สุดยอดนวัตกรรมของในหลวงในพระบรมโกศ
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน
อยู่ในวงการวิจัยและพัฒนามาทั้งชีวิต ยากที่สุดไม่ใช่เรื่องการทำงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการหรือเพื่อนำเสนอในงานประชุมวิชาการ แต่เป็นการนำงานวิจัยไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมต่างหาก ว่ากันว่าประเทศไทยที่หลุดออกจากกับดักประเทศรายได้ขนาดกลางไม่ได้ก็เพราะมีงานนวัตกรรมน้อยเกินไปนี่แหละ
ผมโชคดีอยู่หน่อยตรงที่มีงานนวัตกรรมเป็นของตนเองสองสามชิ้น บางชิ้นกลายเป็นผลิตภัณฑ์ในตลาด แต่เชื่อหรือไม่ว่าทั้งผมและนักวิชาการในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่กลับมีงานนวัตกรรมน้อยกว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทร์มหาภูมิพลอดุลยเดชฯที่พวกเราเรียกพระองค์ง่ายๆว่าในหลวงที่แม้ไม่ทรงอยู่ในวงการวิชาการในมหาวิทยาลัยก็ตาม เรื่องนี้จึงน่าประทับใจอย่างยิ่ง
งานนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของในหลวงมีมากมายที่รู้จักกันดีคือฝนเทียมที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นฝนหลวง นอกจากนี้ยังมีเรื่องพลังงานจากแอลกอฮอล์และปาล์มน้ำมัน พักหลังยังมีเรื่องของระบบแก้มลิงที่ใช้กักเก็บน้ำเพื่อรอการระบายตามแรงโน้มถ่วง เรื่องของกังหันน้ำชัยพัฒนาแบบทุ่นลอยที่ใช้เติมออกซิเจนให้กับน้ำเสีย การแกล้งดินเพื่อฟื้นฟูดินที่สูญเสียสภาพการเพาะปลูกไปแล้ว เรื่องของหญ้าแฝกที่เป็นกำแพงธรรมชาติ แถมด้วยเรื่องของเขื่อนดินและเขื่อนแบบอื่นอีกมากมาย
ในฐานะเจ้าของคอลัมน์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในนิตยสารสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ที่เขียนมานานเกินยี่สิบปี มีคนถามผมว่างานนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของพระองค์ท่านชิ้นไหนที่ผมประทับใจที่สุด ตอบทันทีว่าคือเขื่อนปิดปากถ้ำหินปูนเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำใต้ดินซึ่งไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงกันสักเท่าไหร่ นักวิชาการด้านชลประทานในประเทศรวมทั้งข้าราชการด้านนี้เคยคัดค้านกันด้วยซ้ำ ทว่าเมื่อลองทำตามแนวทางพระราชดำริกลับประสบผลสำเร็จชนิดหักปากกาเซียน
เมื่อครั้งเข้าอบรมในโครงการภูมิพลังแผ่นดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินเรื่องราวของเขื่อนปิดปากถ้ำหินปูนที่ว่านี้ หลังจากนั้นยังได้ฟังเพิ่มเติมอีกสองสามครั้ง คำบอกเล่ามาจากคนหลายคนโดยหนึ่งในนั้นคือคุณลลิต ถนอมสิงห์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา เล่าให้ฟังว่างานนี้ในหลวงทรงกำหนดแนวพระราชดำริไว้นานกว่า 30 ปีแล้ว โดยทรงแนะนำให้ทางกรมชลประทานทำเขื่อนปิดปากถ้ำหินปูนบนภูเขาซึ่งสามารถทำได้หลายที่
แนวพระราชดำรินี้ทรงนำเสนอมานานทว่าข้าราชการยังไม่คลายกังวลเนื่องจากถ้ำหินปูนใต้ดินเป็นรูพรุนทำให้กักเก็บน้ำที่ไหลผ่านออกมาจากตาน้ำได้ยากหากทำเขื่อนน้ำคงซึมหายลงใต้ดินไปหมด อย่างไรก็ตาม เมื่อทรงยืนยันนานนับสิบปีในที่สุดข้าราชการยอมรับสนองตามพระราชประสงค์นั่นคือสร้างเขื่อนปิดปากถ้ำหินปูนขึ้น และเป็นอย่างที่คาดคือเขื่อนไม่สามารถกักน้ำให้มีระดับสูงขึ้นได้ น้ำที่ไหลออกมาจากตาน้ำในถ้ำเมื่อถูกเขื่อนกั้นไว้ต่างซึมหายไปมาก
สิ่งที่ข้าราชการและนักวิชาการไม่ทันคิดคือน้ำที่ไหลซึมลงใต้ดินนั้นเป็นเสมือนการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ขึ้นใต้ดินที่แต่เดิมไม่เคยมี ชาวบ้านพื้นราบรอบภูเขาที่คุ้นเคยกับความแห้งแล้งไม่สามารถทำเกษตรกรรมได้เนื่องจากน้ำไหลลงสู่พื้นราบด้านล่างไปหมด นับตั้งแต่มีเขื่อนปิดปากถ้ำหินปูนขึ้น พื้นดินรอบภูเขาเปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ สามารถทำเกษตรกรรมหลายชนิด สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านรอบพื้นที่ เรื่องราวอย่างนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวิถีชีวิตของชาวบ้านอย่างมากทว่าไม่เป็นที่รับรู้กันสักเท่าไหร่
อาจารย์ผู้เล่าเล่าให้ฟังว่านักวิชาการด้านชลประทานที่เคยคัดค้านแนวพระราชดำริเคยนำเรื่องนี้ไปปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านชลประทานชาวต่างชาติหลายคน หลังจากได้เห็นรายละเอียดของโครงการตามพระราชดำริโครงการนี้แล้ว นักวิชาการต่างชาติที่ว่านั้นต่างแสดงความเห็นมาว่าแนวคิดเช่นนี้จะเป็นของใครก็แล้วแต่ บอกได้อย่างเดียวว่าเจ้าของความคิดนั้นต้องเป็นอัจฉริยะที่คิดต่างจากทฤษฎีทางชลประทานทั่วไป ข้าราชการผู้นำเรื่องนี้ไปปรึกษาตอบสั้นๆว่าผู้ที่คิดโครงการที่ว่านั้นคือ “My King” พวกเราจึงภูมิใจเหลือเกินกับพระองค์ท่าน
จึงสมแล้วที่ พ.ศ. 2543 คณะรัฐมนตรีพร้อมใจถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าพระปรมินทร์มหาภูมิพลอดุลยเดชให้ทรงดำรงฐานะ “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย” โดยกำหนดให้วันที่ 19 ต.ค. ซึ่งเป็นวันที่พระองค์ทรงอำนวยการสาธิตฝนหลวงครั้งแรกให้เป็น “วันเทคโนโลยีไทย”