Skip to main content

 

ความเป็นไทยในกรอบแห่งอิสลาม

ดร.วิสุทธิ์  บิลล่าเต๊ะ[1]

 

ขอบคุณภาพจาก www.sameaf.mfa.go.th/

 

๑.   ความเป็นไทยกับความเป็นมุสลิม

คนไทย  หมายถึงคนที่อาศัยอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า ประเทศไทย เป็นประชาชนคนหนึ่งที่อยู่ภายใต้กฎหมายซึ่งบังคับใช้ในรัฐไทย คนไทยอาจนับถือศาสนาต่างกันได้ อันเป็นที่มาของความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมในประทศไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับก็ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพนี้ไว้เช่นกัน

ความเป็นไทยจึงมิได้หมายถึงคนชาติพันธุ์หนึ่ง หรือ นับถือศาสนาหนึ่ง หรือใช้ภาษาหนึ่ง เป็นการเฉพาะ แต่หมายรวมถึงทุกชาติพันธุ์ ทุกศาสนา และทุกภาษา ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายใต้การปกครองและบูรณาการแห่งดินแดนของประเทศไทย การชี้เฉพาะว่าคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเท่านั้นที่เป็นคนไทย เช่น เฉพาะคนชาติพันธุ์ไทย หรือเฉพาะคนที่นับถือศาสนาพุทธหรือเฉพาะคนที่พูดภาษาไทย ก่อให้เกิดอคติต่อคนชาติพันธุ์อื่น ศาสนาอื่น และคนที่พูดภาษาอื่น นำมาซึ่งความขุ่นข้องบาดหมางระหว่างคนไทยกันเอง และเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศ ถือเป็นความคิดชาตินิยมตกขอบ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการอยู่ร่วมกันของคนในชาติ

 

ความเป็นมุสลิม

    มุสลิม คือผู้ที่เชื่อและศรัทธาว่า พระเจ้าที่แท้ของมนุษย์และทุกสรรพสิ่งในจักรวาล มีเพียงพระองค์เดียว คือ อัลลอฮฺ (ซุบบาฮานะฮุวะตาอาลา) และเชื่อว่าศาสนฑูตมูฮัมมัดเป็นผู้ซึ่งพระองค์ทรงส่งมาเพื่อเป็นเมตตาธรรมแก่มนุษย์ชาติทั้งหลาย ความเชื่อมั่นศรัทธาต่อเอกภาพแห่งอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าหมายถึง การยอมรับต่อการรังสรรค์ของพระองค์ ซึ่งการรังสรรค์นี้มีความละเอียดงดงาม ทั้งประกอบไปด้วยความหลากหลายอย่างยิ่ง และทุกสิ่งก็สะท้อนพระพลานุภาพแห่งอัลลอฮฺอย่างชัดเจน มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนต่าง ๆ ก็มีความหลากหลายทั้งทางชาติพันธุ์ สีผิว และภาษา ความหลากหลายเหล่านี้ถือเป็นพระประสงค์แห่งอัลลอฮฺเจ้า ซึ่งมนุษย์ทุกคนโดยเฉพาะที่เป็นมุสลิม ต้องน้อมยอมรับ และการสร้างความแตกต่างในหมู่มนุษย์เช่นนี้ องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงมีพระประสงค์ให้มนุษย์ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งยังสามารถแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ต่าง ๆ กันได้ มิใช่เพื่อให้คนเรานำมาเป็นเครื่องอวดข่มกันและกันแต่อย่างใด พระดำรัสในเรื่องนี้ปรากฏในซูรอฮฺ อัลหุญูรอจ  อายะฮฺ ที่ ๑๓ ความว่า

“ มนุษย์ทั้งหลาย  เราสร้างพวกเจ้ามาจากชายหนึ่ง หญิงหนึ่ง และให้พวกเจ้าแตกกอต่อยอดออกไปเป็นกลุ่มชนและเผ่าพันธุ์นานา เพื่อพวกเจ้าจะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน แท้จริงผู้ที่ประเสริฐสูงสุดในหมู่พวกเจ้า ณ อัลลอฮฺ คือ ผู้ที่มีความยำเกรงสูงสุด และอัลลอฮฺนั้นทรงรู้ดียิ่ง ทรงเชี่ยวชาญยิ่ง “

เมื่ออิสลามเป็นศาสนาเพื่อมนุษย์ชาติอันเต็มไปด้วยความหลากหลาย มุสลิมจึงต้องเป็นคนที่พร้อมยอมรับความหลากหลายเหล่านั้น โดยไม่ถือเอาชาติพันธุ์หรือวงศ์ตระกูลมาเป็นเกณฑ์ในการตีค่าของคน แต่ยินดีที่จะนำอิสลาม ซึ่งถือว่ามีค่าที่สุดมอบแก่เพื่อนมนุษย์โดยไม่เลือกสีผิว เผ่าพันธุ์หรือภาษา

โดยนัยนี้อิสลามและความเป็นมุสลิม จึงอยู่โพ้นพรมแดนทางภูมิศาสตร์ที่เป็นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ อิสลามเป็นสิ่งที่กำหนดโดยอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งอยู่เหนือมิติของรัฐชาติ ขณะที่รัฐชาติยกย่องตนเอง และดูแคลนชาติพันธุ์อื่น

ความเป็นไทยจึงมิได้ขัดแย้งกับความเป็นมุสลิม เพราะความเป็นไทยเพียงแค่บ่งบอกว่า เราเป็นคนถือสัญชาติไทย อยู่ในประเทศไทย ความรักและภักดีต่อประเทศไทย ก็เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ย่อมผูกพันกับแผ่นดินถิ่นเกิด และจะไม่กลายเป็นสิ่งต้องห้าม หากความรักและภักดีนั้น ไม่นำไปสู่การปฏิบัติอันขัดแย้งกับหลักธรรมของอิสลาม เนื่องจากมุสลิมต้องเทิดอิสลามเหนือสิ่งอื่นใด ด้วยว่าอิสลามคือเป้าหมายอันเป็น นิรันดร์ ขณะที่ประเทศทุกประเทศมีขึ้นและเสื่อมลงเป็นสัจธรรม

 

๒. ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมไทยกับความเป็นมุสลิม

วัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิตที่กำเนิดมาจากแนวคิดในการมองโลกมองชีวิตแบบหนึ่ง โดยเชื่อว่าการดำเนินชีวิตเช่นนั้น เป็นสิ่งที่จะทำให้ตนสามารถดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี วัฒนธรรมจึงผูกติดกับความคิดและความเชื่ออย่างแยกไม่ออก วัฒนธรรมอิสลามก็เป็นวัฒนธรรมของมุสลิม ซึ่งก่อเกิดจากความเชื่อถือศรัทธาต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า กลายเป็นวิถีที่มีอัตลักษณ์ของตนเองและครอบคลุมทุกมิติของการดำเนินชีวิต  วัฒนธรรมอิสลามมีความเชื่อและหลักปฏิบัติพื้นฐานที่เป็นสากล จึงเหมาะสมแก่คนทุกชาติ ทุกภาษา ขณะเดียวกันอิสลามก็เปิดโอกาสให้วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นดำรงอยู่ได้ หากวัฒนธรรมนั้นไม่มีความขัดแย้งกับหลักความศรัทธาอันเป็นพื้นฐาน

โดยนัยนี้ มุสลิมไทยจึงสามารถปฏิบัติตนตามวัฒนธรรมประเพณีของไทยได้ ในส่วนที่ไม่ขัดแย้งกับหลักศรัทธาของอิสลาม ทั้งนี้ พึงเข้าใจว่าวัฒนธรรมไทยก่อเกิดจากความคิดความเชื่อของคนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งต่างไปจากความศรัทธาแบบอิสลามที่งอกเงยจากความเชื่อในเอกภาพแห่งอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า แต่แม้จะมีความแตกต่างอิสลามก็ไม่ได้สอนให้มุสลิมมีความรังเกียจเดียดฉันท์พี่น้องร่วมชาติ เนื่องจากถือว่าบุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศรัทธาต่อสิ่งที่ตนยึดมั่น และย่อมมีเสรีภาพที่จะปฏิบัติตามความเชื่อถือศรัทธาของตนได้ สิ่งที่มุสลิมพึงกระทำก็คือหยิบยื่นไมตรีจิต มิตรภาพ และให้พี่น้องร่วมชาติได้เข้าใจว่าอิสลามสอนอะไร ทั้งนี้เพื่อขจัดอคติอันอาจเกิดจากสื่อสารมวลชนบางกลุ่มที่ไม่เข้าใจอิสลามอย่างดีพอ ส่วนการดำรงตนเยี่ยงคนไทย โดยใช้วัฒนธรรมไทยที่ไม่ขัดแย้งกับหลักศาสนาย่อมเป็นสิ่งที่พึงกระทำ เพราะจะเป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นมุสลิมในประเทศไทย และยังช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพี่น้องร่วมชาติอีกด้วย เช่น การใช้ภาษาไทยตามขนบธรรมเนียมของไทย การทักทาย การปฏิบัติตามธรรมเนียมไทยที่ไม่มีลักษณะตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ เป็นต้น

วัฒนธรรมไทยแต่เดิมมา มีน้ำจิตน้ำใจและยอมรับความแตกต่างของสมาชิกร่วมสังคม จึงทำให้การอยู่ร่วมกันของประชาชนเป็นไปอย่างสันติ แต่ปัจจุบันประเทศไทยตกอยู่ในกระแสโลกาภิวัฒน์ทุนนิยม ซึ่งแปรทุกอย่างเป็นสินค้า รวมถึงวัฒนธรรมด้วย ทำให้วัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของคนไทยแปรเปลี่ยนไป

ขณะรับฟังข่าวสารในโลกกว้างมากขึ้น แต่วิถีชีวิตกลับคับแคบลง การให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับมูลค่าทางวัตถุ ทำให้ผู้คนละเลยคุณค่าของจิตใจภายใน จนในที่สุดก็ละเลยประเพณีต่าง ๆ ที่แสดงถึงความสำคัญของคุณค่าเหล่านั้น ประเพณีที่ปฏิบัติกันอยู่จึงไม่ได้เป็นวิถีชีวิตอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่อนุรักษ์และปฏิบัติกันในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อดึงดูดเงินตราซึ่งก็คือ ทำให้ประเพณีเป็นสินค้านั้นเอง

สำหรับมุสลิม วัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ ต้องเป็นวิถีชีวิต มิใช่สิ่งที่เอามาปฏิบัติกันแค่ช่วงเวลาหนึ่งแล้วหลังจากนั้นก็ดำเนินชีวิตไปโดยขัดแย้งกับคุณค่าที่ประเพณีนั้นมุ่งสั่งสอน หากมุสลิมคนหนึ่งดำเนินชีวิตโดยขัดแย้งกับวัฒนธรรมที่มาจากคำสอนแห่งอิสลามย่อมกล่าวได้ว่า มุสลิมนั้นไม่ได้มีความศรัทธาต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง.

                      ด้วยเหตุที่วัฒนธรรมอิสลามกำเนิดจากความศรัทธาต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้านี้เอง การปฏิสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรมระหว่างมุสลิมกับศาสนิกอื่น จึงอยู่ในขอบเขตความศรัทธานั้น กล่าวคือ มุสลิมสามารถที่จะปฏิบัติตนตามประเพณีใด ๆ ก็ได้ ตราบที่ประเพณีนั้นไม่มีลักษณะขัดแย้งกับความศรัทธาและหลักธรรมคำสอนของอัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้า เนื่องจากอิสลามมิได้มีเป้าหมายอยู่ที่การทำลายล้างประเพณีหนึ่งประเพณีใด แต่มีเป้าหมายให้มนุษย์ได้รู้จักและศรัทธาต่ออัลลอฮฺในฐานะพระเจ้าผู้ทรงเอกะ  ไม่มีภาคีใดร่วมกับพระองค์ในการรังสรรค์และการจัดการกับสรรพสิ่งในจักรวาล อีกทั้งให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์บนความศรัทธามั่นว่า สิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติให้ปฏิบัติย่อมดีที่สุดสำหรับมนุษย์ และสิ่งใดที่ทรงบัญญัติห้ามปฏิบัติสิ่งนั้นย่อมเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายแก่มนุษย์เอง

ความเชื่อมั่นว่าอัลลอฮฺทรงเมตตาต่อมวลมนุษย์ และทรงประทานสิ่งที่ดีที่สุดมาให้ คือบ่อเกิดของวัฒนธรรมการดะวะฮฺหรือการเรียกร้องเชิญชวนสู่อิสลาม อันเป็นวัฒนธรรมที่ผลักดันให้มุสลิมต้องมีปฏิสัมพันธ์อันดีกับพี่น้องต่างวัฒนธรรม ไม่ใช่การปฏิสัมพันธ์บนฐานความเกลียดชังและความไร้น้ำใจ ทั้งนี้เพราะอิสลามถูกส่งมาเพื่อเป็นเมตตาธรรมแก่มนุษย์ชาติ มิใช่เพื่อการพิฆาตเข่นฆ่า ดังความปรากฏในซูรอฮฺ อัลอัมบิยะฮฺ อายะฮฺ ๑๐๗ ว่า

“ เรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่อการอื่นใด เพียงแต่เป็นเมตตาธรรมต่อโลกทั้งมวล “

การปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับต่างศาสนิกจึงต้องเป็นไปด้วยไมตรีเสมอ ยกเว้นเมื่อเผชิญการรุกรานทางวัฒนธรรม 2 รูปแบบที่ปรากฏในซูรอฮฺ อัลมุมตะหินะฮฺ อายะฮฺที่ ๘ ความว่า

“ อัลลอฮฺไม่ทรงห้ามพวกเจ้า ในอันที่จะทำดีและมีความเป็นธรรมต่อบรรดาผู้คนซึ่งมิได้ทำสงครามทำลายศาสนาของพวกเจ้า อีกทั้งมิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากถิ่นฐานบ้านเรือนของพวกเจ้า แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้มีความเป็นธรรม “

 

๓.  มารยาทไทยกับมารยาทของความเป็นมุสลิม

มารยาทเปรียบได้ดั่งสีหรือสิ่งปรุงแต่งต่าง ๆ มารยาทช่วยร้อยรัดความสัมพันธ์ของบุคคลกับสิ่งที่เขาปฎิสัมพันธ์ด้วยให้แนบแน่นมั่นคงได้ เมื่อคนเรามีความจำเป็นต้องปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยธรรมชาติ จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่คนทุกคนรักให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตนด้วยมารยาทอันดีงาม และมีความไม่พึงพอใจหากได้รับการปฏิบัติอย่างหยาบคายไร้มารยาท .

มารยาทเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนวัฒนธรรมของกลุ่มชนแต่ละกลุ่มได้ เพราะวัฒนธรรมเป็นตัวหล่อหลอมมารยาทของผู้คน ในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงอาจทำให้คนเรามองมารยาทต่างกันไปด้วย การกระทำบางอย่างอาจถือเป็นมารยาทในวัฒนธรรมหนึ่ง แต่อาจเป็นเรื่องร้ายแรงในอีกวัฒนธรรมหนึ่งได้ เช่น วัฒนธรรมการกราบของพุทธศาสนิกชนไทย หากให้มุสลิมปฏิบัติย่อมถือเป็นเรื่องร้ายแรง เพราะอิสลามถือว่าการกราบเป็นสิ่งที่มนุษย์พึงปฏิบัติต่ออัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น การกราบมนุษย์เท่ากับยกย่องมนุษย์กันเองจนสูงส่งเทียบเคียงพระผู้ป็นเจ้า (ชีริก) ซึ่งถือเป็นบาปใหญ่ที่สุด กระนั้นก็ตามแม้จะต่างมุมมองจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมเช่นนั้น แต่ทั้งสองศาสนาก็มีจุดร่วมกันคือ เห็นว่าการเคารพผู้ใหญ่เกรงใจคนดี ปราณีต่อผู้น้อย เป็นมารยาทที่บุคคลพึงมี แต่ในทางปฏิบัติมีรูปแบบที่ต่างกันตามการหล่อหลอมของแต่ละวัฒนธรรม ซึ่งผู้คนที่อยู่ร่วมกันพึงเข้าใจกันและกันด้วยดี โดยคำนึงถึงจุดร่วมที่คนต่างศาสนาสามารถปฏิบัติร่วมกันให้มาก แล้วสงวนจุดต่างให้เป็นเสรีภาพที่แต่ละศาสนิกจะดำเนินการตามความเชื่อศรัทธาแห่งตน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมุสลิม การแสดงมารยาทถือเป็นสิ่งวาญิบ(จำเป็น)ไม่ว่าจะกับมุสลิมด้วยกันหรือกับต่างศาสนิก ทั้งนี้เพราะมารยาทคือ ดอกผลอันงามของความศรัทธา กล่าวคือ ความศรัทธาที่แท้ย่อมผลิตอกออกผลเป็นมารยาทอันประเสริฐ

นับตั้งแต่การมีมารยาทกับอัลลฮฺพระผู้เป็นเจ้า ในยามประกอบอิบาดะฮฺ รวมทั้งทุกโมงยามที่บุคคลยังต้องใช้ทรัพยากรและบริโภคปัจจัยต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงประทานให้ การกินอยู่หลับนอนของคนเราจึงต้องกระทำด้วยความรำลึกต่อพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระองค์อยู่เป็นนิจ ด้วยการบริโภคสิ่งที่ฮาลาล ละเว้นสิ่งที่หะรอม บริโภคแต่พอควรและรู้จักแบ่งปันแก่ผู้อื่น อีกทั้งรู้จักรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งในชีวิตส่วนตัวและส่วนรวม เป็นต้น

ความศรัทธาและความยำเกรงในอัลลอฮฺ ยังส่งผลให้มุสลิมต้องมีมารยาทต่อเพื่อนมนุษย์ด้วย ตั้งแต่การมีน้ำใจต่อผู้อื่น การไม่เบียดเบียนทำร้ายกัน ไม่ดูถูกเหยียดหยามซึ่งกันและกัน ไม่นินทาว่าร้าย รักษาคำมั่นสัญญา และเคารพในสิทธิหน้าที่ของกันและกัน เป็นต้น ทั้งนี้ อัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสถึงมารยาทที่มุสลิมพึงแสดงออกไว้ในหลายที่ทางในอัลกุรอาน เช่นความจากซูรอฮฺ อัลมาอิดะฮฺ อายะฮ์ที่ 2

“จงช่วยเหลือกันและกันในเรื่องความดีและความยำเกรง และจงอย่าช่วยเหลือกันในเรื่องความชั่ว และความเป็นอริบาดหมาง “     หรือความจากซูรอฮฺ อัลหุญุรอต อายะฮฺที่ 11

“ โอผู้ศรัทธาทั้งหลาย กลุ่มชนหนึ่งอย่าได้ดูหมิ่นชนอีกกลุ่ม บางทีกลุ่มที่ถูกหมิ่นหยามอาจดีกว่ากลุ่มที่ทำการนั้นต่อสตรีด้วยดัน เพราะสตรีที่ถูกดูหมิ่นอาจดีกว่าคนที่ทำการดูหมิ่นเสียอีกก็ได้  อย่าได้ใส่ร้ายป้ายสีกัน อย่าได้ตั้งฉายาเพื่อล้อลามหยามหยาบกัน อันชื่อที่เลวมากคือชื่อที่สะท้อนการละเมิด หลังจากที่มีความศรัทธาแล้ว ผู้ใดไม่กลับตัว ผู้นั้นย่อมเป็นคนอธรรม “

ด้วยเหตุที่มารยาทเป็นเรื่องยิ่งใหญ่เช่นนี้เอง บรมศาสนฑูตมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ) จึงได้กล่าวไว้ ความว่า

“ แท้จริง ฉันถูกตั้งเป็นศาสดา เพื่อทำให้มารยาทอันประเสริฐทั้งหลายมีความสมบูรณ์ “       (หะดิษบันทึกในมุวัตเฏาะของอิหม่ามมาลิก)

 

 


[1]ประธานฝ่ายวิชาการและการศึกษาสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย