตัวตลอด ตัวผมเองอยากให้สังคมได้เห็นตัวอย่างว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องที่พูดกันลอยๆเท่านั้น มันมีจริง และอยากให้คนที่เจอแบบเราลุกขึ้นมาสู้” 
 
ด้านจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความในคดีระบุว่า คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหนนี้ต่างจากของศาลชั้นต้น ในขณะที่ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดให้หน่วยงานต้องชดใช้จากการทำร้ายร่างกายและให้ชดใช้เฉพาะที่มีการควบคุมตัวเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ชดใช้กรณีทำร่ายร่างกายด้วยเพราะถือว่ามีบาดแผลเกิดขึ้นในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว และเจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบ นอกจากนั้นในการกำหนดเรื่องการชดใช้ ศาลปกครองสูงสุดยังมีคำสั่งที่วินิจฉัยตามมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 อันมีเนื้อหาห้ามมิให้มีการซ้อมทรมานและมีข้อความกำหนดไว้ในเรื่องการเยียวยาโดยตรง โดยเฉพาะวรรค 5 ซึ่งทำให้ในคดีนี้มีการจ่ายเงินชดเชยมากไปกว่าคดีแพ่งทั่วไปที่เคยมีการฟ้องร้องกัน อาจถือได้ว่าเป็นบรรทัดฐานใหม่ 
 
ทนายความระบุว่า ที่ผ่านมานักกฎหมายพยายามจะใช้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 32 วรรค 5 ซึ่งกำหนดเรื่องห้ามการซ้อมทรมาน จนในที่สุดศาลปกครองมีคำสั่งออกมาดังกล่าว แต่ปัญหาก็คือ ปัจจุบันรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว ในส่วนของนักกฎหมายจึงจะต้องมีการระดมสมองกันต่อไปว่า การจะสานต่อการสร้างบรรทัดฐานอันนี้จะทำได้อย่างไร ซึ่งเห็นว่าอาจจะต้องใช้ทั้งกฎหมายเดิมที่เคยมีมา บวกกับกฎหมายสากลในเรื่องป้องกันการซ้อมทรมาน และดูเนื้อหารัฐธรรมนูญใหม่ที่จะออกมา
 
“สิ่งสำคัญที่สุดคือผู้เสียหายสองคนที่ฟ้องร้องหนนี้ พวกเขาอยู่ในพื้นที่ การลุกขึ้นมาฟ้องร้องหน่วยงานรัฐแสดงถึงความกล้าหาญระดับหนึ่ง ถ้าผู้เสียหายไม่กล้า อยากจะอยู่อย่างสงบและกลัวการเป็นความ เราก็คงไม่มีโอกาสจะได้ฟ้องคดี” 
 
ทนายความระบุด้วยว่า ข้อเรียกร้องอันหนึ่งที่ฝ่ายโจทก์ร้องขอต่อศาลคือขอให้องค์กรทั้งสองดำเนินการชี้แจงด้วยการทำหนังสือเวียนไปยังหน่วยราชการต่างๆและลงประกาศในสื่อทั้งนี้เพื่อเรียกชื่อเสียงของผู้เสียหายกลับคืนมาเนื่องจากตกเป็นข่าวเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมไปแล้ว อย่างไรก็ตามศาลได้ยกฟ้องสำหรับเรื่องนี้
 

หมายเหตุ รายงานข่าวชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรก ที่ BBC ไทย