ขบวนการบีอาร์เอ็นปรับสภาองค์กรนำ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกล่าว
นราธิวาส
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย ได้เปิดเผยว่า สภาองค์กรนำของขบวนการบีอาร์เอ็น ได้แต่งตั้งบุคคลสำคัญสองราย คือ นายสะแปอิง บาซอ เป็นประธานสภาองค์กรนำ และนายดูนเลาะ แวมะนอ เป็นเลขาธิการสภาองค์กรนำ ตามลำดับ ตั้งแต่เมื่อปลายเดือนกันยายน ศกนี้ ซึ่งทั้งสองรายเป็นผู้ต้องหาฐานเป็นกบฏ ตามหมายจับของทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)
ในแถลงการณ์ภายในของสภาองค์กรนำ (หรือ Dewan Pimpinan Parti ในภาษามลายู) ของขบวนการบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi National) ลงวันที่ 28 กันยายน 2559 ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ได้ส่งให้แก่เบนาร์นิวส์ มีการระบุถึงวัตถุประสงค์ในการแต่งตั้งสมาชิกสภาองค์กรนำชุดใหม่ว่า “เป็นการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับปัจจุบัน และเพื่อความสำเร็จในการปฏิวัติของพรรค และสมาชิกแนวร่วมสภาปฏิวัติแห่งชาติปาตานี บีอาร์เอ็น-ซี ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์และการเมืองในปัจจุบัน”
สำหรับรายชื่อสมาชิกสภาองค์กรนำทั้งเจ็ดรายนั้น ประกอบด้วย 1. นายสะแปอิง บาซอ (Sapaeing Basoh or Safie Basoe) ประธานฯ 2. นายอับดุลเลาะห์ วันมะนอ หรือ ดูนเลาะ แวมะนอ (Abdullah Wan Mat Noor) เลขาธิการ 3. นายดิน วันจิ (Din Wan Cik) หัวหน้าฝ่ายทหาร 4. นายหมัดนาเซร์มาโซ (Muhd Arsad Wansor ) เหรัญญิก 5. นายอดุล มูนี (Abdul Munir) ฝ่ายการเมือง 6. นายฮาซาน คาเต็บ (Hasan Khatib) ฝ่ายการเมืองระหว่างประเทศ และ 7. นายบุสตามัน สาและ (Bustaman Salih) ที่ปรีกษาองค์การนำดีพีพี
ด้านพลเอกสำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพ กองทัพภาคที่สี่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า นายสะแปอิง บาซอ ที่เป็นอดีตครูใหญ่โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ในจังหวัดยะลา และมีลูกศิษย์จำนวนมากนั้น ถือเป็นบุคคลสำคัญใน “ระดับสัญลักษณ์” หรือ “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” ของฝ่ายแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีอิทธิพลทางด้านความคิด
ใน ปี พ.ศ. 2547 เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ออกหมายจับนายสะแปอิง บาซอ ในข้อหาเป็นกบฏ ก่อการร้าย อั้งยี่และซ่องโจร นายสะแปอิง บาซอ จึงได้หลบหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และยังไม่สามารถจับตัวได้
“จากคดีโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ สถานะหมายจับนายสะแปอิง บาซอ ปัจจุบัน ยังไม่สามารถจับตัวผู้ต้องหาได้” พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์ในวันนี้
ส่วนนายดูนเลาะ แวมะนอ หรือเป๊าะซูเลาะ เป็นอดีตครูใหญ่ โรงเรียนญิฮาดวิทยา ในอำเภอปะนาเระ ปัตตานี ถูกออกหมายจับใน ปี พ.ศ. 2547 และหลบหนีไปมาเลเซียเช่นกัน เพราะถูกกล่าวหาว่าใช้โรงเรียนเป็นสถานที่ฝึกกองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็นที่เกี่ยวข้องกับการปล้นปืนกองพันทหารพัฒนาที่ 4 ในตอนต้นปีเดียวกัน นายดูนเลาะ ได้ถูกปรับตำแหน่งจากรองประธานสภากองกำลังทหารเป็นเลขาธิการสภาองค์กรนำ
แถลงการณ์ภายในของสภาองค์กรนำของขบวนการบีอาร์เอ็น ในการแต่งตั้งสมาชิกสภาองค์กรนำชุดใหม่ ลงวันที่ 28 กันยายน 2559
ผลกระทบต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุข
รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ริเริ่มการเจรจากับฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนปี 2556 โดยฝ่ายขบวนการมีนายฮัซซัน บิน ตอยิบ เป็นหัวหน้าทีม แต่ได้สะดุดลงเมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์หมดอำนาจ
จากนั้น ได้มีการรื้อฟื้นการพูดคุยเพื่อสันติสุขในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และฝ่ายขบวนการได้จัดตั้งองค์กรร่มในการเจรจาชื่อว่า มาราปาตานี MARA Patani ขึ้นมา โดยมีนายอาวัง ยะบะ เป็นประธาน และนายสุกรี ฮารี เป็นหัวหน้าคณะเจรจา และนายอาหมัด ชูโว ได้ร่วมเจรจาเต็มคณะกับฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ในประเทศมาเลเซีย แต่ทั้งสามราย ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์กรนำในการปรับตำแหน่งครั้งนี้แต่อย่างใด และสถานการณ์ในพื้นที่ในช่วงหลังๆ มานี้ กลับมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
ล่าสุดรัฐบาลไทย ได้พยายามเจรจาให้มาราปาตานี ช่วยสร้าง “พี้นที่ปลอดภัย” เพื่อให้การพูดคุยเดินหน้าไปได้
นับตั้งแต่การเกิดความรุนแรงครั้งใหม่ เริ่มต้นจากการปล้นปืนจากค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ในปี 2547 จำนวนกว่าสี่ร้อยกระบอก ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ รายงานยอดผู้เสียชีวิตไว้ว่ามีจำนวนถึงกว่า 6,700 ราย ซึ่งมีทั้งไทยพุทธและไทยมุสลิม ในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน และเฉพาะในห้วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ เบนาร์นิวส์ได้รายงานจำนวนผู้เสียชีวิต จากการถูกยิงและระเบิด ในสถานการณ์ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดแดนใต้แล้ว 21 คน แม้จะมีความพยายามในการพูดคุยสันติภาพของทั้งสองฝ่าย โดยประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกก็ตาม
พลเอกสำเร็จ ให้ทรรศนะว่า การเปลี่ยนแปลงสมาชิกสภาองค์กรนำในครั้งนี้ อาจจะทำให้การพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยและฝ่ายมาราปาตานี ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกของขบวนการบีอาร์เอ็นจำนวนหนึ่ง สมาชิกขบวนการจีเอ็มไอพี ขบวนการบีเอ็นพีพี และกลุ่มย่อยของขบวนการพูโล อาจจะเป็นไปได้ยากขึ้น
“มาราปาตานี ไม่มีสมาชิกที่มีบทบาทเหมือนนายดูนเลาะ แวมะนอ มาราปาตานี เขาจะสั่งกองกำลังอาร์เคเคให้ยุติ จะให้เกิดเขตปลอดภัยไม่ได้” พล.อ.สำเร็จ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์
พล.อ.สำเร็จกล่าวว่า ขบวนการบีอาร์เอ็น เป็นองค์กรของชาวเชื้อสายมลายูที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประกอบด้วยปัตตานี ยะลา นาราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา กองกำลังอาร์เคเค จะรับคำสั่งจากหัวหน้ากลุ่ม โดยที่ส่วนใหญ่มักไม่รู้จักผู้สั่งการในระดับสูงกว่าหัวหน้าทีมของตน
สมาชิกอาร์เคเค ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่ง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า การที่นายสะแปอิง บาซอ รับตำแหน่งประธานฯ เป็นทางการ ถือว่าไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะในทางปฏิบัติหรือเชิงสัญลักษณ์ นายสะแปอิง เป็นประธานของบีอาร์เอ็นอยู่ก่อนแล้ว
“สะแปอิง เป็นว่าที่ประธานมานานแล้ว การที่เขาได้ขึ้นก็ไม่แปลกอะไร คือ นโยบายอื่นๆ ยังคงปกติ มีประกาศเป็นสนามรบในจังหวัดชายแดนใต้ ถือว่าเปลี่ยนผู้บริหาร แต่นโยบายหลักยังไม่เปลี่ยน เรานักรบยังต้องสู้กับอำนาจรัฐต่อไป” สมาชิกกองกำลังอาร์เคเคกล่าว
รายชื่อสมาชิกสภาองค์กรนำที่มีการแต่งตั้งชุดใหม่ที่ออกโดยขบวนการบีอาร์เอ็น ไม่ปรากฏรายชื่อของผู้นำขบวนการบีอาร์เอ็น ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนร่วมในองค์กรร่ม มารา ปาตานี MARA Patani ที่กำลังทำการเจรจาสันติสุขกับฝ่ายทางการไทย
ซึ่งเมื่อวันจันทร์นี้ เบนาร์นิวส์ได้ทำการติดต่อหนึ่งในเจ้าหน้าที่อาวุโสของมารา ปาตานี MARA Patani ที่อยู่ในประเทศมาเลเซียเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่อาวุโสรายนี้ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เขาไม่เคยทราบเรื่องการเปลี่ยนแปลงนี้มาก่อน
"นี่เป็นข่าวสำหรับผม" เจ้าหน้าที่อาวุโสรายนี้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์