ครม.ส่วนหน้าติดตามการดำเนินโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
ยะลา และ นราธิวาส
ในวันพุธ (16 พ.ย. 2559) นี้ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาล หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมคณะฯ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดยะลา และนราธิวาส เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืน”
โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” มีมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2559 ที่อนุมัติให้มีการดำเนินงบประมาณระหว่างปี 2560–2563 โดยมีการคัดเลือกพื้นที่ใน 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุน รวมทั้ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป
ในส่วนจังหวัดยะลา ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลในการเดินหน้าดำเนินโครงการดังกล่าวในปี 2560 จำนวน 4 โครงการ รวมงบประมาณ 4,995 ล้านบาท โดย พล.อ. อุดมเดช ได้ร่วมประชุมกับนายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าราชจังหวัดยะลา นายดำรงค์ ดีสกุล นายอำเภอเบตง และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ที่ศาลากลางจังหวัดยะลา
“ผมนำคณะทำงานในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงพื้นที่เพื่อแนะนำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ได้รู้จัก และถือเป็นการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อเนื่องจากที่ได้ที่มีการประชุมกันมาแล้ว” พล.อ. อุดมเดช กล่าวต่อที่ประชุม
สำหรับการดำเนินการโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ที่มีการดำเนินการในพื้นที่ จังหวัดยะลา ซึ่งมีการคัดเลือกเป็นเมืองต้นแบบนั้น มีการดำเนินการเร่งด่วน 4 โครงการ ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างปรับปรุงทางหลวงเพิ่มช่องทางจราจร รวม 5 ช่วง ได้แก่ 1. ก่อสร้างปรับปรุงทางหลวงเพิ่มช่องจราจร (ยะลา–กรงปินัง) ระยะทาง 20 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 420,000,000 บาท 2. ก่อสร้างปรับปรุงทางหลวงเพิ่มช่องทางจราจร (ยะลา–บันนังสตา) ระยะทาง 20 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 620,000,000 บาท 3. ก่อสร้างปรับปรุงทางหลวงเพิ่มช่องทางจราจร (บันนังสตา–กาโสด) ระยะทาง 20 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 680,000,000 บาท 4. ก่อสร้างปรับปรุงทางหลวงเพิ่มทางจราจร (กาโสด–บ่อหิน) ระยะทาง 30 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 9000,000,000 บาท 5. ก่อสร้างทางหลวงเพิ่มช่องทางจราจร (บ่อหิน–เบตง) ระยะทาง 30 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 680,000,000 บาท
นอกจากนั้น ยังมีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้ภูเขาบนทางหลวงหมายเลข 410 (ยะลา–เบตง) เป็นเมืองหน้าด่านสู่ประชาคมอาเซียนที่มีเส้นทางเชื่อมต่อกับประเทศมาเลเซียไปสู่ท่าเรือน้ำลึกรัฐปีนัง ซึ่งมีระยะทาง 80 กิโลเมตร มีความจำเป็นที่ต้องเจาะอุโมงค์ เพื่อร่นระยะทางในการขนส่ง โดยใช้งบประมาณ 1,500,000,000 บาท โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ที่พักริมทางจากเบตงสู่ทะเลสาบ ป่าฮาลาบาลา จังหวัดยะลา มีด่านชายแดนเป็นประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน สามารถชมทัศนียภาพริมทางที่สวยงามเป็นเส้นทางที่เชื่อมไปยังท่าเรือปีนัง ถือเป็นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว คาดใช้งบประมาณ 100,000,000 บาท
และโครงการเร่งด่วนสุดท้าย โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ซึ่งช่วงปี 2557 นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวมาเลเซีย เริ่มชักชวนมาเที่ยวทะเลหมอกอัยเยอร์เวงจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาจราจร การจัดการขยะ และบริการอื่นๆ โดยเฉพาะในเดือนมกราคม–สิงหาคม มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากกว่า 150,000 ราย คิดเป็นรายได้เงินหมุนเวียนประมาณ 15–20 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณ 95,038,018 บาท
ในส่วนของจังหวัดนราธิวาสได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลในการเดินหน้าดำเนินโครงการดังกล่าวในปี 2560 จำนวน 3 โครงการ ด้วยงบประมาณ 532.70 ล้านบาท โดยนายสิทธิชัย ศักดา ผวจ.นราธิวาส และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้รายงานผลความคืบหน้าการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ณ ห้องทำงานผู้ว่าราชการ จังหวัดนราธิวาส
สำหรับการดำเนินการโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่มีการดำเนินการในพื้นที่อำเภอสุไหงโกลก เป็นเมืองต้นแบบนั้น มีการดำเนินการจัดโครงการปรับปรุงและยกระดับสถานีรถไฟสุไหงโกลก และส่งเสริมการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้า ด้วยงบประมาณ 185.20 ล้านบาท โดยแยกเป็นการก่อสร้างอาคารคลังสินค้า รวมถึงมีการดำเนินโครงการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงคมนาคมขนส่ง งบประมาณ 327.50 ล้านบาท แยกเป็นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำสุไหงโก-ลก ลันตาปันยัง ศึกษาและสำรวจออกแบบถนนเพื่อความปลอดภัยสูงจากอำเภอสุไหงโกลกถึงอำเภอหาดใหญ่ โดยใช้แนวเขตทางรถไฟ การก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง สุไหงโกลก และการพัฒนาท่าเทียบเรือชุมชน จำนวน 3 จุด และนอกจากนี้ มีการจัดโครงการจัดตั้งเมืองการค้าปลอดภาษี งบประมาณ 20 ล้านบาท
พล.อ.อุดมเดช กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า ในวันนี้ทางคณะฯ มาฟังปัญหาข้อขัดข้องจากส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่ามีปัญหาอยู่บ้าง ในกรณีความมั่นคงทางชายแดน ซึ่งจะนำสู่การปรับปรุงให้เกิดความสะดวกระหว่างชายแดนไทยและมาเลเซีย รวมทั้งความมั่นคง ทั้งนี้จะนำไปแก้ไขในเรื่องที่เกิดขึ้น
ด้านนายศรัณย์ วังสัตตบงกช ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีที่ทางรัฐบาล ได้เลือกพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และ อำเภอสุไหงโกลก เมืองชายแดนเป็นโครงการเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งได้มีการดำเนินโครงการไปแล้วหลายส่วน ในส่วนเอกชนพื้นที่ ยังเห็นว่า ปัญหาเรื่องการเข้าออกและส่งสินค้าระหว่างชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยเฉพาะทางไทย ยังมีปัญหาความไม่สะดวกและล่าช้า ตรวจสอบบุคคล ยานพาหนะ และสินค้า ควรที่จะได้รับการแก้ไขให้ดีกว่าปัจจุบัน
นายศรัณย์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าในอนาคต จะส่งผลดีทางเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้น และ แก้ปัญหาความยากจน ปัญหาปากท้องชาวบ้าน และปัญหาที่กลุ่มผู้ไม่หวังดี มักจะใช้เป็นเครื่องมืออ้างว่าคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นบุคคลชั้นสามนั้น จะได้หมดไป ความมั่นคงในพื้นที่จะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนในอนาคต