Skip to main content

 

สานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาและทางออกระหว่างนักการเมืองจังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 33

วันพุธที่ 26 ตุลาคม 2559 โรงแรมปาร์ควิว ยะลา

ผู้ร่วมสานเสวนา: นักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทยอดีต ส.ว. นักการเมืองท้องถิ่น บุคคลจากภาคประชาสังคม เจ้าหน้าที่มูลนิธิเอเซีย (ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนการประชุมครั้งนี้) เจ้าหน้าที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และเจ้าหน้าที่จากศูนย์สันติวิธี จชต. มหาวิทยาลัยมหิดล 

เป้าหมาย: เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกร่วมกัน เพื่อลดความรุนแรงและส่งเสริมห้เกิดสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้   

ก่อนที่จะเข้าสู่วาระการสานเสวนาตามปกติ ที่ประชุมได้หยิบยกเรื่องพื้นที่ปลอดภัยซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งในการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขขึ้นมาพิจารณา โดยอาจารย์อาทิตย์ ทองอินทร์ ซึ่งได้ศึกษาเรื่องนี้ในนามของมูลนิธิเอเซีย เป็นผู้เสนอผลการศึกษาแก่ที่ประชุม แนวทางที่ได้จากการศึกษามีสามแนวทางคือ พื้นที่สาธารณะปลอดภัย พื้นที่ปลอดภัยภายใต้โครงการประชารัฐร่วมใจ และพื้นที่สันติ ที่ประชุมได้อภิปรายและแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางทั้งสามอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่สนับสนุนแนวทางพื้นที่สันติ ซึ่งมูลนิธิเอเซียจะได้นำไปประมวลและนำเสนอความเห็นต่อผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป 

ที่ประชุมได้รับทราบสถิติจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่เสียชีวิต (89 ราย) และได้รับบาดเจ็บ (486 ราย) ในช่วงเวลา 12 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถึงปัจจุบัน) และมีความเห็นว่า เด็กไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และควรได้รับความคุ้มครองให้ดำเนินชิวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ตกเป็นเป้าหมายการใช้ความรุนแรงใด ๆ อนึ่งการวางระเบิดหน้าตลาดโต้รุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานีเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2559 นั้น เป็นเรื่องที่ต้องถูกประณาม เพราะเป็นการใช้ความรุนแรงต่อเป้าหมายอ่อนและเป็นการทำให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย

ที่ประชุมได้อภิปรายถึงการแต่งตั้งคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล จำนวน 13 คน และมีข้อสังเกตว่า ควรจะมีผู้แทนจากภาคประชาชนในคณะผู้แทนพิเศษฯหรือไม่ อนึ่ง คณะผู้แทนพิเศษฯ นอกจากจะมาดูแลเรื่องการบูรณาการงานของกระทรวงต่าง ๆ แล้ว ควรติดตามเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วย ส่วนนโยบายปัจจุบันในเรื่องประชารัฐร่วมใจนั้น ควรเน้นจากล่างขึ้นบน คือจากประชาชนสู่รัฐตรงตามชื่อ ไม่ใช่จากรัฐลงสู่ประชาชนซึ่งจะกลายเป็นรัฐ-ประชามากกว่า 

ที่ผ่านมา กลไกรัฐมักให้คนนอกพื้นที่มารับผิดชอบการบริหารราชการ ซึ่งไม่ค่อยมีเวลาในการทำความรู้จักกับผู้คน สถานที่ สังคมและโอกาสทางเศรษฐกิจ ในส่วนของนโยบายทางเศรษฐกิจที่เน้นการเกษตร การแปรรูปผลิตผลการเกษตร และการท่องเที่ยวชุมชนนั้น ยังมีความไม่พร้อมในหลายด้าน โดยเฉพาะการเข้าถึงเกษตรกรและชุมชนที่มีความพร้อม ขณะเดียวกัน ต้องแก้ไขปัญหาที่เร่งด่วน คือปัญหายาเสพติดด้วย

ในฐานะที่ผู้เข้าร่วมการสานเสวนาส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันคือสันติสุขของคนในพื้นที่ จึงมีความเห็นว่าการแก้ไขปัญหาต้องใช้วิธีการทางการเมือง นั่นคือ ต้องรับฟังความเห็นของประชาชนเป็นสำคัญ การให้คนนอกมาแก้ไขปัญหานั้นมักไม่ถูกจุด ส่วนจะให้คนในพื้นที่ที่มาช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิผลนั้น จำเป็นต้องมีการรวมตัวกันทางการเมือง โดยการสนับสนุนของมวลชน เช่น เป็นพรรคการเมืองที่อาจมีเสียงข้างมากในพื้นที่ และมีนโยบายที่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในพื้นที่ ต้องรู้ทั้งประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และแหล่งทรัพยากรของตนเองด้วย  

ในส่วนของผู้เห็นต่าง ดูเหมือนว่าจะมีวิวัฒนาการทางความคิด ดูเหมือนว่าเสียงเรียกร้องเรื่องเอกราชได้ลดลง แต่มีเสียงเรียกร้องในเรื่องการกำหนดใจตนเองของคนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องรูปแบบการกำหนดใจดังกล่าว ในเรื่องนี้ ต้องมีการเปิดพื้นที่การถกแถลงและการทำความเข้าใจร่วมกันในภาคประชาชน ส่วนภาคประชาสังคมก็ควรทำหน้าที่จัดเวทีพูดคุยและสังเคราะห์ความคิดเห็นในเรื่องนี้เช่นกัน อนึ่ง การเปิดพื้นที่ดังกล่าว ต้องเปิดให้ฝ่ายที่เห็นต่างได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างปลอดภัย นั่นคือแปลงเปลี่ยนการต่อสู้มาสู่วิถีทางการเมืองในแนวทางสันติวิธี ในขณะเดียวกัน หากผู้เห็นต่างได้ก้าวข้ามความคิดเดิมไปบ้างแล้ว ประชาชนในพื้นที่ควรเอาใจใส่และสนับสนุนการแปลงเปลี่ยน ตลอดจนสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขอย่างจริงจังด้วย

ทั้งรัฐและประชาชนควรก้าวข้ามความรุนแรงในระดับหนึ่ง ลดความหวาดระแวง สร้างความเชื่อมั่น ให้ความเป็นธรรม แล้วมุ่งสู่การพัฒนาความรู้ความสามารถ ตลอดจนการสร้างโอกาสการพัฒนาในด้านต่างๆ