Skip to main content

แถลงการณ์ กลุ่มด้วยใจ และ Children Voice for Peace Project
 

เผยแพร่วันที่ 25 คุลาคม 2559

เรื่อง การระเบิดในที่สาธารณะและสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองของเด็กในจังหวัดชายแดนใต้

เรียน ผู้ก่อเหตุความรุนแรง ,เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และ ประชาชน

เมื่อเวลา 8:00 นาฬิกาเศษ ของวันที่ 6 กันยายน 2559 ทุกคนคงจำได้ว่ามีเหตุระเบิดที่หน้าโรงเรียน ตาบา ที่อำเภอตากใบ จังหวัด นราธิวาส ครั้งนั้นได้สร้างความสะเทือนใจต่อผู้ที่ได้รับรู้ข่าวสารมากมาย และหวังว่ามันคงไม่เกิดขึ้นอีก แต่ต่อมาไม่นาน เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2559 ที่จังหวัด ปัตตานี เกิดเหตุระเบิดทำให้ เด็กชาย อายุ 10 ได้รับบาดเจ็บ ถัดมาวันที่ 22 ตุลาคม 2559 มีเด็กอายุเพียง 6 ขวบ ถูกยิงได้รับบาดเจ็บ และ เหตุการณ์ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2559 มีการใช้ระเบิดในที่สาธารณะ ในเขตเศรษฐกิจ ใจกลางเมืองปัตตานี ที่ตลาดโต้รุ่ง ทำให้เด็กหญิง 2 คน และเด็กชาย 3 คน ได้รับบาดเจ็บ หนึ่งในนั้นต้องถูกตัดขา ซึ่งเราคงจำได้ดีว่าเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 มีเหตุระเบิดหลายจุดและมีเด็กผู้หญิงหนึ่งคนที่ถูกตัดขาเช่นกัน คำพูดในวันนั้นที่เด็กถามแม่ว่า แม่ เมื่อไรขาหนูจะงอก ยังคงก้องอยู่ในหูของเรา 
การก่อเหตุไม่ว่าจะเป็นการใช้รูปแบบใดก็ตาม ทั้งการยิง และ การใช้ระเบิด โดยไม่คำนึงถึงเด็กซึ่งเป็นอนาคตที่สำคัญของประเทศ ถึงแม้ไม่มีการเสียชีวิตในเหตุการณ์ แต่การสูญเสียศักยภาพในการพัฒนาและการเจริญเติบโต ย่อมไม่เป็นผลดีต่อใครเลย 

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้สะท้อนถึงปัญหาการละเมิด ในหลักสิทธิมนุษยชน ข้อ 3 บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในเสรีธรรมและในความมั่นคงแห่งร่างกาย และ ที่สำคัญได้มีการละเมิดในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก คือ สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival) สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development) สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง (Right of Protection) 
ทางกลุ่มด้วยใจและโครงการ Children voice for peace ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้สูญเสียและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้งที่เป็นประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าที่และขอสื่อสารไปยังทุกฝ่ายดังนี้

1. เราทราบกันดีว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้เกิดจากความต้องการทางการเมืองของผู้ก่อเหตุ แต่การกระทำนั้นได้ส่งผลโดยตรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะเด็ก การกระทำนั้นผู้ที่สั่งการ กระทำ ย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ในทางสังคม กฎหมายทั้งในและระหว่างประเทศ ผู้กระทำจึงควรพิจารณาการกระทำในครั้งนี้ว่าบรรลุเป้าหมายที่ต้องการหรือเกิดผลในทิศทางตรงกันข้าม และ ควรพิจารณาถึงแนวทางในการเรียกร้องที่ดีกว่าต่อประชาชนในอนาคต

2. รัฐบาลไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับประชาชนได้ กรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึง ผลลัพธ์ในแนวทางการแก้ปัญหาที่ผ่านมาว่าไม่อาจปกป้องชีวิตและทรัพย์สินประชาชนได้ จึงควรพิจารณาทบทวน ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนไม่ใช่แค่เพียงการระงับหรือควบคุมเหตุเท่านั้น

3. ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทั่วโลกเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าสามารถยุติได้ด้วยการเจรจาสันติภาพ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนหรือหลังการประชุมร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและมาราปัตตานีไม่ควรเป็นเหตุผลในการยกเลิกกระบวนการสันติภาพ ดังนั้นทุกคน ทุกฝ่าย จึงควรอดทน อดกลั้น ต่อการใช้ความรุนแรง และควรใช้กระบวนการยุติธรรมในการป้องกันการกระทำผิดซ

แถลงการณ์นี้เป็นเพียงเครื่องมือสื่อสารถึงทุกฝ่ายให้รับทราบถึงเจตนารมณ์ในการมุ่งหวังให้เกิดความปลอดภัยต่อเด็กในพื้นที่ความขัดแย้งนี้ ซึ่งอาจจะไร้ค่าหากเพียงแต่ผู้ที่มีอำนาจ ความสามารถ ไม่ได้ให้ความสนใจ ใส่ใจ แต่แถลงการณ์ฉบับนี้จะกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความปลอดภัย และทำให้เด็กมีชีวิตรอดได้ ได้รับการพัฒนา อย่างดีได้ หากทุกท่าน นำไปพิจารณา 
กลุ่มด้วยใจและโครงการ Children voice for peace

*หมายเหตุ แถลงการณ์นี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ Face book Anchana Heemmina