Skip to main content

 

 

Deep South Bookazine : ธันวาคม 50, Volume 2
เรื่องพิเศษ : ซากีย์ พิทักษ์คุมพล
                 สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
 
 
        โลกาภิวัตน์เป็นปรากฏการณ์สำคัญในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา กลายเป็นหัวข้อถกเถียงในการศึกษาความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่เกิดขึ้น วาทกรรมโลกาภิวัตน์จึงแบ่งออกเป็น 2 กระแส คือ กระแสสนับสนุน ในฐานะปรากฏการณ์ที่ให้คุณประโยชน์กับสังคมการเมืองสมัยใหม่ โดยเฉพาะในแง่ของกระบวนการสร้างความเป็นสมัยใหม่ (Modernization) ให้กับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม การค้าเสรี สิทธิเสรีภาพ ตลอดถึงการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย (1) จึงอาจกล่าวได้ว่าโลกาภิวัตน์มีความสัมพันธ์กับคุณค่าของความเป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมอย่างแน่นแฟ้น
 
ขณะที่กระแสคัดค้านเห็นว่าโลกาภิวัตน์เป็นปรากฏการณ์ที่มีผลในแง่ลบต่อเศรษฐกิจ การเมือง และอัตลักษณ์ท้องถิ่นของแต่ละสังคม เพราะมุ่งสร้างความเหมือนให้เกิดขึ้นทั่วทุกพื้นที่โดยอาศัยวาทกรรมทุนนิยม ตลาดเสรี และประชาธิปไตย เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน ดังเช่นที่ Francis Fukuyama (1992) เชื่อว่า หลังยุคสงครามเย็น ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ (Ideology) จะสลายไป ขณะที่ระบบการเมืองแบบเสรีนิยมและตลาดเสรีของตะวันตกจะเข้ามาแทนที่ จากจุดนี้ประวัติศาสตร์ก็เดินทางมาถึงจุดจบ และประชาธิปไตยแบบตะวันตกจะกลายเป็นรูปแบบการปกครองสุดท้ายของมนุษยชาติ
 
อย่างไรก็ตาม หลังโศกนาฏกรรมเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อต้านโลกาภิวัตน์ แนวคิดของ Fukuyamaถูกท้าทายจากบรรดานักวิชาการที่ศึกษาโลกาภิวัตน์ เพราะในขณะที่โลกาภิวัตน์ทำหน้าที่ สร้างและเชื่อมต่อเครือข่ายความสัมพันธ์ของภูมิภาคที่เคยถูกตัดขาดจากการเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลกเข้าด้วยกันแล้ว แต่ก็ละเลยและข้ามผ่านภูมิภาคอื่นด้วยเช่นกัน ยิ่งในประเด็นทางเศรษฐกิจแล้ว แม้โลกาภิวัตน์จะสร้างความร่ำรวยให้กับคนกลุ่มหนึ่ง แต่ก็สร้างความยากจนให้กับคนอีกหลายกลุ่ม
 
ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่าง ผู้ที่มี กับผู้ที่ไม่มี(2)อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ โลกาภิวัตน์จึงเป็นการควบคุม และสร้างอำนาจนำ (Hegemony) ของผู้ที่เหนือกว่าต่อผู้ด้อยโอกาสในสังคม ท้ายที่สุดโลกาภิวัตน์ได้สร้างระบอบ จักรวรรดินิยมใหม่ขึ้นมา โดยอาศัยระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเป็นเครื่องมือบีบบังคับผู้ที่ด้อยกว่า (3)
 
ดังนั้น ความเป็นโลกาภิวัตน์จึงมีความอยุติธรรมเชิงโครงสร้างดำรงอยู่ในสังคมตลอดเวลา ทำให้ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจำนวนไม่น้อยลุกขึ้นมาท้าทาย การประท้วง การเดินขบวนเพื่อต่อต้านการประชุมเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรม เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งของกระบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งการเกิดขึ้นของกระบวนการก่อการร้ายสากลที่มีฐานคิดบนหลักความเชื่อทางศาสนาที่สุดโต่ง ก็ล้วนเป็นผลผลิตของโลกาภิวัตน์ด้วยเช่นกัน เพื่อต่อต้านกระบวนการสร้างความเหมือนให้เกิดขึ้นในทั่วทุกพื้นที่โดยอาศัยวัฒนธรรมตะวันตกเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน ซึ่งรุกล้ำเบียดขับและบางกรณีก็ได้ทำลายคุณค่าหรืออัตลักษณ์ท้องถิ่นในเวลาเดียวกัน เป็นเหตุให้ผู้คนซึ่งศรัทธากับคุณค่าเดิมของท้องถิ่นหมดความอดทน กลายเป็นแรงเหวี่ยงมุมกลับที่รุนแรง
 
ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารของความเป็นโลกาภิวัตน์ โลกปัจจุบันจึงเป็นโลกของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ตั้งแต่การเคลื่อนย้ายของผู้คน ทุน ข่าวสาร ความรู้ ตลอดจนวิธีคิด อุดมการณ์ทางการเมือง วิธีการมองโลกของผู้คน เปลี่ยนจากการรับรู้ในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ สู่การรับรู้ในระดับโลก การเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเช่นนี้ย่อมส่งผลให้บรรดาเส้นแบ่งต่างๆ ที่เคยมั่นคงชัดเจน เกิดความไม่มั่นคง พร้อมๆ กับการตั้งคำถามถึงบรรดาเส้นแบ่งต่างๆ ที่ดำรงอยู่ และนำไปสู่การลากเส้นแบ่งใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ดังตัวอย่างของเส้นแบ่งที่เคยชัดเจนในอดีต เช่น ความเป็นเมืองกับชนบท, รัฐกับประชาสังคม, ศาสนากับการเมือง, ในประเทศกับต่างประเทศ หรือล่าสุด ในยุคสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เส้นแบ่งระหว่างการรุกรานกับการป้องกันตนเองดูพร่ามัวเป็นอย่างยิ่ง (4)
 
ปรากฏการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ของไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระแสการเปลี่ยนแปลงภายใต้ความเป็นโลกาภิวัตน์ ที่เข้ามาสู่พื้นที่ภายใต้วาทกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ มิอาจปฏิเสธได้ว่าขณะที่ระบบเศรษฐกิจของชาติได้มีการพัฒนาให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น วัฒนธรรมตะวันตกก็เริ่มไหลบ่าเข้ามาในพื้นที่อย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ขณะที่รัฐไทยมิได้ตระหนักถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ความเป็นมลายู-อิสลามเป็นรากฐานที่มิอาจแบ่งแยกได้
 
ดังนั้น การปะทะกันระหว่างค่านิยมแบบตะวันตกที่มาพร้อมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ กับวัฒนธรรมในพื้นที่จึงมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะพื้นที่ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นกำลังถูกแทนที่ด้วยอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ารที่เยาวชนในพื้นที่รับเอาค่านิยมแบบตะวันตกเอามาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไม่รู้เท่าทัน ทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งไม่สามารถอดทนกับการรุกล้ำของวัฒนธรรมตะวันตกได้อีกต่อไป ความต้องการสร้างความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นจึงเกิดขึ้น ซึ่งสอดรับดำเนินไปในแนวทางเดียวกันกับกระบวนการสร้างความบริสุทธิ์ให้กับศาสนาอิสลามในตะวันออกกลาง เพราะในสายตาของมุสลิมจำนวนไม่น้อยมองว่า เหตุที่อิสลามได้รับความตกต่ำส่วนหนึ่งมาจากแผนการอันแยบยลของตะวันตก ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล ที่ต้องการสร้างความอ่อนแอระส่ำระส่ายให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชาติมุสลิม ขบวนการอัลกออิดะห์ภายใต้การนำของโอซามา บินลาเด็น เป็นกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจของการต่อต้านโลกาภิวัตน์ โดยขบวนการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้นบนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ของอิสลามด้วยการขจัดชาติตะวันตกและอิทธิพลของชาติตะวันตกออกไปจากพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวให้หมดสิ้น
 
พิจารณาเงื่อนไขการต่อสู้ทางอุดมการณ์แล้ว จะเห็นได้ว่าผลของกระบวนการโลกาภิวัตน์ มีความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้อย่างสำคัญ และเมื่อพิเคราะห์ในรายละเอียดของการสร้างแรงจูงใจเพื่อต่อสู้ของฝ่ายก่อการแล้ว จะเห็นได้ว่ากระบวนการสร้างความบริสุทธิ์ให้แก่ศาสนาอิสลามและมาตุภูมิปาตานี จึงกลายเป็นวาทกรรมหลักอันทรงพลังในการโน้มน้าวชักจูง ในแง่นี้ หากรัฐไม่มีความลึกซึ้งกับความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการโลกาภิวัตน์กับโครงสร้างทางอุดมการณ์อันทรงพลังของฝ่ายก่อการ การปฏิบัติงานของรัฐก็จะจำกัดและให้ความสำคัญอยู่เพียงการปราบปรามจับกุมตัวผู้กระทำความผิด
 
เทคโนโลยีการสื่อสารที่ก้าวหน้าทำให้เกิดการเรียนรู้ในการต่อสู้กับกระบวนการโลกาภิวัตน์ จึงไม่น่าประหลาดใจ หากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ณ ส่วนหนึ่งส่วนใดของโลก จะปรากฎขึ้นในแบบเดียวกัน ณ อีกมุมหนึ่งซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปอีกฟากโลก เมื่อพิจารณาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ พบว่ามีความแตกต่างกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความแตกต่างที่เกิดขึ้นในแง่ของขบวนการ อุดมการณ์ และเทคนิควิธีในการสร้างความรุนแรง
 
กล่าวคือ สิ่งที่ปรากฏชัดเจนในวันนี้ โครงสร้างของขบวนการในปัจจุบันมีลักษณะโครงสร้างที่ไม่ชัดเจนดังเช่นขบวนการที่เกิดขึ้นในอดีตที่ได้รับอิทธิพลมาจากรูปแบบการรบแบบจรยุทธ์ ซึ่งมีสายการบังคับบัญชาที่ชัดเจน มีตัวแทนที่สามารถเจรจาพูดคุยได้ แต่ปัจจุบัน ฝ่ายก่อการใช้รูปแบบการปฏิบัติการแบบหน่วยย่อย (Cell) โดยมีเพียงหัวหน้ากลุ่มเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด แต่ละหน่วยอาจมีความเชื่อมโยงกันบนฐานของอุดมการณ์และเป้าหมายของการปฏิบัติการเท่านั้น ไม่มีผู้นำสูงสุดที่แท้จริงของขบวนการ ซึ่งรูปธรรมของโครงสร้างของขบวนการก่อการร้ายในลักษณะเช่นนี้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในระดับโลกาภิวัตน์ ดังเช่นกรณีของกลุ่มอัลกออิดะห์ เป็นต้น
 
ในแง่ของการต่อสู้ทางอุดมการณ์แล้ว มีความพยายามทำให้ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้กลายเป็นปัญหาทางศาสนา ขยายภาพการย่ำยี กดขี่ และความไม่เป็นธรรมต่อมุสลิม สร้างวาทกรรมเพื่อทำให้ศาสนาและอัตลักษณ์ท้องถิ่นมีความบริสุทธิ์กลายเป็นกุศโลบายอันทรงพลัง นอกเหนือไปจากภารกิจในการปลดปล่อยปาตานีออกจากการยึดครองของรัฐไทย ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายๆ ภูมิภาคของโลก
 
เมื่อพิจารณาต่อไปถึงรูปแบบการก่อเหตุ เป็นที่น่าตกใจว่าสิ่งที่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งในภาคใต้ได้เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน กรณีการฆ่าตัดคอ หรือฆ่าแล้วเผาทำลายศพ ในอดีตไม่เคยปรากฏการใช้ความรุนแรงที่โหดร้ายเยี่ยงนี้ หากแต่ความรุนแรงในรูปแบบดังกล่าว ปรากฏขึ้นในช่วงของสงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานและอิรัก ภาพคลิปวิดีโอการฆ่าตัดคอตัวประกันชาวตะวันตก ถูกนำออกมาแพร่ภาพตามสื่อต่างๆ ของโลกแทบทุกวัน และด้วยเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดการเลียนแบบ (Copycat) จากกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงในภาคใต้ของไทย แม้จะเป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนาอิสลามก็ตาม
       
ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ต้นเหตุความไม่สงบที่เกิดในปัจจุบัน นอกเหนือจากปัจจัยภายในที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมแล้ว ความเปลี่ยนแปลงจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ก็เป็นส่วนสำคัญด้วยเช่นกัน ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหา ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องหาทางลดเงื่อนไขทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกไปพร้อมกัน เพื่อให้สังคมกลับคืนสู่สภาพปรกติในอนาคตอันใกล้
 
 
 
(1) พิจารณางานของนักวิชาการคนสำคัญที่สนับสนุนปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ในฐานะที่เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมการเมือง เช่น Francis Fukuyama (1992), The end of History, New York. หรืองานของ Freidman, Thomas (1999), The Lexus and the Olive Tree. New York: Farrar, Staus Giroux
 
(2) ผู้เขียนได้รับแนวคิดในการนิยาม ‘ผู้ที่มี’ กับ ‘ผู้ที่ไม่มี’ ในแง่นี้จากงานของ Kellner Douglas, Globalization, Terrorism, and Democracy: 9/11 and its Aftermath
 
(3) พิจารณางานของนักวิชาในกลุ่มที่คัดค้านโลกาภิวัตน์อย่างเอาจริงเอาจัง เช่น Mander and Goldsmith 1996; Eisebtein 1998; Robins and Webster 1999; และ Hard and Negri 2000.
 
(4) การสลายเส้นแบ่งเดิมและสร้างเส้นแบ่งใหม่ (Deterritorialization/ Reterritorialization) เป็นแนวคิดที่พยายามแสดงให้เห็นถึงผลของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อกรอบคิดเดิมภายใต้โลกาภิวัตน์ โปรดพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน Deleuze and Guattari 1987/1988; Appaduarai 1996; และไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2550.