Skip to main content

 

แถลงการณ์ สามนักสิทธิให้การเพิ่มเติม

 

ในวันนี้ 27 พฤศจิกายน 2558 เวลา 10.45 น. ทนายความอับดุลกอฮาร์ อาแวปูเตะ ทนายความสัญญา เอียดจงดี และทนายความ จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว พร้อมผู้ต้องหา นายสมชาย หอมลออ นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิ และนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ คดีที่ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความร้องทุกข์ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เนื่องจากการเปิดเผยรายงานการทรมานในจังหวัดชายแดนใต้ โดยในวันนี้ทนายความและผู้ต้องหาได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมปฏิเสธข้อกล่าวทั้งสิ้น โดยให้การว่า รายงานเกี่ยวกับการทรมานได้ถูกจัดทำขึ้น โดยเจตนาสุจริต เนื่องจากการทรมาน การปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำอย่างแพร่หลาย แม้ในปัจจุบันก็ไม่มีท่าทีว่าจะลดลง เป็นการบั่นทอนความเข้มแข็งของกระบวนการยุติธรรม ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐ ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และในการสร้างสันติสุข โดยต้องการให้หน่วยงานของรัฐแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก

ทนายความและผู้ต้องหาได้ยื่นคำให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวน พตท. วิญญู เทียมราช เป็นเอกสารจำนวน 10 หน้า และแผ่นบันทึกภาพและเสียงจำนวน 1 แผ่น พร้อมทั้งระบุพยานเอกสารกว่า 30 รายการและรายชื่อพยานบุคคลจำนวนกว่า 20 คน ทั้งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศและอาสาสมัครที่สัมภาษณ์ผู้ตกเป็นเหยื่อของการทรมาน และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำเป็นพยานตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 131 ที่ระบุว่า พนักงานสอบสวนจะดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา

พนักงานสอบสวนจะเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาดำเนินการตามคำขอ โดยจะประสานขอความช่วยเหลือให้ฝ่ายผู้ต้องหาติดต่อพยานและอนุญาตให้มีการสอบพยานเพิ่มเติมระบุว่าจะสั่งให้มีการสอบเพิ่มเติมพยานเอกสารและบุคคลตามที่ทนายและผู้ต้องหาร้องขอ ก่อนสรุปสำนวนทำความเห็นส่งให้พนักงานอัยการต่อไป

ในการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวจากหลายสำนัก นายสมชาย หอมลออกล่าวว่า “แม้พวกเราทั้งสามคน ต้องการให้ทางราชการยุติการดำเนินคดีนี้ แต่สิ่งที่เราต้องการอย่างยิ่งคือ การที่รัฐ โดยเฉพาะ กอ.รมน. ภาค 4 นำข้อเสนอแนะของเราในรายงานไปปฏิบัติ เพื่อให้มีผลในการลดการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้”