ความรู้ อิสลาม กรีก-สากล ว่าด้วยวิชา ตรรกศาสตร์ /Logic/Manteq (ในภาษาอาหรับ)
โชคชัย วงษ์ตานี
อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่
ขอบคุณภาพจาก wikipedia
โลกวิชาการสากลและโลกวิชาการไทยเห็นตรงกันและต่างกันในเชิงรายละเอียดว่าวิชาตรรกศาสตร์ (หรือตรรกวิทยา) (Logic) คือวิชาที่ศึกษา เพื่อแยกการให้เหตุผลที่สมเหตุสมผล ออกจากการให้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล
นักปราชญ์ซึ่งโลกวิชาการทั่วไปยอมรับว่าเป็นบิดาของวิชาตรรกศาสตร์ คือ อริสโตเติ้ล
(Aristotle, 384 – 322 ก่อนคริสตศักราช)
โดยอริสโตเติ้ล เชื่อว่ามนุษย์เท่านั้นที่สามารถคิดเกี่ยวกับเหตุและผลได้ และได้เขียนตำราชื่อ Organum เกี่ยวกับการให้เหตุผลที่ถูกต้อง หลักการบางส่วนของหนังสือเล่มนี้กลายมาเป็นหลักการของตรรกศาสตร์เชิงอนุมาน (Deductive Logic)
และการใช้ตรรกศาสตร์เชิงอนุมาน (Deductive Logic) ก็มีอยู่ในโองการ/ อายะในคัมภีร์อัลกุรอ่านเช่นเดียวกัน อาทิ
Have you not considered how Allah presents an example, [making] a good word like a good tree, whose root is firmly fixed and its branches [high] in the sky/heaven?
24. เจ้ามิเห็นดอกหรือว่า อัลลอฮทรงยกอุทาหรณ์ไว้ว่า อุปมาคำพูดที่ดีดั่งต้นไม้ที่ดี รากของมันฝังแน่นลึกมั่นคงและกิ่งก้านของมันชูขึ้นไปในท้องฟ้า(สวรรค์)
t produces its fruit all the time, by permission of its Lord. And Allah presents examples for the people that perhaps they will be reminded.
25. ผลของมันจะออกมาทุกกาลเวลา โดยอนุมัติของพระเจ้าของมัน และอัลลอฮทรงยกอุทาหรณ์แก่ปวงมนุษย์เพื่อพวกเขาจะได้รำลึก
And the example of a bad word is like a bad tree, uprooted from the surface of the earth, not having any stability.
26. และอุปมาคำพูดที่เลว ดั่งต้นไม้ที่อับเฉาถูกถอนรากออกจากพื้นดิน มันไม่มีความมั่นคงเลย
(อัลกุรอ่าน ซูเราะฮฺ อัล-อิบรอฮีม (Ibrahem 14:24-26)
แม้กระทั้งงานศึกษาของเหล่าปราชญ์มุสลิมในยุคกลาง ทั้ง
Al-Kindi, Al-Farabi, Avicenna, Al-Ghazali, Averroes และท่านอื่นล้วนแล้วแต่เป็น นักตรรกศาสตร์มุสลิม( Muslim logicians ) ที่นับได้ว่าเป็น Aristotelian นักตรรกศาสตร์ที่ได้รับอิทธิพล นิยมความรู้จากสำนักคิดและงานเขียนของอริสโตเติ้ลเช่นกัน
หากแต่ข้อถกเถียงสำคัญเรื่องต้นกำเนิดและบิดาของสาขาวิชานี้ในมุมมองของอิสลามและมุสลิมข้อถกเถียงข้างต้น ถูกมองต่างโดยเชค/ผู้รู้ บางท่าน ผู้สอนวิชาอากีดะฮ(หลักศรัทธาในอิสลาม) จากมหาวิทยาลัยอัล อัซฮาร์ แห่งอียิปต์ ท่านบอกแก่เหล่าศิษย์ว่า
วิชาตรรกศาสตร์/มันเต็ก เป็นศาสตร์ที่ให้กำเนิดโดย "ซาตาน" ผู้เป็นบิดาแห่งสาขาวิชา ที่เป็นเจ้าแรก
ที่สร้างตรรกะชุดแรกแก่มนุษยชาติ ดังโองการที่ว่า
[ Allah ] said, "What prevented you from prostrating when I commanded you?" [Satan] said, "I am better than him. You created me from fire and created him from clay."
“พระองค์(พระเจ้า)ตรัสว่า อะไรที่ขัดขวางเจ้า (ซาตาน) มิให้เจ้าสุยูด (ก้มกราบ)(ต่ออาดัม มน.คนแรก) ขณะที่ข้าได้ใช้เจ้า มันกล่าวว่า "ข้าพระองค์ดีกว่าเขา โดยที่พระองค์ทรงบังเกิดข้าพระองค์(ซาตาน)จากไฟ และได้บังเกิดเขา(อาดัม) จากดิน” (อัลกุรอ่าน ซูเราะฮฺ อัล-อะอฺรอฟ (Al-Araf) 7:12)
ตรรกศาสตร์จึงเป็นวิชาของซาตานผู้ดื้อดึง ช่างต่อรอง ไม่เชื่อฟังและขัดขืน ซึ่งเป็นอุปนิสัยที่ มนุษย์ ส่วนใหญ่ชมชอบ และใช้เป็นเครื่องมือการยกมากล่าวอ้างและถกเถียงกัน
ปัญญาชนทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมอ่านเห็นอย่างไร
ขยายความเพิ่มเติม
ตรรกศาสตร์ ในโลกวิชาการกรีก -สากล
ตรรกศาสตร์ (อังกฤษ: logic - มีรากศัพท์จากภาษากรีกคือ λόγος, logos) เป็นการศึกษาเชิงปรัชญาว่าด้วยการให้เหตุผล โดยมักจะเป็นส่วนสำคัญของวิชาปรัชญา คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ รวมถึงภาษาศาสตร์
ตรรกศาสตร์เป็นการตรวจสอบข้อโต้แย้งที่สมเหตุสมผล (valid argument) หรือการให้เหตุผลแบบผิดๆ (fallacies) ตรรกศาสตร์ เป็นการศึกษาที่มีมานานโดยมนุษยชาติที่เจริญแล้ว เช่น กรีก จีน หรืออินเดีย และถูกยกขึ้นเป็นสาขาวิชาหนึ่งโดย อริสโตเติล
ตรรกะศาสตร์ ในโลกวิชาการไทย
มีคำอธิบายเช่นนี้
ความหมายของศัพท์ตรรกศาสตร์
คำว่า “ตรรกศาสตร์” ได้มาจากศัพท์ภาษาสันสฤตสองศัพท์ คือ ตรฺรก และศาสตฺร ตรรก หมายถึง การตรึกตรอง ความคิด ความนึกคิด และคำว่า ศาสตฺร หมายถึง วิชา ตำรา รวมกันเข้าเป็น“ตรรกศาสตร์” หมายถึง วิชาว่าด้วยความนึกคิดอย่างเป็นระบบ ปราชญ์ทั่วไปจึงมีความเห็นร่วมกันว่า ตรรกศาสตร์ คือ วิชาว่าด้วย การใช้กฎเกณฑ์ การใช้เหตุผล
วิชาตรรกศาสตร์นั้นมีนักปราชญ์ทางตรรกศาสตร์ได้นิยามความหมายไว้มากมาย นักปราชญ์เหล่านั้น คือ
1.พจนานุกรมศัพท์ปรัชญาอังกฤษ –ไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน นิยามความหมายว่า “ตรรกศาสตร์ คือ ปรัชญาสาขาที่ว่าด้วยการวิเคราะห์และตัดสินความสมเหตุสมผลในการอ้างเหตุผล”
2.กีรติ บุญเจือ นิยามความหมายว่า“ตรรกวิทยา คือ วิชาที่ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้เหตุผล”
วัลลอฮู อะฮลัม /Wallohu A'lam
Ibrahem bin Ahmad Al Fatorni
พุธที่ 23 Safar 1438
กำปงบารู เคแอล
หลากหลายข้อคิดเห็นที่น่าสนใจ
Abdulevvel Siddiq : นักปรัชญาอิสลามอธิบายข้อโต้แย้งเกี่ยวกับคำว่า
أول من قاس الشيطان
ที่ว่าคนแรกที่ใช้ตรรกะคือชัยฏอน ว่า ชัยฏอนใช้ตรรกะที่ผิด เพราะการบอกว่าไฟประเสริฐกว่าดิน คือการใช้ตรรกะที่ผิด จึงจำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อตรรกะที่ถูกต้อง จะได้ไม่ผิดเหมือนชัยฏอน
Boonsong Chaisingkananont : Deductive Logic ใช้ว่าตรรกวิทยานิรนัยครับ เกี่ยวข้องกับการศึกษาชุดการใช้เหตุผลที่ส่วนข้อสรุปเป็นผลบังคับจากชุดข้ออ้างหรือส่วนเหตุผลให้ต้องสรุปเป็นอย่างไรอย่างหนึ่งอย่างชัดเจนไม่มีทางหลีกเลี่ยง ชุดการอ้างเหตุผลที่มีลักษณะเช่นนี้จะเรียกว่ามีความสมเหตุสมผล (valid)
แต่วิชาตรรกวิทยา(logic) จะกว้างกว่าเพราะจะครอบคลุมถึงชุดการใช้เหตุผลรูปแบบอื่นๆ ด้วย เช่น ตรรกวิทยาอุปนัย (inductive logic) ตรรกวิทยากึ่งอุปนัยรูปแบบต่างๆ เช่นการอ้างเหตุผลโดยการเทียบเคียงคุณสมบัติ (analogy) วิธีการทางวิทยาศาสตร์แบบต่างๆ การใช้เหตุผลแบบไม่เป็นระนาบเดี่ยว (nonmonotonic reasoning) เป็นต้น รวมถึงการใช้เหตุผลผิดประเภทต่างๆ(fallacies )
ในส่วนตรรกวิทยานิรนัยก็ยังศึกษาถึงตรรกวิทยานิรนัยรูปแบบต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นในสมัยหลัง ที่ไปไกลกว่าของอริสโตเติล และแก้ปัญหาที่ตรรกแบบอริสโตเติลแก้ไม่ได้ เช่น truth-functional logic, predicate logic
Miqdad Wongsena-aree : ประเด็นน่าสนใจดีครับ แต่เท่าที่อ่านดูอยากเสนอข้อสังเกตเพิ่มเติมเล็กน้อยเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน
ประการแรก การกล่าวว่าในกุรอานมีการอ้างเหตุผลแบบ deductive หรือนิรนัยอยู่ ตรงนี้อาจฟังดูคลุมเครือเล็กน้อยครับ เพราะจริง ๆ ในคำพูดของมนุษย์ทั่วไป (โดยที่ยังไม่ต้องไปคิดถึงคำกล่าวของพระเจ้าหรือศาสดา) ก็มีการอ้างเหตุผลในแบบนิรนัยอยู่แล้ว เพียงแต่จะเป็นการอ้างเหตุผลที่ถูกต้องตามรูปแบบที่นักตรรกวิทยาวางไว้หรือเปล่าก็อีกเรื่องนึง (ด้วยเหตุนี้เองครับ มนุษย์จึงต้องเรียนตรรกวิทยาเพื่อที่จะได้รู้จักหลักเกณฑ์ในการอ้างเหตุผลที่ถูกต้อง ทั้งในแบบ deduction และ induction) ส่วนในกุรอานการอ้างเหตุผลมีอยู่มากครับ แต่ไม่ได้เป็นการอ้างเหตุผลที่มีโครงสร้างชัดเจนเหมือนตรรกวิทยา เช่นตัวอย่างหนึ่งที่มักจะยกกันมากล่าว คือ มนุษย์ทุกคนต้องตาย โสกราตีสเป็นมนุษย์ ดังนั้นโสกราตีสต้องตาย แต่ในกุรอานการอ้างเหตุผลไม่มีรูปแบบโครงสร้างที่ตายตัวเหมือนตรรกวิทยา แต่เป็นการกล่าวในเชิงพรรณนาที่ใช้อุปลักษณ์โวหาร (metaphor) ให้ผู้อ่านได้คิดตามอย่างเป็นระบบที่เรียบง่ายและธรรมดาที่สุด (ซึ่งผมคิดว่า religious text ของศาสนาส่วนใหญ่น่าจะเป็นแบบนี้หมด) เช่นโองการหนึ่งในกุรอาน
"โอ้มวลมนุษย์ สูเจ้าเป็นเพียงผู้ขัดสนต่อพระเจ้า และพระเจ้านั้นทรงร่ำรวย... หากพระองค์ทรงประสงค์ก็จะทำให้สูเจ้าสูญสิ้นและนำมาซึ่งสิ่งสร้างใหม่"
โองการนี้กุรอานไม่ได้ใช้รูปแบบการอ้างเหตุผลที่สลับซับซ้อนอะไร อีกทั้งยังใช้ภาษาง่าย ๆ ในการอธิบาย แต่นักปรัชญาก็นำโองการนี้มาอธิบายจนเกิดเป็นข้อพิสูจน์ว่าด้วยความเป็นเงื่อนไขและความจำเป็น (burhan al-imkan wa al-wujub) ที่ใช้พิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้ากันมาเป็นร้อยๆ ปีทั้งในหมู่นักปรัชญามุสลิมและคริสต์ หรืออย่างอีกโองการหนึ่งก็ "หรือพวกเขาถูกสร้างจากสิ่งที่มิเป็นสิ่งใด หรือพวกเขาเป็นผู้สร้างตัวของพวกเขาขึ้นมาเอง" ซึ่งก็มีการนำมาอธิบายในเชิงเหตุภาพ (causality) อย่างสลับซับซ้อนเพื่อพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าในฐานะผู้สร้าง
ส่วนประเด็นที่สอง เรื่องท่าทีของนักวิชาการอิสลามที่มีต่อตรรกวิทยา อันนี้น่าสนใจมากครับ เพราะในขณะที่นักปรัชญามุสลิมกลุ่มหนึ่งสร้างคุณูปการต่อการศึกษาตรรกวิทยา (โดยการนำงานของอริสโตเติลมาแปลและอธิบาย ทำให้นักปรัชญาตะวันตกในยุคกลางได้รู้จักอริสโตเติลผ่านงานแปลอาหรับที่นำมาแปลเป็นภาษาลาตินอีกทอดหนึ่ง) อีกทั้งยังนำตรรกวิทยามาอธิบายแนวคิดทางศาสนาให้เป็นแนวคิดที่มีเหตุมีผล แต่ในขณะเดียวกันนักเทววิทยากลุ่มหนึ่ง (mutakallimun) กลับถือว่าตรรกวิทยาเป็นศัตรูของศาสนา อย่างวาทะของอิบนุตัยมียะฮ์ที่ประกาศว่า ‘ใครที่ใช้ตรรกะก็เท่ากับเป็นพวกนอกรีต’ (man tamantaqa faqad tazandaqa) ตรงนี้ผมคิดว่าสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ตรรกวิทยาเป็นวิชาของชาวกรีกซึ่งเป็นพวกนอกรีต จึงเกิดกระแสต่อต้าน แต่อีกส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจากความเข้าใจผิดในความหมายของคำว่า "กิยาส" หรือ การเปรียบเทียบที่อิมาม ญะอ์ฟัร ศอดิก กล่าวกับอิมามอบูหะนีฟะฮ์ ว่า "ศาสนาของพระเจ้าไม่อาจเปรียบเทียบได้ด้วยปัญญา และผู้แรกที่ทำการเปรียบเทียบคืออิบลีส (พญามาร)" โดยที่คำว่ากิยาสที่อิมามศอดิกใช้มันดันไปตรงกับคำว่า ‘กิยาส’ ที่ใช้แปล syllogismos ในภาษากรีกซึ่งเป็นรูปแบบการอ้างเหตุผลที่เป็นดาวเด่นของอริสโตเติล ทำให้นักเทววิทยาบางส่วนเกิดความรู้สึกในแง่ลบและปฏิเสธตรรกวิทยาในที่สุด
ทว่าที่จริงแล้ว กิยาสที่อิมามศอดิกพูดตำหนิไม่ใช่ syllogismos แต่เป็น analogia หรือที่ภาษาอาหรับใช้คำว่า ‘ตัมษีล’ ต่างหาก อนึ่ง คำวิจารณ์ที่อิมามศอดิกมีต่ออิมามอบูหะนีฟะฮ์อาจไม่ใช่คำวิจารณ์ต่อตัวของการอ้างเหตุผลแบบ analogia โดยตรง แต่เป็นการวิจารณ์การอ้างเหตุผลที่ไม่สมบูรณ์ของอิมามอบูหะนีฟะฮ์มากกว่า อีกอย่างคำว่า ‘ศาสนาของพระเจ้า’ ในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึงทุกเรื่องอันรวมไปถึงเรื่องของความศรัทธาที่กุรอานเน้นนักเน้นหนาว่าต้องใช้ปัญญา แต่หมายความเฉพาะในเรื่องของบทบัญญัติทางศาสนา ทั้งนี้โดยจะเห็นได้จากเนื้อหาของการสนทนาที่พูดถึงเรื่องละหมาด ศีลอด .... ที่ล้วนเป็นเรื่องของบทบัญญัติ
สรุปแล้วนักเทววิทยากลุ่มที่ปฏิเสธตรรกวิทยาก็ยังคงขาดเหตุผลที่น่าเชื่อถือในการต่อต้านครับ ส่วนการเล่นตรรกะของอิบลีส (ฉันดีกว่าอาดัม พระเจ้าสร้างอาดัมจากดิน แต่สร้างอิบลีสจากไฟ) ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าตรรกะวิบัติ (fallacy) ที่ป็นข้อบกพร่องของการอ้างเหตุผลครับ