Skip to main content

1.หลักการอิสลามว่าด้วยการรักชาติ

            อิสลามกำหนดให้มุสลิมรักและเสียสละเพื่อชาติของตนยิ่งกว่าผู้อื่น  ถึงขั้นนักคิดมุสลิมบางท่านเห็นว่า เป็นข้อกำหนดในระดับฟัรฎู(บังคับเด็ดขาด) ดังทัศนะของหะซัน อัลบันนา[2]และอิสลามยังกำหนดให้เสียสละ และกระทำการเพื่อรับใช้ชาติ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการทำดีต่อญาติ[3]  ดังที่ปรากฏในอัลกุรอานและหะดีษมากมาย ที่ส่งเสริมให้ทำความดีต่อญาติ [4]

            1.1 หลักการทำดีต่อญาติในอิสลามนั้นครอบคลุมถึงญาติทุกๆศาสนา

            อัลนะวะวีย์ กล่าวใน “มินฮาจ อัตตอลิบีน” อธิบายข้อกำหนดในกรณีดังกล่าวตามมัซฮับชาฟิอีย์ว่า”   คนๆหนึ่ง มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาหรือผู้สืบสันดานสูงขึ้นไป และบุตรหรือผู้สืบสันดานลงไป แม้ว่าต่างศาสนากันก็ตาม” [5]

             การรักชาติเป็นการทำตามแบบอย่างของท่านศาสนฑูต ศอลฯ(ศาสนฑูตมุฮัมมัด ) ขณะที่อยู่ ณ นครมะดีนะฮฺ ท่านก็ยังรำลึกถึงนครมักกะฮฺอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน

ท่านศาสนฑูต ศอลฯ กล่าวถึงมหานครมักกะฮฺว่า

             “ท่านช่างประเสริฐยิ่ง ฉันรักท่านยิ่งนัก หากเผ่าพันธุ์ของฉันไม่ขับไล่ฉันไปจากท่าน ฉันจะไม่ไปอยู่ที่ไหนอีก” [6]

 

              ในขณะที่ท่านอยู่ที่นครมะดีนะฮฺ ท่านก็ยังรักนครมะดีนะฮฺอีกด้วย ดังหะดีษอัลบุคอรีย์[7] ที่อะนัส   กล่าวว่า

              “เมื่อท่านเราะสูลุลลอฮฺ กลับจากการเดินทาง เมื่อได้เห็นถนนต่างๆของเมืองมะดีนะฮฺ ท่านรีบไสอูฐ หรือหากเป็นสัตว์พาหนะอื่นๆ ท่านก็จะขี่มันเร็วขึ้น”

 

              อิบนุหะญัร อัลอัสเกาะลานีย์ กล่าวว่า หะดีษนี้บ่งชี้การบัญญัติหลักการรักชาติในอิสลาม[8]

 

2. หลักการอิสลามว่าด้วยการยึดมั่นในศาสนา

2.1 อิสลามให้เสรีภาพในการยึดมั่นต่อศาสนาใดๆ

               อัลลอฮฺ กล่าวไว้

 ความว่า”  ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนา”  (อัละเกาะเราะฮฺ : ๒๕๖)

               แต่มีขอบเขตสำหรับมุสลิมว่า จะต้องไม่ปฏิบัติปะปนกันระหว่างอิสลามกับศาสนาอื่นๆ

ความว่า  “สำหรับท่านศาสนาของท่าน และสำหรับฉันศาสนาของฉัน” (อัลบะเกาะ  เราะฮฺ : ๒๕๖)

 

            2.2 อิสลามส่งเสริมให้ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นความดีร่วมกันระหว่างศาสนา

            การร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นความดีร่วมระหว่างศาสนาหรือแนวคิดต่างๆ โดยศาสนาหรือแนวคิดต่างๆ เห็นพ้องกัน เช่น พระบรมราโชวาท หรือหลักการทรงงานและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในกรณี การออม  ประหยัด ความขยัน  อดทน  ซื่อสัตย์ เสียสละ วินัย ข่มใจ เอื้อเฟื้อ สามัคคี ใฝ่รู้ กตัญญู  เหตุผล รอบคอบ มีสติ ขยัน   พึ่งตนเอง การมีส่วนร่วม ความเพียร  ประโยชน์ส่วนรวม พออยู่พอกิน  ทำตามลำดับขั้น ทำอย่างมีความสุข  องค์รวม ทำให้ง่าย  ภูมิสังคม ขาดทุนคือกำไร  ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ  แก้ปัญหาที่จุดเล็ก หรืออื่นๆ

             ทั้งนี้ เนื่องจากอิสลามยอมรับคุณธรรมสากลที่ศาสนาหรือแนวคิดต่างๆ เห็นพ้องกัน รวมถึงความร่วมมือกันส่งเสริมคุณธรรมดังกล่าว เช่น ร่วมต่อต้านสิ่งเสพติด  การฉ้อโกง การเอารัดเอาเปรียบ  เป็นต้น  ดังที่ท่านศาสนฑูต ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวถึงเหตุการณ์สนธิสัญญาฟุฎูลที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกกระทำละเมิด  ที่ได้เข้าร่วมก่อนการเป็นศาสนฑูต ว่า

              หากฉันถูกเชิญแบบนี้อีกครั้งในช่วงอิสลาม ฉันก็จะตอบรับ” [9]

                       

3. เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

                การเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของรัฐตามรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งหลักการอิสลามในกรณีการปฏิบัติตามพันธะสัญญาตามเงื่อนไขที่อิสลามกำหนด

               อัลลอฮฺ กล่าวไว้ความว่า  

                “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธา จงปฏิบัติตามสัญญาต่างๆ” (อัลมาอิดะฮฺ :๑ )

 

4. หลักการอิสลามว่าด้วยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องชาติ  ศาสนา  และสถาบันพระมหากษัตริย์

          4.1 การเข้าร่วมกิจกรรม การใช้ เห็นคุณค่า  แนะนำผู้อื่น  เป็นแบบอย่าง เกี่ยวข้องชาติ สินค้าไทย  โบราณวัตถุ  รักษาสาธารณสมบัติ 

          การเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวข้องกับชาติที่ไม่มีการนำรูปแบบหรือพิธีกรรมทางศาสนาของศาสนาอื่นๆ จึงเป็นสิ่งที่อิสลามสนับสนุน ถึงขั้นนักคิดมุสลิมบางท่านเห็นว่า เป็นข้อกำหนดในระดับฟัรฎู(บังคับเด็ดขาด) ดังทัศนะของหะซัน อัลบันนา[10] ดังกล่าวข้างต้น

          4.2 การเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวข้องกับศาสนา

           อิสลามมีขอบเขตสำหรับมุสลิมว่า จะต้องไม่ปฏิบัติปะปนกันระหว่างศาสนาอิสลามกับศาสนาอื่นๆ

           ความว่า  “สำหรับท่านศาสนาของท่าน และสำหรับฉันศาสนาของฉัน”  

(อัลบะเกาะเราะฮฺ : ๒๕๖)

         4.3  การเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ปฏิบัติตามพระราชจริยวัตร พระบรมราโชวาท ปฏิบัติตนตามหลักการทรงงานและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 

          การเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของรัฐตามรัฐธรรมนูญ เป็นส่วนหนึ่งหลักการอิสลามในกรณีการปฏิบัติตามพันธะสัญญาตามเงื่อนไขที่อิสลามกำหนด

อัลลอฮฺ กล่าวไว้   ความว่า

           “โอ้ บรรดาผู้ศรัทธา จงปฏิบัติตามสัญญาต่างๆ” (อัลมาอิดะฮฺ :๑ )

            ส่วนการปฏิบัติตามพระราชจริยวัตร  ปฏิบัติตนตามหลักการทรงงานและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  เป็นส่วนหนึ่งของคุณธรรมสากลที่ศาสนาหรือแนวคิดต่างๆ เห็นพ้องกัน รวมถึงความร่วมมือกันส่งเสริมคุณธรรมดังกล่าว เป็นสิ่งที่อิสลามยอมรับ  ดังที่ท่านศาสนฑูต ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวถึงเหตุการณ์สนธิสัญญาฟุฎูลที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกกระทำละเมิด  ที่ได้เข้าร่วมก่อนการเป็นศาสนฑูต ว่า

             “หากฉันถูกเชิญแบบนี้อีกครั้งในช่วงอิสลาม ฉันก็จะตอบรับ”

 

 

[1]อาจารย์ประจำสาขาวิชาชะรีอะฮฺ (กฎหมายอิสลาม) คณะอิสลามศึกษาและนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยฟาฏอนี

[2]หะซัน อัลบันนา. ริสาละ อัลมุตะมัร อัลคอมิส. ใน มัจมูอะฮฺเราะสาอิล (ไคโร : ดาร อัตเตาเซียะ วันนัชร์ อัลอิสลามมียะฮฺ ) ,๑๙๙๒,๑๔๑-๑๔๒

[3]หะซัน อัลบันนา. อ้างแล้ว.๑๔๒.

[4]โปรดดูในอัลกุรอานและหะดีษ ที่ส่งเสริมให้ทำความดีต่อญาติ

[5]อัลนะวะวีย์ ,มินฮาจญ์ อัตตอลิบีน. (เบรุต : ดาร์ อัลมินฮาจญ์ ), ๒๐๐๕, ๔๖๓.

[6]หะดีษรายงานโดย อัตติรมิซีย์  ใน สุนัน อัตติรมิซีย์  เลขหะดีษ  ๓๙๒๖  เป็นหะดีษหะซัน เฆาะรีบ  และอิบนุหิบบาน ใน เศาะเหียะหฺอิบนุหิบบาน  เลขหะดีษ  ๓๗๐๙ เป็นหะดีษเศาะเหียะหฺ

[7]อัลบุคอรีย์ เลขหะดีษ ๑๘๐๒

[8]อิบนุหะญัร อัลอัสเกาะลานีย์. ฟัตหุล บารีย์,๓.(ไคโร : ดาร อัลรัยยาน ลิตตุรอษ)๑๙๘๖, ๖๒๑.

[9]หะดีษมุรซัล  รายงานโดย อัลบัซซาร  ใน “อัลมุสนัด”  และอิบนุ อัลสะด์ ใน “อัลเฏาะบะกอต

[10]หะซัน อัลบันนา. ริสาละ อัลมุตะมัร อัลคอมิส. ใน มัจมูอะฮฺเราะสาอิล (ไคโร : ดาร อัตเตาเซียะ วันนัชร์ อัลอิสลามมียะฮฺ ) ,๑๙๙๒,๑๔๑-๑๔๒

[11]หะดีษมุรซัล  รายงานโดย อัลบัซซาร  ใน “อัลมุสนัด”  และอิบนุ อัลสะด์ ใน “อัลเฏาะบะกอต