เมื่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมิใช่มีเฉพาะในพื้นที่ด้ามขวาน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพียงเท่านั้น กลับขยายพื้นที่จากด้ามสู่หัวขวาน หรือใจกลางของขวาน หลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อ 19 พ.ค. ที่ผ่าน และตามต่อด้วยปัญหามากมายที่รัฐบาลควรรับแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าเรื่องปากท้อง ความเชื่อมั่น หรือความยุติธรรม
เมื่อการขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาลมีปัญหาทำให้ต้องตั้งคณะทำงานเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดภายในประเทศ และด้วยเหตุนี้จึงเกิดคณะกรรมการปฏิรูปประเทศขึ้นมา ภายใต้การนำของ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้เปิดเผยรายชื่อจำนวน 19 ท่าน ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยจะทำงานร่วมกับอีก 27 ท่านจากคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ ที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ในรายชื่อของคณะสมัชชาปฏิรูปประเทศหนึ่งในนั้นมีชื่อของ ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้อยู่ด้วย ทำให้ประเด็นของพื้นที่แห่งนี้จะถูกผลักดันเข้าไปในการปฏิรูปประเทศในครั้งนี้ด้วยหรือไม่
ความเป็นผู้หญิงหนึ่งเดียวของพื้นที่ที่ถูกเสนอชื่อเข้าร่วมคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ ทำให้คิดว่างานนี้เป็นงานที่หนัก แต่ก็เป็นโอกาส ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “คิดอย่างเดียวว่างานนี้คงเป็นงานที่หนัก และเป็นระยะเวลา 3 ปี เรื่องการปฏิรูปประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย แต่คิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดี ยังดีกว่าไม่ได้คิดที่จะทำอะไร หลายฝ่ายบอกคงไกลเกินจริง แต่คิดว่าบางอย่างที่ควรเปลี่ยนก็ควรใช้ช่องโอกาสนี้”
แฝดอิน – จัน ถูกใช้เรียกแทน คณะกรรมการปฏิรูป กับ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ถึงว่าบางกระแสจะเรียกว่า เป็นหุ่นกระบอก หรือว่าตัวหนังตะลุง ก็ตามแต่เมื่อมีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการสิ่งที่ต้องมาดูคือการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ
บทบาทหลักของคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป ผศ.ชิดชนก กล่าวไว้ว่า “เพื่อสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรมตามความฝันของเราเป็นอย่างไร เราควรจะนำเสนอมาตรการอะไรเพื่อให้ลดความเหลื่อมล้ำ“สร้างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ” เพราะว่าทุกมุนของประเทศมีความเหลื่อมล้ำที่ต่างกัน เราต้องหารประเด็นตรงนี้ให้ได้ก่อน และนำเสนอข้อมูลไปยังทีมของท่านอานันท์”
การประชุมกว่า 5 ชม. ของคณะกรรมการครั้งแรกวันที่ 14 ก.ค. ที่บ้านพิษณุโลก ทำให้ได้เป้าหมายหลักของการปฏิรูปว่ามีแนวทาง 5-6 เรื่อง ได้แก่ การปฏิรูปการใช้ที่ดินที่ไม่เป็นธรรม - เสนอมาตรการทางภาษีเพื่อลดการเหลือมล้ำ - การกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น - ปรับปรุงระบบการศึกษา - ความยากจน ปัญหาปากท้อง - แก้ไขปัญหาระบบยุติธรรม - ระบบสวัสดิการ – การปฏิรูปข้าราชการ
ประเด็นปัญหาที่ถูกยกมาเพื่อการปฏิรูปล้วนเกี่ยวกับข้องกับเรื่องกลไกรัฐ จากการนำเสนอที่ประชุมที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีวางนโยบาย และยุทธศาสตร์ดีอย่างไร แต่ถ้ากลไกรัฐไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ ต้องนำกลไกรัฐเข้ามาปฏิรูปด้วย ไม่สามารถแยกออกได้ หากภาครัฐไม่ให้ความร่วมมือก็จะออกมาเหมือนกับรายงานของ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เราเห็นเลยว่ารายงานทำมาอย่างยาวนาน แต่กลับไม่ได้ถูกนำมาขับเคลื่อนแต่อย่างใด
เราไม่ได้คิดว่าบทสรุปตรงนี้จะออกมาเป็นเล่มเหมือนกับงานของ กอส. เพราะคิดว่าแต่ละคนที่เข้ามาตรงนี้ไม่ใช่นักวิชาการสักส่วนใหญ่ ล้วนแต่เป็นนักปฏิบัติ อย่างมากก็เป็นการรายงานไปว่า ปัญหาความเลื่อมล้ำคืออะไร ความไม่เป็นธรรมคืออะไร มาตรการคืออะไร และเราก็ไม่ได้เน้นการประชุม เราจะเน้นการปฏิบัติมากกว่า เราคิดว่าต้องมีวิธีการอื่นที่ต่างไปจากเดิม อาจารย์ชิดชนก อธิบาย
“ในส่วนนโยบายของการแก้ปัญหาชายแดนใต้ที่ได้ยกตัวอย่างเมื่อตอนที่ได้ประชุมครั้งที่แล้ว หลายๆ นโยบายเป็นนโยบายที่ดี แต่เมื่อแปลงสู่การปฏิบัติ ทำไม่ได้จริงตามนั้น มันมีเงื่อนไขของกลไกของรัฐ เลยทำให้ไม่สำเร็จตามนโยบายที่ได้วางไว้ เราควรจะเปิดโอกาสให้ข้าราชการระดับล่างได้พูดมากขึ้นโดยไม่มีผู้บังคับบัญชา จะได้รู้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ ทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะนายหรือไม่ เพราะเรื่องกลไก งบประมาณ หรือว่าอะไร ทุกครั้งที่มีรายงานผลการปฏิบัติงานของราชการ ก็มีการรายงานมาเป็นชั้นๆ และรายงานก็จะออกมาว่า ทุกอย่างดีแล้ว เดินมาถูกทางแล้ว แต่จากเหตุการณ์ที่ผ่านๆ มางบประมาณหมดไปแสนล้าน มันดีขึ้นดีตามรายงานจริงหรือเปล่า”
จาการประชุมคณะกรรมการชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20 ซึ่งมี ผศ.ชิดชนก เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการฯ นี้ด้วย ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับเรื่องการต่อต้านการซ้อมทรมาน การสร้างเขื่อนไข หรือการระงับใช้กฎหมายพิเศษชั่วคราว ควรที่จะเสนอผ่านการประชุมของคณะกรรมการสมัชชาในรอบหน้าได้ทันที เนื้อหาการประชุมต้องมีการกำชับให้ระมัดระวังไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไปละเมิดสิทธิ และน่าจะมีการย้ายศูนย์สักถาม เพราะว่าจุดนี้เมื่อทำไปแล้วกลับก่อให้เกิดการมองมุมกลับว่า ขัดต่อการสร้างสันติสุขในพื้นที่
การประชุมของรัฐที่ทำได้ก็เพียงแต่การลงมาเก็บข้อมูล มาจัดประชุม สัมมนาแลกเปลี่ยน หรือเวิร์คช็อป มันเฟ้อแล้วสำหรับประชาชนในพื้นที่ เราเอาประชาชนมารับความคิดเห็นมากมาย แล้วมันก็จบแค่ตรงนั้น แต่ตอนนี้ที่สำคัญคือว่า เราต้องทำอย่างไร ที่จะแก้ปัญหาแต่ละปัญหาให้มันเห็นผลที่ละเรื่องๆ ไป แม้มันจะต้องใช้เวลา ประเด็นเขตปกครองพิเศษ ไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นประเด็นแร่งด่วนที่ต้องทำเพราะว่าเรื่องนี้เราจะพูดแทนประชาชนไม่ได้ เราต้องถามความคิดเห็นของประชาชน ว่าเขาคิดอย่างไร เพราะทุกวันนี้เราได้ความคิดเรื่องเขตปกครองพิเศษจากนักวิชาการ จากชนชั้นนำ(Elite) เพราะเมื่ออำนาจการปกครองได้ไปแล้ว มันจะไปอยู่กับใคร ถึงทุกวันนี้เราไม่ได้มีอำนาจเขตปกครองพิเศษ เรามีการกระจายอำนาจแบบ อบต. ซึ่ง 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นมลายูมุสลิมอยู่แล้ว เราต้องมาประเมินตรงนี้ อย่างน้อยเขาก็มีอำนาจในระดับหนึ่ง แม้จะอยู่ภายใต้โครงสร้างของรัฐไทยก็ตาม เรามาดูว่า เขาได้ดูแลประชาชนเพียงพอแล้วหรือยัง ผศ.ชิดชนก แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเขตปกครองพิเศษ
เพื่อการเข้าไปในพื้นที่ถึงประชาชนจริงๆ การสร้างเครือข่ายหรือตั้งคณะทำงานของคณะกรรมการสมัชชาฯ เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่สิ่งที่ต้องเปลี่ยนคือวิธีการระดมความคิดเห็น อาจารย์ชิดชนก กล่าวว่า ประชาชนคงเบื่อกับการร่วมระดมความคิดเห็นเต็มที่แล้ว เราต้องใช้วิธีอื่น ที่สามารถลงไปสัมผัสกับประชาชนโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านแกน คงต้องปรึกษาก่อนว่าจะใช้วิธีการใด แต่บางเรื่องก็สามารถส่งผ่านแกนมาได้ แต่บางประเด็นคงต้องยิงตรง อย่างในเรื่องของงานพัฒนา โดยเฉพาะเยาวชนนักศึกษา เขายังไม่ได้รับอานิสงค์จากงบประมาณที่ลงมาอย่างมหาศาลนี้เลย และความยากจนของครัวเรือนจำนวนอีกมากที่ยังคงจนอยู่เท่า
เมื่อถามถึงปัญหาเร่งด่วนระดับประเทศที่ควรเร่งทำ อาจารย์ได้กล่าวว่า ตอนนี้มีคดีความหลายคดีมากที่ได้รับการร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากรัฐ ในขั้นต้นควรเอาตรงนี้ขึ้นมาดูก่อนได้เลย โดยไม่ต้องลงไปสำรวจแล้วว่ามีความเหลื่อมล้ำตรงไหน ตรงที่เขาร้องเรียนมาเพื่อปลดปล่อยความทุกข์ยาก ควรที่ดึงขึ้นมาทำให้เร็วขึ้น ไม่ใช่รอให้ทำตามกลไกของรัฐ
ภายใต้การทำงานนี้ 3 ปี สิ่งที่คาดหวังจะให้มันเกิดขึ้นมา คือต้องการไฮไลท์ คดีความมั่นคงขึ้นมา คนที่ไม่ได้มีความผิดอะไรจริงๆ แล้วต้องมาอยู่ในคุก เป็นเวลา 2 ปีกว่ารอการพิสูจน์ซากพยาน มันรู้สึกทรมาน ครอบครัวของเขาล่มสลาย ถ้าจะให้เป็นไปตามระบบศาล มันต้องมีวิธีการมากกว่านั้น เพราะว่าการรอเป็นการสร้างเงื่อนไขเพิ่มขึ้นๆ แล้วระบบกฎหมายไทยที่เน้นต่อพยานหลักฐานของรัฐ ทำให้คนที่ไม่รู้เรื่องว่าเขาทำพลาดอะไรยังไงต้องมาถูกจำคุกไป ควรที่จะต้องดึงคดีเหล่านี้ขึ้นดำเนินการให้เร็วขึ้น เพราะเราจะเห็นว่าคดีที่ส่งฟ้องศาล ถูกศาลตัดสินยกฟ้องมีเกินครึ่ง
“เช่นเดียวกับกรณีนี้การตัดสินคดีในส่วนของคดีความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะคนเกือบพันกว่าคน อยู่เหมือนกับตกนรก คิดว่าเรื่องนี้สามารถที่จะทำได้ เพราะรัฐมนตรียุติธรรม สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ควรจะทำงานชิ้นนี้ให้เห็นผลเลย กระทรวงยุติธรรมเป็นหัวใจหลักในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ แต่กลับทำงานอย่างไม่มีผลงาน เราคาดหวังกับกระทรวงนี้มาก แต่คุณเอาใครมานั่ง คุณไม่มีใจในการแก้ไขปัญหาภาคใต้เลย ขนาดที่ นายกฯตอนที่เป็นหัวหน้าฝ่ายค้านยังบอกเลยว่า ความยุติธรรมเป็นหัวใจหลักในการแก้ปัญหาภาคใต้ ท่านควรที่จะรีเทป กลับไปดูใหม่ว่า จุดเริ่มต้นเมื่อยังไม่เป็นรัฐบาลเราเคยคิดอย่างไรกับการแก้ไขปัญหา แต่ทำไมเมื่อเป็นรัฐบาลบางอย่างเรามองไม่เห็นมัน” อาจารย์ชิดชนก ทิ้งท้ายด้วยการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล