Skip to main content

งานแสดงภาพถ่าย ชมภาพยนตร์สารคดี และเสวนาชีวิตชาวโรฮิงยาในประเทศไทย

 

เรียบเรียงโดย : มุลยานา ดะอุแม,IPS

 

14925706_1338172736194008_237991440605136239_n
        เมื่อวันพุธ ที่ 9 พฤศจิกายน 2559 เวลา 13.00 – 17.00 น. ณ ห้อง LRC1 ชั้น 8 อาคารศูนย์ทรัพยากร การเรียนรู้ (LRC1) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่  เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (CRSP) ร่วมกับ Asylum Access Thailand , ศูนย์สังคมพัฒนา มูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี , สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี , Mr. Greg Constantine ช่างภาพอิสระ, สถานทูตแคนาดา และ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดกิจกรรม “งานแสดงภาพถ่าย ชมภาพยนตร์สารคดี และเสวนาชีวิตชาวโรฮิงยาในประเทศไทย” ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักศึกษา บุคลากรมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักกฎหมาย ช่างภาพ ผู้สื่อข่าว กลุ่มสงขลาฟอรั่ม และบุคคลทั่วไป

             ภายในงานมีกิจกรรมฉายภาพยนตร์สารคดี เรื่อง “Michael’s” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ 19 th Thai Short Film & Video Festival 2015 , การถ่ายทอดประสบการณ์ในการเดินทางถ่ายภาพชาวโรฮิงยา“Exiled to Nowhere” โดย Mr. Greg Constantine และการเสวนาเรื่อง “ประสบการณ์ความร่วมมือในการช่วยเหลือแก่ผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮิงยาและอนาคต” โดย รศ.ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา, น.ส.ชมฤดี นาทะศิริ หัวหน้าบ้านพักและครอบครัว จังหวัดสงขลา , นายอิสมาแอน หมัดอาดำ เครือข่ายช่วยเหลือชาวโรฮิงยา จังหวัดสงขลา, น.ส. พุทธณี กางกั้น กลุ่มฟอติฟายไรท์ และ พ.ต.ท.ธีระ วงศ์ราช สารวัตรสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา โดย Mr. Shawn Friele เลขานุการโทและรองกงสุล, สถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทยเป็นผู้สนับสนุนงานในครั้งนี้มองว่า “สังคมที่มีความหลากหลายไม่ใช่สังคมที่อ่อนแอ แต่เป็นสังคมที่เข้มแข็ง โดยเขาเห็นว่าในสังคมหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องมีเพียงหนึ่งชาติพันธุ์ที่จะทำให้สังคมนั้นเข้มแข็ง”

DSC01959

15002521_1338934922784456_5010169081195051671_o

 

การถ่ายทอดประสบการณ์ในการเดินทางถ่ายภาพชาวโรฮิงยา “Exiled to Nowhere”
โดย Mr. Greg Constantine ช่างภาพอิสระ

Mr. Greg Constantine ช่างภาพอิสระชาวอเมริกา ได้เล่าถึงความตั้งใจที่ได้จัดงานนี้ขึ้นมา ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อเป็นการนำเสนอเรื่องราวของบุคคลไร้รัฐและสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนเหล่านี้ ว่าเหตุใดเขาถึงได้อพยพออกจากบ้านเมืองของตัวเองมายังประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย” การเดินทางถ่ายภาพกลุ่มผู้ไร้รัฐจากทั่วโลกของเขานั้น เป็นโปรเจคที่มีชื่อว่า “Exiled to Nowhere” โดยเขาเดินทางถ่ายภาพกลุ่มผู้ไร้รัฐในประเทศต่างๆ เช่น ประเทศศรีลังกา บังกลาเทศ พม่า เลบานอน มาเลเซีย อินโดนีเซีย คูเวต เคนย่า ไอเวอรี่โคด อีตาลี ยูเครน โปแลนด์ รวมถึงประเทศไทย  นอกจากนี้ เขาได้อธิบายว่า “ผู้ไร้รัฐ หรือ คนไร้รัฐ” คือบุคคลที่ไม่ได้รับการรับรองจากประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยมีปัจจัยและสาเหตุที่หลากหลายที่ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการรับรองจากประเทศของตน ข้อมูลจากสหประชาชาติได้ระบุถึงจำนวนของคนไร้รัฐว่า มีจำนวนมากถึง 10,000,000 คนจากทั่วโลก ในประเทศบังกลาเทศ มีมากกว่า 300,000 คน ในขณะที่เนปาลมีมากถึง 1,000,000 ล้านคน และมีเด็กไร้รัฐประมาณ 30,000-50,000 คน ในประเทศมาเลเซีย รวมถึงศรีลังกา เลบานอน หรือ แถบตะวันออกกลาง และยังมีประเทศจำนวน 27 ประเทศในโลกที่ผู้หญิงไม่ได้รับสิทธิในการถ่ายทอดสัญชาติตัวเองไปสู่ลูก เช่น ในประเทศ คูเวต เคนย่า ไอเวอรี่โคด อีตาลี โปแลนด์ เซอร์เบีย เป็นต้น” ผู้ไร้รัฐส่วนใหญ่ไม่เคยได้รับสิทธิออกจากพื้นที่ของตัวเอง ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่มีบ้าน แต่ที่ที่พวกเขาเรียกว่าบ้าน กลับปฏิเสธการมีอยู่ของเขา สาเหตุส่วนใหญ่ คือ การเลือกปฏิบัติที่ทำให้เขาสูญเสียความเป็นคนของรัฐ

และด้วยเรื่องราวเหล่านี้ ทำให้ Greg สนใจที่ทำงานในเรื่องบุคคลไร้รัฐมาเป็นเวลา 10 กว่าปี ภาพที่นำมาแสดงในวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นภาพชาวโรฮิงยาในพม่า บังกลาเทศ และในประเทศไทย ซึ่งชาวโรฮิงยา เป็นกลุ่มชนชาวมุสลิมขนาดใหญ่ ที่มีถิ่นฐานอยู่ร่วมกับชาวพุทธในบริเวณรัฐยะไข่หรืออารากันในประเทศเมียนมาร์ ประมาณ 1,000,000 คน โดยที่ชาวโรฮิงยาอาศัยอยู่ในพม่ามาหลายชั่วอายุคน แต่รัฐบาลพม่าไม่รับรองในการเป็นพลเมืองของประเทศ เขาได้นำเสนอภาพถ่ายเรื่องราวสถานการณ์ของชาวโรฮิงยาที่ได้รับการปฏิบัติเสมือนเป็นกลุ่มชนชั้นสองของประเทศ ที่มีผลมาจากการที่ไม่ได้รับสถานะการเป็นพลเมืองของประเทศ ทำให้ขาดโอกาสในการได้รับสวัสดิการต่างๆจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล ตลอดจนโอกาสในการทำงาน ส่งผลให้ชาวโรฮิงยาที่อยู่ในวัยทำงานต้องอพยพออกไปหางานทำในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย นอกจากนั้นชาวโรฮิงยา ยังถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศพม่าอีกด้วย Greg ยกตัวอย่างให้นักศึกษาฟังว่า “หากใครต้องการเดินทางจากสงขลาไปยังกรุงเทพฯ ด้วยเครื่องบิน แน่นอนว่าหลักฐานที่ต้องมีติดตัวคือ บัตรประชาชนเพื่อแสดงตัวตน แต่คนไร้รัฐจะไม่มีเอกสารที่แสดงถึงความเป็นบุคคลเลย ไม่มีแม้กระทั่งใบเกิดหรือแม้กระทั่งอิสรภาพ ยกตัวอย่างกรณีของเยาวชนโรฮิงยาเมื่อต้องการแต่งงานจะต้องขออนุญาตจากทางการถึงจะแต่งงานได้ ซึ่งกระบวนการที่กว่าจะแต่งงานได้นั้นใช้เวลายาวนานมาก นี่คือเหตุผลบางส่วนที่ทำให้เยาวชนหลายคนหนีไปอยู่บังกลาเทศ”

Greg ได้ฉายสไลด์รูปถ่ายที่เป็นภาพศพของเด็กชายชาวโรฮิงยาที่ถูกห่อหุ้มด้วยผ้าสีขาว ซึ่งเสียชีวิตในขณะที่อพยพอยู่ในบังกลาเทศ และเขาได้มีโอกาสพูดกับพ่อของเด็กในรูป พ่อของเด็กเล่าว่า “ลูกของเขาเป็นเด็กร่าเริงและฉลาด แต่เขาเกิดที่พม่า ที่ที่เขาไม่เคยได้รับสถานะอะไรเลยและกลับต้องมาตายที่บังคลาเทศ ราวกับว่าเด็กคนนี้ไม่เคยเกิดมาในโลกใบนี้มาก่อนเลยจริงๆ” 

นอกจากนี้ชาวโรฮิงยา เป็นกลุ่มที่ต้องทำงานหนักมาก เหตุเพราะพวกเขาไม่มีทางเลือกจึงต้องยอมถูกใช้เป็นแรงงานเพื่อที่จะหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว ในความคิดของ Greg เขามองว่า “คนไร้รัฐ มีความมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตอยู่และมีทางเลือกที่ไม่ใช่ทางเลือกของคนทั่วไป การที่พวกเขาออกจากบ้านเกิดเมืองนอน นั้นก็เป็นการแสวงหาความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิต แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะแสดงศักยภาพที่จะทำอะไรเพื่อชุมชนหรือสังคมของเขาได้เลย”

รูปถ่ายของเด็กชายที่อาศัยอยู่ในกระท่อมของผู้ลี้ภัย ที่มีสภาพเก่าๆ และมีขนาดเล็กๆ ในทางภาคใต้ของบังคลาเทศ ซึ่งพ่อของเขาถูกทางการบังคลาเทศจับตัวไปคุมขัง  และมีแม่ที่ต้องทำทุกอย่างเพื่อเลี้ยงดูลูกๆ  Greg ได้เข้าไปนั่งในกระท่อมเพื่อพูดคุยกับแม่ของเด็กชายประมาณหนึ่งชั่วโมง   ในช่วงนั้น เป็นเวลาหกโมงเช้า  พระอาทิตย์สาดแสงลอดผ่านเข้ามาทางบานประตูซี่ไม่ไผเป็นเส้นๆ  และเขาก็เห็นเด็กชายคนนั้น พยายามเอามือไปจับแสงที่ลอดเข้ามา   ในวินาทีนั้น สำหรับเขาแล้วมันคือภาพที่แสดงให้เห็นถึง การเเอื้อมมือจับไปยังอนาคต  มันเปรียบเสมือนความหวัง ความฝันที่จะสัมผัสมันมาให้ได้  แต่ว่า…สำหรับเด็กไร้รัฐแล้ว บานประตูไม้ไผ่ที่เป็นซี่ๆ ก็เปรียบได้เหมือนกับตัวขวางกั้นที่จะนำเขา ไปสู่อิสรภาพอย่างแท้จริง

รูปถ่ายรอยมือที่ปรากฏอยู่ตรงผนังโรงเรียนของกลุ่มคนไร้รัฐชาวเคนย่า ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเล็กๆ มีผู้อาศัยประมาณห้าพันคน  สถานการณ์มีความคล้ายคลึงกับชาวโรฮิงยาตรงที่  พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มาหลายชั่วอายุคน  แต่รัฐบาลเคนย่ากลับมองว่า พวกเขาไม่ใช่คนเคนย่า แต่เป็นคนโซมาเลีย  ซึ่งทำให้ชุมชนนี้ต้องถูกถอนสันชาติเคนย่าไป  และยังถูกรัฐบาลสั่งให้หยุดการเรียนการสอน  พร้อมทั้งสั่งห้ามไม่ให้สร้างโรงเรียน อีกด้วย ทำให้เด็กๆกลุ่มนี้ ไม่มีแม้แต่โรงเรียนที่จะเรียนหนังสือ พวกเขาจึงเอามือจุ่มสี และติดที่กำแพงโรงเรียน อย่างที่ปรากฏในรูปถ่าย ซึ่งพวกเขาก็เหมือนกับเด็กโรฮิงยา หรือเด็กไร้รัฐในประเทศอื่นๆ

 

ภาพที่ Greg ชอบที่สุด คือ รูปถ่ายของเด็กชายที่อาศัยอยู่ในกระท่อมเล็กๆของกลุ่มผู้ลี้ภัย มีสภาพเก่าๆ อยู่ทางใต้ของบังคลาเทศ ซึ่งพ่อของเขาถูกทางการบังคลาเทศจับตัวไปคุมขัง มีเพียงแต่แม่ที่ต้องทำทุกอย่างเพื่อเลี้ยงดูลูกๆ Greg ได้เข้าไปนั่งในกระท่อมลี้ภัยเพื่อพูดคุยกับแม่ของเด็กชาย  ในช่วงนั้นเป็นเวลาหกโมงเช้า พระอาทิตย์สาดแสงลอดผ่านเข้ามาทางบานประตูซี่ไม่ไผ่เป็นเส้นๆ และเขาก็เห็นเด็กชายคนนั้น พยายามเอามือไปจับแสง สำหรับGreg แล้ว “มันคือภาพที่แสดงให้เห็นถึงการเอื้อมมือไปยังอนาคต แสงเปรียบเสมือนกับความหวัง และความฝันที่จะสัมผัสมันมาให้ได้ แต่ว่า…สำหรับเด็กไร้รัฐแล้ว บานประตูไม้ไผ่ที่เป็นซี่ๆ ก็เปรียบได้เหมือนกับสิ่งที่ขวางกั้นเขาออกจากอิสรภาพที่แท้จริง”

และอีกภาพที่น่าสนใจ คือ รูปถ่ายรอยมือที่ปรากฏอยู่บนผนังโรงเรียนของกลุ่มคนไร้รัฐชาวเคนย่าที่อาศัยอยู่ในชุมชนเล็กๆ มีประชากรประมาณ 5,000 คน  สิ่งที่คล้ายคลึงกับชาวโรฮิงยา คือ พวกเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มาหลายชั่วอายุคนแต่รัฐบาลเคนย่ากลับมองว่าพวกเขาไม่ใช่คนเคนย่าแต่เป็นคนโซมาเลีย  ซึ่งทำให้ชุมชนนี้ต้องถูกถอนสันชาติเคนย่าไป  และถูกรัฐบาลสั่งให้หยุดการเรียนการสอนพร้อมทั้งสั่งห้ามไม่ให้สร้างโรงเรียนอีกด้วย ทำให้เด็กๆกลุ่มนี้ไม่มีแม้แต่โรงเรียนที่จะเรียนหนังสือ พวกเขาจึงเอามือจุ่มสีและประทับไปยังผนังโรงเรียนอย่างที่ปรากฏอยู่ในรูปถ่าย พวกเขาเองก็เหมือนกับเด็กโรฮิงยา หรือเด็กไร้รัฐอีกหลายๆประเทศในโลก และนี้ก็คือสิ่งที่ Mr. Greg Constantine ช่างภาพอิสระชาวอเมริกา พยายามที่จะนำเสนอภาพเหล่านี้เพื่อให้ทุกคนได้เห็นและรับรู้ถึงความเป็นไปที่เกิดขึ้นกับบุคคลไร้รัฐในโลกใบนี้

DSC01908

การเสวนาเรื่อง
“ประสบการณ์ความร่วมมือในการช่วยเหลือแก่ผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮิงยาและอนาคต

*****************************************

สถานการณ์ของชาวโรฮิงยาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

คุณพุทธณี กางกั้น กลุ่มฟอติฟายไรท์  กล่าวว่า  การที่กลุ่มโรฮิงยาเข้ามาในประเทศไทยด้วยกระบวนการค้ามนุษย์ เนื่องจากชาวโรฮิงยาป็นคนไร้รัฐ ทำให้ไม่สามารถเข้ามายังประเทศอื่นๆได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น กลุ่มกระบวนการค้ามนุษย์จึงเป็นวงจรหนึ่ง ที่นำพวกเขาไปยังประเทศอื่นได้ด้วยการแลกกับค่าใช้จ่ายราว 60,000 -100,000 บาท เพื่อเป็นค่าน้ำมัน ค่าอาหาร ค่าเรือ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ คำถามคือ ชาวโรฮิงยาเป็นกลุ่มคนจน ไม่มีสิทธิในการทำงาน แล้วพวกเขาเอาเงินมาจากไหน? แน่นอนว่าจะต้องมีคนมาจ่ายเงินให้เขา แต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั้นก็ย่อมผ่านกระบวนการที่ทำเป็นเครือข่าย และต้องได้กำไรจากกระบวนการเหล่านี้   ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในค่ายหรือแคมป์บนเขาแก้วตำบลปาดังเบซาร์  อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา คือสถานที่ที่นายหน้าหรือกระบวนการกักตัวชาวโรฮิงยาไว้ก่อนที่จะส่งต่อ ณ ที่แห่งนั้นก็พบหลุมฝังศพของชาวโรฮิงยาหลายจุด และนี้ก็คือกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้น”

คุณพุทธณี  เล่าต่อว่า “เมื่อพูดถึงโรฮิงยาที่อยู่ในบริเวณประเทศไทย  ยังมีชาวโรฮิงยาบางส่วนที่โชคดีที่ได้มีโอกาสย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศโลกที่หนึ่งประเทศที่สาม แต่ยังมีชาวโรฮิงยาจำนวนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ ประเทศมาเลเซีย และเมืองอาเจะห์  อินโดนีเซีย  แต่เนื่องจากเขาเป็นกลุ่มที่เป็นบุคคลผิดกฎหมาย  เมื่อตกอยู่ในกระบวนการค้ามนุษย์ รัฐบาลก็พยายามช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบ้านพักเด็กหรือฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ก็ต้องยอมรับว่าสำหรับประเทศไทยแล้วประเด็นเรื่องความมั่นคงเป็นเรื่องที่รัฐบาลก็ต้องให้ความสำคัญ ดังนั้น การปฏิบัติต่อชาวโรฮิงยาของแต่ละประเทศจึงไม่เหมือนกัน  ในประเทศมาเลเซีย ชาวโรฮิงยาสามารถขอสิทธิการเป็นผู้ลี้ภัยได้ และมีสิทธิที่ได้รับการอนุญาตจาก UNHCR และรัฐบาลมาเลเซีย ในเรื่องการทำงานในประเทศมาเลเซียได้ในช่วงเวลาหนึ่ง  หรือในประเทศอินโดนีเซีย พวกเขาก็ได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มภาคประชาสังคม  แม้ว่ารัฐบาลอินโดนีเซีย ยังไม่มีนโยบายในเรื่องบ้านหรือที่พักสำหรับชาวโรฮิงยา และในส่วนของประเทศไทยเอง ก็มีหน่วยงานรัฐพยายามช่วยเหลือ  แต่ไทยก็ไม่มีพลังมากพอที่จะสุ่มเสี่ยงให้พวกเขาอยู่ได้อย่างอิสระ  เพราะฉะนั้น เด็กและผู้หญิงส่วนหนึ่งก็จะมาอยู่ที่บ้านพักสถานที่ที่ทางกระทรวงพัฒนาสังคมเป็นผู้ดูแล บางส่วนก็อยู่ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง”

“ทางฝ่ายของกลุ่มฟอติฟายไรท์ ก็ได้สัญญานที่ดีจากหลายฝ่ายในประเทศที่พยายามหาทางออกให้กับกลุ่มโรฮิงยา ซึ่งเราอาจจะต้องมีหนทางในการดำเนินงานต่อไป หากเกิดกรณีที่ชาวโรฮิงยาไม่สามารถเดินทางไปยังประเทศที่สาม หรือไม่สามารถกลับประเทศของเขาได้ ชีวิตของพวกเขาจะต้องอยู่ในสถานกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตลอดไปหรือไม่ ซึ่งจะต้องหาคำตอบว่า เราจะมีทิศทางอย่างไรและจะรับมือกับปัญหาระยะยาวต่อไปอย่างไร” และนี้คือสถานการณ์ของชาวโรฮิงยาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

บทบาทของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองต่อการช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮิงยา

พ.ต.ท.ธีระ วงศ์ราช   สารวัตรสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา  กล่าวว่า “สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะดูแลในส่วนของคนต่างด้าว  ในทางกฏหมายคนต่างด้าว คือ บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่ประเทศจะต้องให้สิทธิพลเมืองของตนดีกว่าคนประเทศอื่น  หน้าที่ของรัฐคือจะต้องปกป้องคนในรัฐ  เพราะฉะนั้นหากมีบุคคลเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตก็จะมีความผิดทางกฏหมาย  ในกรณีของชาวโรฮิงยาที่ลักลอบเข้ามาก็ถือว่ามีความผิด หรือในอีกมิติหนึ่งพวกเขาก็เป็นผู้ที่หลบหนีภัยในถิ่นกำเนิดเพื่อมาหาที่พึ่งจากประเทศอื่น ๆ แต่ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น ยังมีประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงบังกลาเทศ ก็ปฏิเสธสิทธิที่จะให้โรฮิงยามาตั้งถิ่นฐานในประเทศ เพราะว่าเป็นภาระในส่วนของรัฐที่จะต้องไปรับผิดชอบทุกอย่าง

ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตม.ของประเทศไทย จะทำหน้าที่ที่เป็นทั้งตำรวจที่มีทั้งอำนาจจับกุม และเป็นตม.ที่มีอำนาจในการตรวจค้นตามกฎหมาย ตาม พรบ.ด้านการค้ามนุษย์และการค้าประเวณี  ซึ่งในบางประเทศจะทำหน้าที่แยกส่วนกัน ในกรณีเรื่องโรฮิงยานายกรัฐมนตรีของไทยก็ได้ประกาศให้ทุกฝ่ายให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่เท่าที่เราจะทำได้ และกรณีผู้นี้ก็ได้ถูกหยิบยกให้เป็นวาระแห่งชาติอีกด้วย ซึ่งทางตม.ก็ได้ช่วยเหลือในเรื่องของอาหาร แต่ทั้งนี้ก็ประสบปัญหาในเรื่องงบประมาณค่าใช้จ่าย สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช) ก็ต้องวิ่งเต้นหางบและดึงงบเร่งด่วนมาใช้ และนี้ก็เป็นเวลาประมาณ 2-3 ปีแล้วที่ชาวโรฮิงยากินข้าวอย่างนี้มาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาทางสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทยได้รับชาวโรฮิงยาจำนวน 18 คน ให้มีสิทธิไปตั้งถิ่นฐานในประเทศอเมริกา  เด็กสาวชาวโรฮิงยาคนหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งใน 18 คนที่เดินทางไปอเมริกาเล่าว่า
“ฉันไม่อยากมีชีวิตช่วงวัยสาวในห้องขัง ฉันไม่รู้ว่าอเมริกาดีกว่ามาเลเซียอย่างไร แต่ฉันก็ตัดสินใจไปอเมริกา” จากประโยคนี้ทำให้เห็นว่า ชีวิตเขาไม่มีทางเลือกมากนัก หากไม่ไปอเมริกา ฃีวิตเขาก็ต้องอยู่ในสถานที่แห่งนี้ต่อไป ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้ไปประเทศที่สามเมื่อไร และในส่วนของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็มีนโยบายประกันตัว ในกรณีที่มีบุคคลต้องการรับชาวโรฮิงยาไปดูแลที่บ้านก็สามารถประกันตัวได้โดยมีค่าประกันหัวละ 50,000 บาท

ปัจจุบันโรฮิงยาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ตม.สะเดา มีประมาณ 65 คน และเมื่อได้สอบถามและพุดคุยกับพวกเขาก็ทราบว่า จริง ๆ แล้วถ้าเลือกได้เขาไม่อยากอยู่ในประเทศไทย เพราะโดยพื้นฐานเขาเป็นคนมุสลิม และเข้มงวดเรื่องอาหารการกิน เขาจึงอยากไปอยู่กับพี่น้องมุสลิมอยู่ในที่ที่อาหารฮาลาลสามารถหากินได้ง่าย และเพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้น  มาเลเซียและอินโดนีเซียจึงเป็นประเทศที่อยู่ในตัวเลือกของพวกเขา  คนโรฮิงยาก็เหมือนคนภาคอีสานของไทยหลายคนที่ไปทำงานและแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย  ซึ่งในเมื่อประเทศที่เขาอยู่เกิดปัญหาและความขัดแย้ง จนทำให้บ้านที่เขาอยู่เกิดความวุ่นวาย มีการเผาบ้านเรือน เผามัสยิด มันจึงเป็นอะไรที่บีบคั้นเขามาก  และสิ่งนี้ก็คือแรงผลักดันที่ทำให้เขาต้องออกมาจากตรงนั้นเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

 

บทบาทของบ้านพักและครอบครัวในการช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮิงยา

          คุณชมฤดี นาทะศิริ  หัวหน้าบ้านพักและครอบครัว  อธิบายถึงภารกิจหลักของบ้านพักและครอบครัว ว่า เป็นหน่วยงานที่ให้ที่พักอาศัยชั่วคราวสำหรับผู้ที่ประสบปัญหาทางสังคมและจะรองรับผู้ที่เกิดเหตุตาม พรบ.คุ้มครองเด็ก พรบ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ กรณีที่มีผู้ประสบปัญหาเป็นผู้ใหญ่ก็จะส่งไปยังสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กรณีของการรับชาวโรฮิงยามาดูแลก็ให้การช่วยเหลือมาตั้งแต่เดือน มกราคม – ธันวาคม ปี 2556

ปัญหาและอุปสรรคที่พบ คือ  -ปัญหาด้านสถานที่และของใช้มีไม่เพียงพอ  เนื่องจากไม่เคยเจอเคสจำนวนมากมาก่อน จึงขาดแคลนในเรื่องสถานที่  ที่นอน ห้องน้ำ เสื่อ จานชาม วันแรกที่พวกเขามาก็ได้ยืมของใช้บางส่วนจากวัด หลังจากนั้นก็ได้รับการอนุเคราะห์ของใช้ประเภทผ้านวมจากศอ.บต. และขอความอนุเคราะห์ในเรื่องโต๊ะ เก้าอี้ จากสำนักงาน ตม.12   -ปัญหาด้านอาหาร เนื่องจากแม่ครัวเป็นคนไทยพุทธ พวกเขาจึงระแวงว่าจะมีหมูปะปน เลยแก้ปัญหาโดยการให้พวกเขาจัดเวรมาทำอาหารกันเอง   -ปัญหาด้านห้องน้ำที่มีไม่เพียงพอ ก็ได้รับการสนับสนุนรถสุขาจาก อบต. สงขลา และได้รับความอนุเคราะห์เรื่องแท่งน้ำจาก ศอ.บต. ในส่วนของเทศบาลก็ส่งน้ำมาให้   -ปัญหาเรื่องล่ามภาษา ช่วงแรกจะมีล่ามประจำมาช่วยสื่อสารภาษาโรฮิงยา แต่ภายหลังล่ามถูกเชิญออก เพราะทราบว่ามีส่วนกับกลุ่มกระบวนการค้ามนุษย์  จึงมีล่ามภาษาพม่ามาช่วย แต่ส่วนใหญ่กลุ่มเด็กๆ วัยรุ่นจะพูดภาษาพม่าเลยพอสื่อสารได้  เด็กบางคนก็สื่อสารภาษาอังกฤษได้ และสอนเรื่องระเบียบ และมรรยาทในการอยู่ร่วมกัน -ปัญหาความรุนแรงระหว่างกลุ่มชาวโรฮิงยา  จะมีการทะเลาะแบ่งพรรคแบ่งพวก เพราะพวกเขามาจากคนละหมู่บ้าน ถ้าเห็นอีกกลุ่มหนึ่งสนิทกับเจ้าหน้าที่เขาก้อจะระแวงกันภายใน และมีปากเสียงกัน จึงต้องส่งคนที่เป็นต้นเรื่องทะเลาะไปที่ ตม. เมื่อเห็นว่าเขาประพฤติตัวดีแล้ว ก็นำกลับมายังบ้านพัก  และปัญหาที่สำคัญอีกเรื่อง คือ มาตรการในการช่วยเหลือ ด้วยความที่ยังไม่มีมาตรการที่แน่ชัด จึงทำให้พวกเขาถามตลอดว่า “เขาต้องอยู่ที่นี่นานแค่ไหน ทางเราก็ไม่มีคำตอบให้เขา” และบ้านพักก็มีเจ้าหน้าที่หลักเพียง 2 คนที่ต้องดูแลชาวโรฮิงยา 120 คน และด้วยความที่บ้านพัก ไม่ใช่สถานที่กักขัง และมีช่องว่างที่ให้คนเข้า-ออกได้สะดวก จึงทำให้ชาวโรฮิงยาบางส่วนก็ทยอยกันหลบหนีไป  นอกจากนี้ ก็ยังได้รับการบริจาคจากชาวบ้าน จากหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องของอาหาร น้ำดื่ม ผลไม้ ขนม ชุดเสื้อผ้า และก็ให้บริการในเรื่องสถานที่ละหมาด คัมภีร์อัลกุรอ่าน และชุดแต่งกายของมุสลิม แต่ปัญหาที่พบในเรื่องของบริจาค คือมีจำนวนมากจนไม่มีที่เก็บไว้ จึงแก้ไขโดยการส่งของบริจาคประเภทเสื้อผ้าไปยังอบต. และบริจาคให้กับกลุ่มผู้ยากไร้ในชุมชนและกลุ่มอุยกูร์

ปัจจุบันทางบ้านพักเด็ก ก็ดูแลเด็กโรฮิงยาที่เหลือเพียงหนึ่งคนแล้ว เป็นเด็กที่รับเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และก็พบว่าเป็นเคสเดิมที่เคยรับมาเมื่อปี 2556 ในตอนนั้นเด็กชายมากับแม่และพี่สาว แต่ว่าในตอนนั้นเขาหนีไปมาเลเซีย จนไปเจอพ่อที่มาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันเขาก็ยังไม่มีมาตรการที่ให้เด็กได้อยู่กับพ่อแม่ หรือมาตรการที่จะให้เขาไปไหนต่อ จึงทำให้ค้างอยู่ตรงนี้ ทางบ้านพักก็ส่งเขาเรียนหนังสือที่โรงเรียนมุสลิม ตอนนี้อยู่ชั้นป.1 แล้ว แต่เด็กลืมภาษาของตัวเองจนไม่สามารถสื่อสารภาษาโรฮิงยากับพ่อของเขาแล้ว และถ้าในอนาคตมีเคสแบบนี้อีก ก็ไม่แน่ใจว่า บ้านพักเด็กจะรองรับได้อีกหรือไม่ ด้วยความที่มาตรการยังยืดเยื้อและยังไม่มีความชัดเจนในหลายๆเรื่อง  

 

บทบาทการช่วยเหลือของกลุ่มเครือข่ายช่วยเหลือชาวโรฮิงยา จังหวัดสงขลา

           คุณอิสมาแอน หมัดอาดำ  องค์กรสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม   สำนักจุฬาราชมนตรี    กล่าวว่า สิ่งที่ทางกลุ่มเครือข่ายช่วยเหลือชาวโรฮิงยาดำเนินการมาตั้งแต่ปี2556 มาจนปัจจุบัน คือ ภารกิจเพื่อมนุษยธรรม ในฐานะที่เป็นมนุษย์ต้องมีความเป็นธรรม เราจะเห็นกลุ่มภาคประชาสังคมหรือกลุ่มต่างๆที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยที่ไม่ได้มาจากการถูกบังคับ แต่มันเป็นพลังที่มาจากคนทั่วไป สิ่งนี้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ

เมื่อหลายปีที่แล้ว พบชาวโรฮิงยาอพยพประมาณ 600 กว่าคน มีสภาพผอมโซไม่ต่างอะไรจากสัตว์ ไม่มีอะไรกิน ไม่มีอาหาร ซึ่งในตอนนั้นก็พบว่ามีพี่น้องชาวไทยบางส่วนมีการถกเถียงกันอย่างรุนแรงในสื่อโซเชียลในประเด็นที่ผู้สื่อข่าวเสนอเรื่องราวของชาวโรฮิงยา มีคอมเม้นต่างๆที่ถามว่า ทำไมต้องเอาโรฮิงยาเข้ามา ทำไมต้องไปช่วยเหลือ ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนว่าเรามีคุณธรรมในจิตใจหรือไม่ “ในการให้ความช่วยเหลือครั้งนี้  เกิดการรวมตัวกันขององค์กรภาคศาสนา ไม่ว่าจะเป็นคริสต์ พุทธ อิสลาม แต่ละฝ่ายก็มาช่วยกัน โดยที่ไม่ได้ทะเลาะกัน  แต่คนที่ไม่ได้ช่วยกลับมาทะเลาะแทน”  เรามีการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรระดับชาติ  การทำงานลักษณะนี้จะต้องเข้าใจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ในช่วงแรกมีเครือข่ายที่ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจำนวนมาก แต่เมื่อปัญหาที่เกิดมีระยะเวลายาวนานเกินไป ก็มีเพียงบางเครือข่ายที่ยังช่วยเหลืออยู่ เพราะคนที่จะทำงานด้านนี้จะต้องสละเวลา สละทรัพย์สิน สละแรงกาย เพราะเวลาที่เกิดเหตุงานอื่นบางครั้งสามารถเลือกเวลาได้ แต่การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเราต้องช่วยทันทีเพราะมีชีวิตของคนเป็นเดิมพัน และที่ผ่านมาก็มีชาวโรฮิงยาเสียชีวิตจำนวนมาก เพราะขาดสารอาหาร มีอาการแขนขาลีบ ทางกลุ่มก็คุยกันว่าเราจะแก้ปัญหาอย่างไร ที่จะไม่ให้เขาตายต่อหน้าเรา สิ่งนี้เป็นเรื่องของความเป็นมนุษยธรรม ทางเครือข่ายก็สนับสนุนเรื่องอาหาร ยารักษาโรคและเครื่องอุปโภคบริโภค และส่งเสริมการทำงานของเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ จากที่เป็นเครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงยาระดับจังหวัดสงขลาก็เป็นเครือข่ายช่วยเหลือโรฮิงยาระดับประเทศ

มีสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจก็คือ ชาวโรฮิงยาจะมีวัฒนธรรม วิถีชีวิต และความเชื่อของเขา ปัญหาหรือเหตุการณ์ต่างๆที่ชาวโรฮิงยาประท้วง ยกตัวอย่างกรณีการประท้วงที่สุราษฎร์ธานี เพราะพวกเขาต้องการถือศีลอดสุนัตก่อนเดือนรอมดอน และต้องการทานอาหารก่อนเวลาถือศีลอด แต่โรงครัวไม่เปิดในช่วงตีสี่ เจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจจึงเกิดการประท้วง หรือแม้แต่การเรียกร้องเพื่อขอละหมาดอีดก็เช่นเดียวกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะเราขาดล่ามในการสื่อสารและไม่ทำความเข้าใจในวัฒนธรรมของเขา “เมื่อใดก็ตามที่มีการทำลายความเชื่อ เขาก็จะเกิดการต่อต้าน” ดังนั้น จึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจัดอบรมเรื่องการสร้างความเข้าใจในประเด็นวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเชื่อในศาสนา เพื่อที่จะทำความเข้าใจและแก้ไข้ปัญหาได้ถูกต้อง

โรฮิงยา คือบทเรียนที่สำคัญต่อประเทศไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.วิชัย กาญจนสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา กล่าวว่า  ประเด็นโรฮิงยา ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญโดยเฉพาะต่อประเทศไทย ในเรื่องของความเกลียดชังชาติและศาสนาที่นำไปสู่การใช้กำลังและความรุนแรง แต่ปัญหาที่ปะทุขึ้นมาในพม่ามีความซับซ้อน เพราะทางบังกลาเทศก็เห็นว่าโรฮิงยาไม่ใช่พลเมืองของตน และคนพม่าส่วนใหญ่ก็เป็นพม่าพุทธ และบ้านเราจำเป็นต้องเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน อย่าให้ความ“รักชาติ” ที่เน้นชาตินิยม เป็นปัญหาต่อชนกลุ่มน้อยของสังคม และอย่าให้ปัญหาเรื่องศาสนามาเป็นข้ออ้างเพื่อที่จะทำลายผู้อื่น บทเรียนของโรฮิงยา คือ ปัญหาของคนอพยพที่ไม่มีสิทธิความเป็นพลเมือง (Non-citizens) หากมองในมิติความมั่นคงจะรู้สึกว่าเป็นภัยของชาติ แต่หากมองในมิติศาสนธรรม ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ การแก้ปัญหา ควรเน้นที่ต้นเหตุของประเทศที่ก่อปัญหาดีกว่ามาแก้ที่ปลายเหตุ

DSC01854

14962785_1338172836193998_5024578976301009584_n

DSC01956

DSC01862

DSC01863

14925305_1338178792860069_5246959233857723475_n