วันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ สามนักสิทธิมนุษยชนจะเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.ปัตตานีเพื่อให้การเพิ่มเติม: กรณี กอ.รมน.ภาค 4 ดำเนินคดี เนื่องจากรายงานสถานการณ์การ ทรมานฯ ในจังหวัดชายแดนใต้
ใบแจ้งข่าว
เผยแพร่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2559
วันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ สามนักสิทธิมนุษยชนจะเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.ปัตตานีเพื่อให้การเพิ่มเติม
: กรณี กอ.รมน.ภาค 4 ดำเนินคดี เนื่องจากรายงานสถานการณ์การ ทรมานฯ ในจังหวัดชายแดนใต้
ตามที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าแจ้งความร้องทุกข์ต่ออพนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี พ.ต.ท.วิญญู เทียมราช ให้ดำเนินคดีนายสมชาย หอมลออ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ในความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ก โดยกล่าวหาว่านักปกป้องสิทธิทั้งสามคนได้ร่วมกันจัดพิมพ์และแจกจ่ายรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีฯ ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558 และนำเอกสารรายงานฯ ดังกล่าวเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้รับความเสียหาย
ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2559 เวลา 10.00 น. เวลาประมาณ 11.00 น. ผู้ต้องหาทั้งสามคนพร้อมทีมทนายความ นำโดยนายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดปัตตานี จะเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อให้การเพิ่มเติมจากที่เคยได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดไว้แล้ว โดยจะมีการระบุพยานเอกสารและพยานบุคคลสำคัญหลายปากเพื่อให้พนักงานสอบสวนสอบสวนตามกฎหมายก่อนการมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องในข้อกล่าวหาดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ต้องหาได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและพนักงานสอบสวนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคดีอย่างครบถ้วนในส่วนที่เป็นความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา
การทรมานถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่าร้ายแรงผิดกฎหมายภายในและระหว่างประเทศ ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (The Convention Against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment หรือ CAT) หรือ อนุสัญญษต่อต้านการทรมานฯ รัฐบาลจึงมีพันธกรณีที่จะต้องป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ โดยเมื่อมีการกล่าวหาว่ามีการทรมานฯ รัฐบาลต้องมีหน้าที่ในการตรวจสอบและสอบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ และชดเชยเยียวยาให้แก่เหยื่อจากการทรมานฯ ทุกกรณี นักสิทธิมนุษยชนทั้งสามดังกล่าวข้างต้น ในฐานะผู้ปฏิบัติงานขององค์การสิทธิมนุษยชนได้รับเรื่องราวร้องเรียนจากเหยื่อของการทรมาน เพื่อแสวงหาการเยียวยาและเสนอแนะให้รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องหามาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทรมานในจังหวัดชายแดนใต้ตลอดมาเป็นเวลาหลายปี และในปี 2556-2558 องค์การได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อเหยื่อการทรมานแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Voluntary Fund for Torture Victims) ให้บันทึกคำบอกเล่าจากเหยื่อจากการทรมานเพื่อการเยียวยาผู้เสียหายโดยตรงและได้มีการจัดทำเป็นรายงานสถานการณ์การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีฯ ในจังหวัดชายแดนใต้ ปี 2557 – 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนะรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องให้หาทางแก้ปัญหาการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีฯในจังหวัดชายแดนใต้ อันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยุติธรรมและสันติสุขอย่างยั่งยืนในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป ไ แต่การจัดทำและเผยแพร่รายงานดังกล่าวกลับถูก กอ.รมน. แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดี จึงถือว่าไม่เป็นธรรมกับทั้งสามคนอย่างยิ่ง
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม นายอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความ โทร 081-8987408
ข้อมูลเบื้องต้นของคดี (ข้อมูลจาก https://www.amnesty.or.th/news/press/831) เอกสารแนบ
ข้อมูลเบื้องต้นของคดี(ข้อมูลจาก https://www.amnesty.or.th/news/press/831)
นายสมชาย หอมลออ เป็นที่ปรึกษาอาวุโสและอดีตประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ส่วนนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยนางสาวพรเพ็ญได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการบริหารแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ด้วย โดยการฟ้องร้องครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่สองแล้วที่กองทัพบกได้กล่าวหามูลนิธิผสานวัฒนธรรมในคดีหมิ่นประมาทจากการจัดทำรายงานการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการกลุ่มด้วยใจ ให้การสนับสนุนด้านกฎหมายแก่ครอบครัวของผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของไทย
ทันทีหลังจากทั้งสามองค์กร คือ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปัตตานี กลุ่มด้วยใจ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยแพร่รายงาน “การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายในจังหวัดชายแดนใต้ระหว่างปี 2557-2558” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา โฆษกกองทัพบกก็กล่าวหาว่าพวกเขาปลอมแปลงข้อมูลรายงานการทรมานเพื่อขอทุนจากต่างชาติ และตั้งคำถามต่อความชอบธรรมของการสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ พร้อมกับขู่ว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทหากมีการเผยแพร่รายงานที่อ้างถึงกฎหมายระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 กอ.รมน. ภาค 4 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ได้แจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาและละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ต่อนักปก้องสิทธิมนุษยชนทั้งสามคน ในฐานะที่เป็นกองบรรณาธิการรายงานฉบับดังกล่าว โดยระบุเหตุผลที่ต้องแจ้งความว่าการกล่าวหาในรายงานเป็นการทำลายชื่อเสียงของกองทัพบก และที่ผ่านมานักกิจกรรมเหล่านี้ไม่ให้ความร่วมมือกับทางการเมื่อมีการขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีที่ถูกพูดถึงในรายงาน
ก่อนหน้านี้ นายสมชาย หอมลออ และนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เคยได้รับหมายเรียกให้เข้าพบพนักงานสอบสวนเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 หลังจากกองทัพบกได้แจ้งความกล่าวหาทั้งคู่ว่ามีการกระทำที่ทำลายชื่อเสียงของกองทัพบก จงใจบิดเบือนความจริง และเผยแพร่ข้อมูลเท็จต่อสาธารณะ เนื่องจากเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกเมื่อปลายเดือนเมษายน 2557 ซึ่งเรียกร้องให้ทางการสอบสวนทางอาญาเกี่ยวกับการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งนี้ พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเมื่อเดือนกันยายน 2558
นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยกำลังถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาททางอาญามากขึ้น จากการจัดกิจกรรมโดยสงบเพื่อปกป้องสิทธิและเรียกร้องให้มีการเยียวยาผู้เสียหาย นอกจากนี้ ทางการมักบอกปัดอย่างรวดเร็วเมื่อมีข้อร้องเรียนและรายงานว่ามีการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้น โดยอ้างว่าเป็นข้อมูลที่มุ่งโจมตีทางการให้เสียภาพลักษณ์หรือเพื่อประโยชน์คนบางคนเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น ทางการยังขู่จะดำเนินคดีหมิ่นประมาททางอาญาต่อบุคคลที่รายงานหรือกล่าวหาว่ามีการทรมาน หรือบุคคลที่วิพากษ์วิจารณ์ทางการ ทั้งที่เป็นการวิจารณ์จริงและที่ทางการมองว่าเป็นการวิจารณ์ด้วย
การใช้ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาเป็นการละเมิดพันธกรณีของไทยที่จะต้องเคารพและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกระตุ้นให้รัฐต่างๆ พิจารณายกเลิกโทษอาญาในคดีหมิ่นประมาทและเน้นย้ำว่าการจัดทำกฎหมายหมิ่นประมาทต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อประกันให้รัฐสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีของตนและไม่กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกเชิงปฏิบัติ