ประเทศไทย: คุ้มครองนักเรียน ครู โรงเรียนในภาคใต้
ผู้ก่อความไม่สงบและกองกำลังของรัฐบาลบั่นทอนการศึกษาของเด็ก
(กรุงเทพฯ 21 กันยายน 2553) รายงานของฮิวแมนไรท์วอท์ชที่เผยแพร่ในวันนี้ระบุว่า การโจมตีครู และโรงเรียนโดยผู้แบ่งแยกดินแดน และการที่ฝ่ายรัฐบาลเข้าไปใช้โรงเรียนเป็นฐานปฏิบัติการทางทหารนั้นก่อให้เกิดอันตรายอย่างยิ่งต่อการศึกษาของเด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย
รายงานเรื่อง “เป้าหมายของทั้งสองฝ่าย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ครู และโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย” ซึ่งมีความยาว 100 หน้า บรรยายถึงการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบชาวมาเลย์มุสลิม ที่ถือว่าระบบการศึกษาของรัฐบาลเป็นสัญลักษณ์แห่งการกดขี่ของรัฐบาลไทย และได้ข่มขู่ และฆ่าครู เผา และวางระเบิดโรงเรียนของรัฐ ตลอดจนสร้างความหวาดกลัวให้กับนักเรียน และผู้ปกครอง
ผู้ก่อความไม่สงบยังใช้โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามเป็นแหล่งครอบงำความคิด และชักจูงให้นักเรียนเข้าร่วมขบวนการกับพวกตน ขณะเดียวกันการที่กองทัพไทย และอาสาสมัครทหารพรานเข้ามาใช้โรงเรียนเป็นฐานปฏิบัติการต่อต้านผู้แบ่งแยกดินแดนนั้นก็ทำให้การศึกษาของเด็กมีปัญหา และทำให้นักเรียนต้องเสี่ยงกับการถูกโจมตีโดยผู้ก่อความไม่สงบโดยไม่จำเป็น
“การยิงครู และเผาโรงเรียนโดยผู้ก่อความไม่สงบบ่งบอกถึงความเลวร้ายอย่างเหลือเชื่อ” บี๊ด เช็พเพิร์ด ผู้เขียนรายงาน และนักวิจัยอาวุโสด้านเอเชียประจำแผนกสิทธิเด็กของฮิวแมนไรท์วอท์ชกล่าว “การกระทำที่โหดร้ายไร้ศีลธรรมเช่นนั้นได้ปล้นโอกาสทางการศึกษา และอนาคตของเด็กๆ”
รายงานฉบับนี้เขียนจากประสบการณ์ของฮิวแมนไรท์วอท์ช ในการไปเยี่ยมโรงเรียน 19 แห่ง ในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งจากการสัมภาษณ์เด็กนักเรียน ผู้ปกครอง ครู กองกำลังรักษาความปลอดภัย สมาชิกของกลุ่มก่อความไม่สงบ และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่รวม 90 ราย
ครู และเจ้าหน้าที่ด้านการศึกษาส่วนใหญ่ที่ถูกสังหารโดยผู้ก่อความไม่สงบ คือ ชาวไทยพุทธ โดยเชื่อว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบสังหารครูในโรงเรียนรัฐบาลไปอย่างน้อย 108 คน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษาอีก 27 คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับแต่เดือนมกราคม 2547 เป็นต้นมา ส่วนครูอีก 103 คน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายการศึกษาอีก 19 คนถูกทำร้ายจนบาดเจ็บ ทั้งนี้ เฉพาะในปี 2553 มีครูในสังกัดของรัฐบาลถูกสังหารไปแล้วถึง 14 คน
ชาวมาเลย์มุสลิมเองก็ถูกโจมตี และทำร้ายเช่นกัน เนื่องด้วยผู้ก่อความไม่สงบมุ่งโจมตีทั้งครูมาเลย์มุสลิมในโรงเรียนรัฐบาล และผู้บริหารโรงเรียนอิสลามที่ต่อต้านการใช้ชั้นเรียนเป็นที่เผยแพร่ลัทธิ และชักจูงเด็กนักเรียนเข้าร่วมขบวนการ
กลุ่มก่อความไม่สงบยังวางระเบิด และเผาโรงเรียน โดยส่วนใหญ่จะลงมือทำก่อเหตุในช่วงเย็น และค่ำ นับแต่เดือนมกราคม 2547 อย่างน้อยที่สุดมีโรงเรียนรัฐบาลรวม 327 แห่งในภาคใต้ของประเทศไทยถูกลอบวางเพลิง ส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบโดยรัฐบาล คือ การเพิ่มจำนวนทหาร และอาสาสมัครทหารพรานในกองกำลังที่ประจำอยู่ในภาคใต้ โดยให้กองกำลังดังกล่าวเข้าไปตั้งค่ายอยู่ในตัวอาคาร และบริเวณโรงเรียน ในพื้นที่อันเป็นอาณาบริเวณของฝ่ายปรปักษ์ ทั้งนี้ การเข้าไปตั้งที่มั่นดังกล่าวอาจจะดำเนินไปยาวนานหลายปี ซึ่งรวมถึงโรงเรียนที่ถูกข่มขู่โดยตรงด้วย
“แม้ว่าการรักษาความปลอดภัยของโรงเรียนอาจจำเป็นต้องมีกองกำลังของรัฐบาลไปตั้งมั่นอยู่ในบริเวณใกล้เคียง แต่ว่าการที่ไปใช้โรงเรียนเป็นฐานปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบนั้นก็ทำให้เกิดความไม่สะดวก และปัญหาหลายอย่าง” เช็พเพิร์ดกล่าว “รัฐบาลไม่ควรเข้าไปสร้างอุปสรรคต่อการเรียนของเด็ก เพียงเพราะต้องการความสะดวกในการตั้งค่ายทหารเท่านั้น”
ฮิวแมนไรท์วอท์ช กล่าวว่า การเข้าไปยึดครองโรงเรียนอยู่อย่างยาวนานคือการขัดขวางการศึกษาของเด็ก และควรถูกห้ามไม่ให้ปฏิบัติ เนื่องจากเป็นการแทรกแซงสิทธิในการศึกษาของเด็ก ผู้ปกครองหลายรายต้องย้ายลูกออกจากโรงเรียนที่มีค่ายทหาร เพราะกลัวว่าจะทำให้นักเรียนต้องเสี่ยงต่อการถูกผู้ก่อความไม่สงบบุกเข้าโจมตี หรือไม่เช่นนั้นพวกเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กหญิงก็อาจถูกล่วงเกินลวนลามโดยกองกำลังรักษาความปลอดภัย เด็กที่ต้องลาออกจากโรงเรียนที่ทหารเข้าไปตั้งค่ายต้องเผชิญความเสี่ยงอย่างใหม่ รวมทั้งความสิ้นเปลืองจากการที่ต้องไปเรียนในโรงเรียนอื่นที่อยู่ไกลบ้าน อีกทั้งยังอาจทำให้โรงเรียนเหล่านั้นต้องรับนักเรียนเกินจำนวนจนแน่นชั้นเรียนด้วย
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าไปบุกค้นเพื่อตรวจหาผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ก่อความไม่สงบ และอาวุธในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามด้วย บางครั้งก็ใช้อำนาจจับกุมนักเรียนเป็นกลุ่มใหญ่ตามอำเภอใจ หรือหากเกิดเหตุการณ์บานปลายเป็นความรุนแรงขึ้นมาก็ทำให้ทั้งนักเรียน และครูตกอยู่ในอันตราย
“น่าเศร้าที่การเป็นครูในภาคใต้ของประเทศไทยนั้นหมายถึงการที่ต้องเอาตัวเองไปเป็นด่านหน้าของความขัดแย้ง” เช็พเพิร์ดกล่าว “หัวหน้าขบวนการแบ่งแยกดินแดนต้องยุติการโจมตีครู และโรงเรียน ส่วนรัฐบาลก็ควรยุติการใช้โรงเรียนเป็นฐานทัพระยะยาว และยุติการกวาดล้างโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม เพราะการกระทำดังกล่าวส่งผลร้ายต่อเด็ก และทำให้ผู้ก่อความไม่สงบนำมาเป็นข้ออ้างในการก่อการร้าย”
ความเป็นมา
สิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสถูกบั่นทอนอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการกระทำอันโหดร้ายทารุณของผู้ก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดน นับจากการก่อความไม่สงบหวนกลับมาอีกครั้งเมื่อเดือนมกราคม 2547 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 4,100 คน กองกำลังติดอาวุธเหล่านี้ได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ด้วยการสังหาร และวางระเบิดพลเรือนจำนวนมาก รัฐบาลไทยตอบโต้ด้วยการบังคับใช้กฏหมายความมั่นคงเป็นกรณีพิเศษ และเพิ่มอัตรากองกำลังปกติ และอาสาสมัครทหารพรานรวมกันเป็นจำนวนราว 30,000 นายในภูมิภาคนี้ กองกำลังรักษาความปลอดภัยของไทยได้ปฏิบัติการสังหารเหนือกฎหมาย บังคับทำให้บุคคลสูญหาย ใช้อำนาจจับกุมตามอำเภอใจ และทำการทรมานผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน
ปากคำของเด็ก และผู้ปกครอง
“นักเรียนของผมเสียขวัญทันทีที่ได้ข่าวว่าผมถูกยิง ทุกคนร้องไห้แล้วถามว่าใครยิงคุณครู หลายคนมาเยี่ยมผมที่โรงพยาบาลแล้วพากันร้องไห้เมื่อเห็นว่าผมถูกยิง”
- ครูชายในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ผู้สอนมานานปีจนกระทั่งถูกยิงโดยผู้ก่อความไม่สงบในปี 2552
“ฉันไม่เคยมีปัญหาอะไรกับพวกทหารเลยเวลาที่เขาอยู่นอกโรงเรียน แต่เมื่อเขาย้ายเข้ามาอยู่ในโรงเรียน ฉันกลัวว่าโรงเรียนจะถูกโจมตี ฉันเลยตัดสินใจเอาลูกออกจากโรงเรียนเพราะกลัวว่าถ้าเกิดปะทะกันเด็กจะพลอยโดนไปด้วย ไม่มีการแยกที่พักทหารกับโรงเรียน แล้วพวกทหารยังต้ม และดื่มใบกระท่อม (สมุนไพรเสพย์ติดผิดกฎหมาย) ฉันกลัวว่าลูกฉันจะถูกยุให้กินใบกระท่อมด้วย”
- ผู้เป็นแม่ของลูกชายวัย 7 ปีและลูกสาววัย 11 ปี เป็นนักเรียนของโรงเรียน ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งถูกกองกำลังอาสาสมัครทหารพรานของรัฐบาลเข้ามาใช้ตั้งค่ายอ
“หนูกลัว (พวกทหาร) เพราะพวกทหารชอบมาคลุกคลีกับเรา เขาชอบอุ้มเด็กๆ สำหรับเด็กผู้ชายก็ไม่เป็นไร แต่พวกเราเด็กผู้หญิงจะให้ผู้ชายมาจับต้องตัวเราไม่ได้ แล้วหนูก็ไม่ชอบเลยเวลาที่พวกทหารมาถามว่าหนูมีพี่สาวไหม แล้วยังขอเบอร์โทรศัพท์ของพี่สาวด้วย”
- เด็กหญิงวัย 10 ปี ในโรงเรียนที่ถูกทหารเข้ายึดครอง
“หนูเสียใจมากที่ไฟไหม้หนังสือ และคอมพิวเตอร์หมดเลย เพราะหนูชอบอ่านหนังสือ เราต้องออกไปเรียนข้างนอก หนูไม่ชอบเรียนข้างนอกเพราะมันร้อน และเสียงดัง หนูไม่มีสมาธิเลย”
- นักเรียนวัย 7 ปีที่โรงเรียนถูกไฟไหม้เมื่อปี 2553
รายงานของฮิวแมนไรท์วอท์ช เรื่อง “เป้าหมายของทั้งสองฝ่าย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับนักเรียน ครู และโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย” หาอ่านได้จาก http://www.hrw.org/node/93085
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ :
กรุงเทพฯ: บี๊ด เช็พเพิร์ด (ภาษาอังกฤษ) โทรศัพท์ +66-8-2459-5068 หรืออีเมล์[email protected] mailto:[email protected]>
กรุงเทพฯ: สุณัย ผาสุข (ภาษาอังกฤษ และไทย) โทรศัพท์ +66-81-632-3052
หากต้องการเสียง และภาพประกอบรายงานนี้ โปรดติดต่อ:
นิวยอร์ค: แอนนา ลอปริโอเร (ภาษาอังกฤษ อิตาเลียน เยอรมัน และฝรั่งเศส) โทรศัพท์ +1-212-377-9410