แซมซู แยะแยง แปลและเรียบเรียง
การประท้วงครั้งใหญ่ของชาวมุสลิมในอินโดนีเซียที่มีขึ้นกลางกรุงจาการ์ตาเมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน 59 ที่ผ่านมาโดยจุดประสงค์หลักของกลุ่มผู้ชุมนุมในครั้งนี้คือเรียกร้องให้ทางการอินโดนีเซียเร่งรัดดำเนินคดีกับผู้ว่าจาการ์ตานายบาซูกีจาฮาจา ปูรนามา อาฮ๊อก (Basuki Tjahaja Purnama Alias Ahok) หรือที่ชาวอินโดนีเซียเรียกชื่อกันติดปากว่า Ahok ผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา ผู้มีเชื้อสายจีนนับถือศาสนาคริสต์ ในฐานพูดจาดูหมิ่นพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน
ชนวนเหตุของการชุมนุมใหญ่ในครั้งนี้เกิดจากคำกล่าวของอาฮ๊อกเพียงไม่กี่คำที่เกิดขึ้นในวันที่ 27 กันยายน 59 ระหว่างที่เขาและคณะเดินทางไปพบปะกับประชาชนตามภาระกิจปกติที่ชุมชน Pulau seribu ในกรุงจาการ์ตา โดยในระหว่างการพูดคุยเขาได้เอ่ยถึงการที่มีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของตนพยายามนำคำสอนบทหนึ่งของอัลกุรอาน
นั่นคือ ซูเราะฮ์ อัล-มาอีดะฮฺ อายะฮฺ ที่ 51 ที่มีใจความเกี่ยวข้องกับการเลือกผู้นำของชาวมุสลิม เขาอ้างว่าฝั่งตรงข้ามใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมาหลอกชาวมุสลิมไม่ให้เลือกตนมาเป็นผู้นำ จากนั้นเพียงไม่นานก็ได้มีผู้เผยแพร่คลิปวีดีโอผ่านทางเว็บไซต์ Youtube และคลิปดังกล่าวก็ถูกเผยแพร่ต่อๆกันทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบต่อคำพูดของอาฮ๊อกอย่างดุเด็ดเผ็ดมันว่าอาฮ๊อกดูหมิ่นศาสนาอิสลาม
ต่อมาความไม่พอใจต่อคำกล่าวของอาฮ๊อกเริ่มบานปลายมากขึ้น จนตัวแทนจากองค์กรอิสลามใหญ่ๆในอินโดนีเซียหลายองค์กรต่างทยอยเข้าแจ้งความต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางอินโดนีเซีย เช่น แนวร่วมปกป้องอิสลาม(Front Pembela Islam) เยาวชนมูฮัมมาดียะฮฺ(Pemuda Muhamadiah) คณะกรรมการอิสลามอินโดนีเซียประจำจังหวัดสุมาตราใต้(Majlis Ulama Indonesia Sumatera Selatan) ให้เอาผิดกับอาฮ๊อกในฐานดูหมิ่นศาสนาอิสลาม
โดยเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอินโดนีเซียที่ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอันเข้าข่ายดูหมิ่นคำสอนของทุกศาสนาที่ทางการอินโดนีเซียให้การรับรองตามกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 156a (BAB V KEJAHATAN TERHADAP KETERTIBAN UMUM Pasal 156a) ที่มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้นับถือศาสนาต่างๆในอินโดนีเซียและยังรวมถึงการคุ้มครองกลุ่มผู้ที่ไม่นับถือศาสนาด้วย โดยกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี
องค์กรแนวร่วมปกป้องอิสลามหรือ FPI (Front Pembela Islam) เริ่มมีการรณรงค์และเชิญชวนให้ชาวมุสลิมออกมาร่วมชุมนุมประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการกล่าวถึงคัมภีร์อัลกุรอานของผู้ว่าจาการ์ตา โดยการชุมนุมครั้งแรกมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 14 ต.ค. 59 โดยผู้นุมหลายพันคนรวมตัวกันที่มัสยิดอิสติคลัล (Istiqlal) ซึ่งมีสถาณะเป็นมัสยิดกลางของอินโดนีเซีย เพื่อร่วมละหมาดวันศุกร์ร่วมกัน หลังละหมาดวันศุกร์กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มเคลื่อนขบวนไปยังศาลาว่าการกรุงจาการ์ตา (Balai Kota DKI Jakarta) ตลอดการชุมนุมมีการปราศัยอย่างดุเด็ดเผ็ดมันอย่างต่อเนื่องแต่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่มีความรุนแรงใดๆเกิดขึ้น การชุมนุมดำเนินไปจนถึงช่วงเย็นผู้ชุมนุมจึงแยกย้ายกันกลับตามคำสั่งของแกนนำ
ต่อมาการชุมใหญ่มีขึ้นในวันศุกร์ที่ 4 พ.ย. 59 โดยผู้ชุมนุมได้ใช้มัสยิดอิสติคลัล ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับการชุมนุมในครั้งที่ผ่านมา การชุมนุมครั้งนี้มีองค์กร FPI เป็นแกนนำหลักและมีองค์กรศาสนาอิสลามอื่นๆสมทบอีกหลายองค์กร ผู้ชุมนุมเริ่มทยอยเดินทางมารวมตัวกันตั้งแต่เช้าจนถึงเวลาเที่ยงผู้ชุมนุมได้มีการละหมาดวันศุกร์ร่วมกัน
หลังละหมาดวันศุกร์ผู้ชุมนุมที่มีจำนวนนับหมื่นคนสื่อบางสำนักรายงานว่าตัวเลขอาจถึงแสนคนเริ่มเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบประธานาธิบดีเพื่อต้องการยื่นข้อเรียกร้องต่อประธานาธิบดีโจโกวี ให้เร่งสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีกรณีผู้ว่าจาการ์ตาดูหมิ่นศาสนาอิสลามให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยตลอดระยะการเดินทางสู่ทำเนียบรัฐบาล แกนนำผู้ชุมนุมได้สลับกันปราศัยอย่างดุเด็ดเผ็ดมันเพื่อปลุกเร้าอารมณ์ผู้ชุมนุม เมื่อเดินทางไปถึงทำเนียบประธานาธิบดีกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องขอพบกับประธานาธิบดีโจโกวี แต่ประธานาธิบดีไม่ใด้อยู่ที่ทำเนียบเนื่องจากติดภารกิจลงพื้นที่เพื่อตรวจราชการ
ต่อมาตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 4 คน ได้รับอนุญาตให้เข้าพบกับ รองประธานาธิบดียุซุฟ กัลลา และข้าราชการระดับสูงของทางการอินโดนีเซียอีกจำนวนหนึ่ง การพูดคุยหารือดำเนินไปกว่า 1 ชั่วโมง โดยรองประธานาธิบดีรับปากจะเร่งคลี่คลายคดีอย่างยุติธรรมกับทุกฝ่ายแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องให้ความไว้วางใจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายและไม่มีการปกป้องหรือช่วยเหลือผู้ว่าจาการ์ตาเด็ดขาด โดยรองประธานาธิบดีกล่าวทิ้งท้ายกับตัวแทนผู้ชุมนุมว่าขอเวลาคลี่คลายเรื่องที่เกิดขึ้นภายในสองสัปดาห์
จากนั้นเวลา 6 โมงเย็น แกนนำผู้ชุมนุมได้สั่งให้มีการยกเลิกการชุมนุมและแยกย้ายกันกลับตามคำเรียกร้องของหน่วยงานความมั่นคง จากนั้นผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เริ่มทยอยกันออกจากพื้นที่รอบบริเวณทำเนียบประธานาธิบดีอย่างสงบ แต่ก็ยังคงหลงเหลือผู้ชุมนุมบางส่วนที่ยังปักหลักรวมตัวกันในบริเวณดังกล่าวเพราะยังไม่พอใจกับผลการพบกับรองประธานาธิบดียูซูฟ กัลลา
จนเวลาล่วงเลยมาถึง 1 ทุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการประกาศแจ้งเตือนให้ผู้ชุมนุมบางส่วนที่ยังคงหลงเหลืออยู่เดินทางกลับอย่างสงบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง แต่ผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ปฏิบัติตามและยังมีการปะทะคารมกันอย่างต่อเนื่องตลอดจนมีผู้ชุมนุมบางส่วนขว้างปาขวดน้ำและก้อนหินใส่กลุ่มตำรวจที่ยืนรักษาความปลอดภัยในบริเวณรอบๆที่ชุมนุมเหตุการณ์เริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ตำรวจปราบจลาจลเริ่มมีการยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายการชุมนุมแต่การจลาจลทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
การปะทะของตำรวจกับผู้ชุมนุมดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รถยนต์ตำรวจถูกทำลายหลายสิบคันในจำนวนนี้มี 2 คันที่ถูกจุดไฟเผาไหม้เกรียมและมีผู้บาดเจ็บทั้งฝ่ายตำรวจและผู้ชุมนุมรวมกว่าร้อยคนในจำนวนนี้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 คน ผู้บาดเจ็บถูกลำเลียงไปยังโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บจากการใช้แก๊สน้ำตาของตำรวจปราบจลาจล
ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 59 ประธานาธิบดีโจโกวี จัดแถลงข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ.ทำเนียบรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยมีเนื้อหาดังนี้
“ อัสสลามูอาลัยกุมวาเราะฮ์มาตุลลอฮ์วาบารอกาตุฮ์
เราให้คุณค่ากับการแสดงออกด้วยการชุมนุมประท้วงที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสันติ เราขอขอบคุณเหล่าผู้นำศาสนาที่ร่วมกันดูแลการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสันติจนถึงช่วงหัวค่ำ แต่เราเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนค่ำทั้งๆที่การชุมนุมสมควรจะสลายไปด้วยความเรียบร้อย แต่ก็เกิดการปะทะกันจนได้เราพบว่ามีกลุ่มการเมืองบางฝ่ายที่อยู่เบื้องหลังความรุนแรงในครั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองบางอย่าง
ผมได้สั่งการให้รองประธานาธิบดีพบปะกับตัวแทนผู้ชุมนุม รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานทางการเมืองกฎหมายและความมั่นคง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเลขาธิการของรัฐ รัฐมาตรีว่าการกระทรวงกิจการศาสนา รัฐมนตรีประจำสำนักนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้บัญชาการตำรวจ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในระหว่างการพบปะได้มีการพูดถึงกระบวนการทางกฎหมายที่จะนำมาพิจารณาในกรณีของบาซูกี จาฮาจา ปุรนามา จะดำเนินการอย่างจริงจัง รวดเร็วและโปร่งใส
ดังนั้นผมจึงขอให้ผู้ชุมนุมทุกคนเดินทางกลับภูมิลำเนาอย่างเรียบร้อย ในเรื่องการคลี่คลายสิ่งที่เกิดขึ้นปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเป็นธรรมที่สุด
สุดท้ายนี้ผมของแสดงความซาบซึ้งในความตั้งใจทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งของหน่วยความมั่นคงในการดูแลสถานการณ์ให้ไม่บานปลายไปกว่านี้ ผมหวังว่าพวกเราจะอยู่ในความสงบและช่วยกันดูแลสถานการณ์ให้กลับมาสงบสันติเหมือนเดิม
ขอบคุณครับ
วัสสลามูอาลัยกุมวาเราะฮ์มาตุลลอฮ์วาบารอกาตุฮ์"