จากเสียงสู่สันติ : การสื่อสารเพื่อสันติภาพในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
โดย รอฮานี ดาโอ๊ะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) จัดโครงการสัมมนาและอบรมเชิงปฏิบัติการ “หนุนเสริมการสื่อสารสันติภาพในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม” ภายใต้โครงการวิทยุภาษามลายู “บทเรียนสันติภาพ” โดยการสนับสนุนของโครงการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูชายแดนภาคใต้ (ช.ช.ต.) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ในวันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม 2559 ณ ห้องประชุมศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มอ.ปัตตานี
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการสื่อสารสันติภาพในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการเป็นตัวแทนครู นักจัดรายการวิทุยุ รายการเสียงตามสายและผู้ที่เกี่ยวข้องจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 25 ท่าน
กิจกรรมของโครงการในช่วงเช้าประกอบด้วยการบรรยายในหัวข้อ “ทำความเข้าใจกระบวนการสันติภาพ” โดยนายอายุบ ปาทาน ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ บรรณาธิการอาวุโสศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch: DSW) และนายสะรอนี ดือเระ บรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพในพื้นที่
พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีการแลกเปลี่ยน และกล่าวถึงความคาดหวัง ความกังวล และความต้องการในการหนุนเสริมเพื่อให้เกิดกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ โดยตัวแทนผู้เข้าร่วมโครงการบางท่าน ได้กล่าวถึงความคาดหวังในเรื่องความต้องการความปลอดภัยในการใช้ชีวิตในพื้นที่ ความกังวลต่อความจริงจัง จริงใจในกระบวนการพูดคุยเพื่อสร้างสันติภาพ ความต้องการการหนุนเสริมในเรื่องการดูแล แก้ไขปัญหาเยาวชนในพื้นที่ฯ
กิจกรรมในช่วงบ่ายเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การผลิตรายการวิทยุแบบมืออาชีพ” โดย ผศ .ภีรกาญจน์ ไค่นุ่นนา อาจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และผู้อำนวยการสถานีวิทยุ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้นในการพัฒนาสู่การเป็นนักจัดรายการวิทยุ โดยโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามบางส่วนในพื้นที่ฯ มีประสบการณ์ และต้นทุนด้านทรัพยากรบุคคล ต้นทุนด้านวัสดุ อุปกรณ์ในการจัดรายการวิทยุเสียงตามสายในโรงเรียนในเบื้องต้น แต่ยังมีความต้องการในการพัฒนาศักยภาพนักจัดรายการวิทยุเพื่อให้มีทักษะและความสามารถในการดึงดูดกลุ่มนักเรียน ผู้ฟังในโรงเรียนให้มากขึ้น อันจะทำให้เกิดประสิทธิผลจากการจัดรายการวิทยุได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ในช่วงท้ายนายสะรอนี ดือเระ ผู้รับผิดชอบโครงการกล่าวว่า “การจัดโครงการในครั้งนี้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการรวมตัวของโรงเรียน และผู้ที่สนใจในการจัดรายการวิทยุ เสียงตามสายในโรงเรียนได้มีโอกาสมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพ และสร้างเครือข่าย ซึ่งในอนาคตคาดหวังว่าจะมีโอกาสต่อยอดโครงการในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง”