Skip to main content

การเข้าใจถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างระบบนิเวศน์และทรัพยากรธรรมชาติกับสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้จำเป็นต้องไปให้พ้นจากการสร้างคู่ตรงข้ามระหว่างแนวคิดแบบ “มนุษย์พนาผู้รักษาระบบนิเวศน์” (ecological noble savage) และ  “มนุษย์พนาผู้ไม่นำพาต่อระบบนิเวศน์” (ecological ignoble savage) แนวคิดแบบแรกมองชาวมาเลย์มุสลิมอย่างหยุดนิ่งตายตัว ว่าเป็นชุมชนที่มีการเกาะเกี่ยวกันแน่นแฟ้นมาแต่อดีต มีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เคารพรักษาธรรมชาติ และสามารถพึ่งตนเองได้ด้านเศรษฐกิจ ทั้งนี้โดยมีศาสนาเป็นเครื่องนำทาง  ขณะที่แนวคิดแบบหลังกลับมองในทิศทางตรงกันข้ามโดยมองชาวมาเลย์มุสลิมว่าเป็นคนจน ด้อยการศึกษา และไม่มีศักยภาพ ชุมชนจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งและความรุนแรงทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อมและทางสังคม-การเมือง แนวคิดทั้งสองขั้วนี้ต่างก็ไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เข้าใจความซับซ้อนของชุมชนมาเลย์มุสลิมปัจจุบันที่สัมพันธ์กับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในหลายประเภท หลายระดับ มีทั้งการพึ่งพาภายนอกและการพึ่งพาตนเอง รวมทั้งมีชีวิตอยู่ท่ามกลางการบรรจบกันของอำนาจประเภทต่างๆ ท่ามกลางความคลุมเครือและความรุนแรงของสถานการณ์ในพื้นที่

ไม่ยากนักที่จะมองเห็นว่า ““ecological ignoble savage” เป็นพื้นฐานแนวคิดของโครงการพัฒนาต่างๆ ของ “รัฐไทย” ที่ละเลยประวัติศาสตร์และความรู้ในการใช้ประโยชน์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติของคนท้องถิ่น จนทำให้การพัฒนาเป็นแบบ top-down ขาดการมีส่วนร่วม และส่งกระทบต่อการทำมาหากินและสภาพแวดล้อมอย่างสำคัญ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยากมากกว่าก็คือการมองเห็นปัญหาของความคิดแบบ “ecological noble savage” ที่แม้ว่าปฏิบัติการต่างๆ ของภาค “ประชาสังคม” ซึ่งวางอยู่บนฐานความคิดนี้มีความตั้งใจดีที่จะชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของโครงการพัฒนาว่าได้ทำให้ระบบนิเวศน์ความเสื่อมโทรมและเกิดความขัดแย้งด้านทรัพยากรอันเป็นสาเหตุประการหนึ่งของสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ รวมทั้งชี้ว่าหากโครงการพัฒนาเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอยู่บนฐานการมีส่วนร่วมของชุมชนก็จะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่ อย่างไรก็ดี ความคิดเช่นนี้ยังเป็นการมองชาวบ้านมาเลย์มุสลิมเพียงในฐานะผู้ตั้งรับเท่านั้น โดยละเลยความหลากหลายในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่ในความเป็นจริงแล้วมีหลายรูปแบบท่ามกลางเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งการปรับตัวนี้บางครั้งก็ล้มเหลวบ้าง สำเร็จบ้าง บ้างก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และบ้างก็ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์

เรื่องราวการเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศของบ้าน กำปงซาตู (ชื่อสมมุติ)  แสดงให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนของการปรับตัวที่ว่านี้ บ้านกำปงซาตูตั้งอยู่บนที่ราบตอนกลางของแม่น้ำสายบุรี มีประชากรราว ๑,๐๐๐ คน  ทั้งหมดเป็นชาวมาเลย์มุสลิม อาชีพหลักปัจจุบันคือการทำสวนยางพารา บางรายอาจมีสวนผลไม้เพิ่มขึ้นมาด้วย มีคนจำนวนน้อยมากที่ยังคงทำนา และมีจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ก็ทำงานรับจ้างทั้งในและนอกหมู่บ้าน รายที่ไม่มีสวนยางของตนเองหรือมีน้อยก็รับจ้างกรีดให้กับชาวบ้านรายอื่น มีบางส่วนไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย มีการเลี้ยงวัว ควาย แพะ เป็นรายได้อีกทางหนึ่ง มีราวสิบรายที่เปิดร้านน้ำชาหรือร้านของชำ รวมทั้งขายขนมและอาหารต่างๆ นอกจากนั้นมีคนรุ่นใหม่หลายคนทำงานรับราชการ เป็นลูกจ้างหรืออาสาสมัครของหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น

กำปงซาตูสัมพันธ์กับโลกภายนอกมาแต่ครั้งอดีต เป็นส่วนหนึ่งของสงครามช่วงชิงอำนาจระหว่าอาณาจักรปัตตานีกับเจ้าเมืองท้องถิ่น รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการค้าโบราณ ชาวบ้านแจวเรือนำข้าวสาร ผลไม้ ปลาแห้งไปขายที่ตลาดเมืองสายบุรีที่อยู่ใกล้เคียงเสมอ กำปงซาตูเป็นส่วนหนึ่งของโลกอิสลามและกระบวนการฟื้นตัวของศาสนาอิสลามที่นำมาสู่ความเข้มข้นขึ้นของวัตรปฏิบัติต่างๆ และแน่นอนว่ากำปงซาตูก็อยู่ในสถานการณ์ “ไฟใต้” ที่ความรุนแรงได้เพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในรอบห้าปีที่ผ่านมา  มีเหตุการณ์ความรุนแรงที่น่าจะเกี่ยวข้องสถานการณ์ภาคใต้เกิดขึ้นในเขตตำบลอยู่เสมอ ชาวบ้านกำปงซาตูก็ไม่ต่างไปจากชาวบ้านในหมู่บ้านอื่นๆ ในเขตนี้ที่ล้วนมีประสบการณ์ว่าด้วยผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ โรงเรียนถูกเผา การมีฐานของทหารเข้ามาตั้งอยู่ในชุมชน การถูกสอบถามตรวจค้น การเห็นกองกำลังไม่ทราบฝ่ายเดินลาดตระเวนยามค่ำคืนในที่เปลี่ยว การได้รับใบปลิวจากผู้ก่อการเป็นระยะๆ และอื่นๆ

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเขตพื้นที่ที่ความขัดแย้งกับรัฐไทยอันเนื่องมาจากความต่างทางศาสนาและชาติพันธุ์ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน กำปงซาตูจึงอยู่ภายใต้บริบทที่รัฐไทยได้พยายามรวบรวมกลืนกลายชาวมาเลย์มุสลิมผ่านโครงการพัฒนาประเภทต่างๆ นอกเหนือไปจากผ่านทางการทำงานด้านความมั่นคง การปกครอง และการศึกษา โครงการพัฒนาเหล่านี้บางอย่างก็มีประโยชน์และอำนวยความสะดวกให้ชาวบ้าน เช่น ไฟฟ้า ถนน น้ำประปา แต่บางอย่างก็ส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินและต่อระบบนิเวศน์อย่างมาก

เดิมชาวบ้านกำปงซาตูดำรงชีวิตด้วยทรัพยากรธรรมชาติจากพื้นที่พรุและจากสวนผสมผสานตามที่ราบริมน้ำ ซึ่งก่อให้เกิดระบบการผลิตที่หลากหลายเพียงพอแก่การยังชีพ พวกเขาปลูกข้าวในนาพรุ ทำนาหว่าน และนาดำบนที่ขอบพรุ ปลูกผลไม้ หาปลาทั้งจากแม่น้ำและจากพรุ เลี้ยงสัตว์ในทุ่งหญ้าในเขตพรุ และล่าสัตว์และเก็บของป่าทั้งจากป่าเชิงเขาและจากป่าพรุ เช่น สาคู น้ำผึ้ง สมุนไพร พรุเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชาวบ้านกำปงซาตูเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ปลูกข้าวได้ผลผลิตมาก รวมทั้งยังหาปลาได้มากเมื่อฤดูกาลมาถึง ระบบการผลิตแบบยังชีพที่ว่านี้มีมาพร้อมกับระบบกรรมสิทธิ์ที่น่าสนใจซึ่งมีหลายลักษณะผสมผสานกัน เช่น แม้ที่บึง ทุ่งหญ้า และนาในพรุจะเป็นกรรมสิทธิส่วนบุคคล แต่ในบางช่วงของปีก็เปิดให้คนอื่นได้เข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย เช่น เข้าจับปลา เลี้ยงสัตว์ อีกทั้งยังมีระบบกรรมสิทธิ์การใช้ประโยชน์ของกลุ่มตระกูลหรือเครือญาติ ระบบการผลิตนี้ยังมาพร้อมกับพิธีกรรม ความเชื่อ และความรู้ท้องถิ่นที่ว่าด้วยระบบนิเวศน์และการใช้ทรัพยากรอีกด้วย

ปัจจุบันทั้งพื้นที่พรุและสวนที่ราบริมน้ำได้เปลี่ยนแปลงไปมาก โครงการพัฒนาต่างๆ เช่น การสร้างถนน ประตูควบคุมน้ำ คลองระบายน้ำ และคั้นกั้นน้ำ ได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของพื้นที่พรุและระบบการไหลเวียนของน้ำ ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้ทรัพยากรโดยเฉพาะจากพรุในการยังชีพเช่นเดิมได้อีกต่อไปโดยเฉพาะการปลูกข้าว พื้นที่เลี้ยงควายในพรุก็มีลงน้อยลง ประจวบเหมาะกับการขยายตัวของยางพาราที่มาพร้อมกับการสนับสนุนอย่างดีจากหน่วยงานรัฐ สวนไม้ผลผสมผสานริมแม่น้ำจำนวนมากได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นสวนยางพาราหรือสวนผลไม้เชิงเดี่ยวแบบใหม่ ขณะที่พื้นที่พรุบางส่วนก็ค่อยๆ ถูกแปรสภาพเป็นสวนยางและสวนปาล์ม  ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่บุกเบิกใหม่เนื่องจากเมื่อพรุแห้งลงเพราะเส้นทางน้ำไหลถูกปิดการเข้าจับจองพื้นที่จึงทำได้ง่ายขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้นำมาสู่ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์ มีการใช้สารเคมีการเกษตรเพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้พันธุ์พืชพื้นบ้านลดลง มีการพึ่งพาระบบตลาดมากขึ้น นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า อาทิ การไม่ได้รับค่าชดเชยในกรณีที่มีการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ทำนาของชาวบ้านบางส่วนเนื่องจากคอรัปชั่นบางลักษณะ

น่าสนใจว่าแม้จะมีผลกระทบหลายประการจากโครงการพัฒนาดังที่กล่าวมา แต่โครงการเหล่านี้กลับไม่ถูกปฏิเสธจากชาวบ้าน ทั้งนี้ สามจังหวัดภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ความมืดต่างๆ ดำรงอยู่และมีอำนาจที่จะกำหนดความเป็นความตายของผู้คนที่นั่น ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐหรือฝ่ายความมั่นคงที่ฉ้อฉล ขบวนการแย่งแยกดินแดน ขบวนการลับ แก็งค์อาชญากรรม และกลุ่มผู้มีอิทธิพล ลักษณะเฉพาะเช่นนี้ทำให้ชาวบ้านต้องระมัดระวังตนเองจากการตกเป็นผู้ต้องสงสัยทั้งจากฝ่ายรัฐไทยว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มขบวนการ รวมทั้งต้องระวังมิให้ฝ่ายขบวนการมองว่าไปจงรักภักดีหรือเป็นสายข่าวให้กับฝ่ายรัฐ และที่ชาวบ้านกำปงซาตูให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือการที่ต้องไม่ทำให้ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นรายหนึ่งเสียผลประโยชน์ที่เคยได้รับจากการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่พรุ อาทิ ค่านายหน้า การเข้ารับเหมางาน เป็นต้น การขัดผลประโยชน์กับผู้มีอิทธิพลอาจนำมาซึ่งอันตรายถึงชีวิต อนึ่ง ผู้มีอิทธิพลในเขตสามจังหวัดสั่งสมอำนาจบารมีมาได้ก็ด้วยการทำงานให้กับหน่วยงานความมั่นคงและได้รับสนับสนุนในทางใดทางหนึ่งจากรัฐในการขยายอำนาจ

จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศน์ที่บ้านกำปงซาตูที่มีแนวโน้มว่าจะไปสู่ความเสื่อมโทรมลงของสภาพแวดล้อมนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นการพยายามปรับตัวท่ามกลางข้อจำกัดและสถานการณ์ที่ตึงเครียดและกดดัน เมื่อหากินกับพรุเช่นเดิมไม่ได้ก็ต้องหาทางออกเงียบๆ ด้วยการหันไปทุ่มเทเวลากับปลูกยางแทนหรือหาทำงานรับจ้างทำ การประท้วงเรียกร้องเพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาพรุดูจะเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตเกินไปท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ หากกำปงซาตูมิใช่หมู่บ้านในเขตสามจังหวัด การปรับตัวเพื่อไปสู่ความสมดุลย์และความยั่งยืนคงเป็นไปได้มากกว่านี้ แนวทางการรื้อฟื้นหรือการสร้างความสมดุลของระบบนิเวศก็คงดำเนินไปได้ผ่านกิจกรรมด้านเกษตรกรรมยั่งยืนประเภทการฟื้นฟูสวนไม้ผลผสมผสานบ้าง การอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์พืชพื้นบ้านบ้าง การปลูกพืชแซมยางหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าหญ้าในสวนยางบ้าง แต่ท่ามกลางบริบทและข้อจำกัดของความเป็นหมู่บ้านในเขตสามจังหวัดภาคใต้ กิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ยังอาจจะไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้เลยแม้จะเกิดขึ้นได้จริงหากบริบทและข้อจำกัดที่ว่าไม่ถูกนำมาพิจารณาหรือวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะที่เป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนผ่านเชิงนิเวศไปสู่ความเสื่อมโทรม

 

หมายเหตุ บทความนี้เขียนไว้ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2552 เคยเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวประชาธรรม แต่ตอนนี้หาลิ้งค์ไม่เจอแล้ว จึงเอามาโพสต์เก็บไว้ในบล็อกนี้เผื่อผู้สนใจ แม้จะเขียนไว้หลายปีแล้ว แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่กล่าวถึงในบทความก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักในทุกวันนี้


ปล.ในไฟล์ที่แนบมาเป็นเนื้อหาเดียวกัน แต่จะมีภาพประกอบด้วย